วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เขตอำนาจสอบสวนในคดียาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13379/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) (5) วรรคหนึ่ง, (ก) วรรคสาม, 78 (1), 86, 226
               การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ท. ได้ขณะลักลอบขนยาเสพติดให้โทษจากจังหวัดมุกดาหารเพื่อจะไปส่งมอบให้ จ. และจำเลยผู้ร่วมขบวนการซึ่งกำลังรอรับยาเสพติดให้โทษอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่า ท. จ. และจำเลยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดด้วยกันอยู่แล้ว
               การที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัว ท. เดินทางต่อไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อนำยาเสพติดให้โทษไปส่งมอบให้ จ. และจำเลย จึงเป็นวิธีการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิด มิใช่เป็นการล่อให้บุคคลที่มิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดอยู่ก่อนให้หลงกระทำความผิด การดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อขยายผลจับกุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย
               เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในขณะกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้าโดยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองจึงไม่ต้องมีหมายจับ ส่วนการที่ผู้จับกุมไม่ใส่กุญแจมือจำเลยย่อมเป็นดุลพินิจในการใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้หลบหนี
               ความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมีผู้ร่วมกระทำความผิดสองคน ซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในหลายท้องที่จากที่ผู้ต้องหาคนหนึ่งนำยาเสพติดให้โทษติดตัวในขณะเดินทางผ่านอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อต่อมายังกรุงเทพมหานคร
               เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคนแรกได้ก่อนในท้องที่ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วซึ่งเป็นท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้ก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมควบคุมตัวจำเลยและ ท. พร้อมด้วยยาเสพติดให้โทษของกลางส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วทำการสอบสวน จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4337/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 19, 24(1), 120
              เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขน จับกุม ว. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งเป็นของกลาง จึงได้วางแผนให้ ว. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลย และ ป. อีก จนจับกุมจำเลย และ ป. ได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ซึ่งเป็นท้องที่ที่ ว. โทรศัพท์ล่อซื้อ และสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยและ ป. พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน
              ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1756/2550
ป.อ. มาตรา 32
ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19, 120
              เจ้าพนักงานตำรวจ สน.บางบอน จับกุม ศ. และ ช. ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ในท้องที่ สน.บางบอน จากการขยายผลทราบว่าบุคคลทั้งสองซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 ที่บ้านซึ่งอยู่ในท้องที่ สน.แสมดำ
              เจ้าพนักงานตำรวจจึงขอหมายค้นต่อศาลชั้นต้น แล้วจึงไปค้นบ้านจำเลยที่ 2 เมื่อเข้าไปภายในบ้านพบจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันกับบุคคลอื่นอีก 7 คน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 500 เม็ด และจับพวกจำเลยเจ็ดคน พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองคนละ 10 เม็ด บุคคลทั้งเจ็ดรับว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และนำส่งพนักงานสอบสวน สน.บางบอน ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
              การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องจึงเกิดในท้องที่ สน.แสมดำ ทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับ ศ. และ ช. ดังนั้น แม้ ศ. และ ช. ถูกจับในท้องที่ สน.บางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องก็หาใช่ความผิดที่เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) ไม่ แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องคดีนี้ปรากฏชัดแจ้งว่าเกิดในท้องที่ สน.แสมดำ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน สน.แสมดำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) ที่จะเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ได้ มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน สน.บางบอน ที่สอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
            การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ถอนฎีกาไปแล้วได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
            ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ทั้งเป็นทรัพย์ที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ จึงต้องริบเมทแอมเฟตามีนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2529/2549
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6), 18 วรรคหนึ่ง, 120, 128, 195 วรรคสอง, 225
             เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทอง ตั้งจุดตรวจสกัดอยู่ที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ได้จับกุม ส. พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด  ส.ให้การซัดทอดว่า ซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวมาจากจำเลยที่อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อนำไปจำหน่ายที่จังหวัดนครสวรรค์ จึงออกหมายจับจำเลย และดำเนินคดีแก่ ส.เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3380/2545 ของศาลชั้นต้น ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามจับกุมจำเลยได้ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองสอบสวนและแจ้งข้อหาแก่จำเลย
             การสอบสวนที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบมาตรา 18 เมื่อเหตุที่อ้างว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่ ส. เกิดที่บ้านในอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับ ส. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายภายหลังจากนั้นอีกในประการใด ท้องที่ซึ่งจำเลยถูกจับก็อยู่ภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกำแพงเพชร และไม่ปรากฏเหตุอื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้
               การสอบสวนจำเลยโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2542
ป.อ. มาตรา 83
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (16), 17, 18, 19, 20, 21, 78, 81, 92
               แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (16) จ่าสิบตำรวจ ส. มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้และยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 อำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาดังกล่าวนี้ ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดจำกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะในเขตท้องที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นประจำการอยู่เท่านั้น เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น จ่าสิบตำรวจ ส. ย่อมมีอำนาจที่จะไปจับกุมจำเลยที่ 1 ซึ่งมีที่อยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกรได้ เว้นแต่ลักษณะการจับที่ไม่มีหมายจับเป็นไปโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78, 81 และ 92
              จำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดฐานขายเมทแอมเฟตามีน การที่จำเลยที่ 2 ขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จ่าสิบตำรวจ ส. เป็นความผิดซึ่งหน้า เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมแล้ว ได้นำจ่าสิบตำรวจ ส. ไปจับกุมจำเลยที่ 1 เป็นการต่อเนื่องกันทันที ถือได้ว่าจ่าสิบตำรวจ ส. จับกุมจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดซึ่งหน้าด้วยเช่นกัน เพราะหากล่าช้า จำเลยที่ 1 ก็อาจหลบหนีไปได้ และการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 ยังพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 95 เม็ด ดังนั้น แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เข้าไปจับจำเลยที่ 1 ในห้องพักของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่รโหฐานก็ตาม จ่าสิบตำรวจ ส. ก็ย่อมมีอำนาจที่จะจับกุมจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81 (1) , 92 (2)
              การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน และสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยที่ 2 ผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสาม (ก) พนักงานอัยการโจทก์ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1