วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๗๙๓/๒๕๕๕
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
               โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน ๑๖ เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยมิได้บรรยายว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วย
               จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีน ๑๖ เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครอง ๑๖ หน่วยการใช้ หรือมีจำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป
               กรณีไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒)
               ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๒๒๗/๒๕๕๓
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ , ๖๖ วรรคหนึ่ง
              จำเลยมีแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน ๑๕ เม็ด (หน่วยการใช้) คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๓๓๙ กรัม (ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม)
              แม้จำนวนหน่วยการใช้จะมีปริมาณตามที่กำหนดในมาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒) ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ก็มิได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีเมทแอมเฟตามีนจำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปไว้
              เมื่อคำนวนเป็นสารบริสุทธิ์แล้วมีปริมาณไม่ถึงตามที่กำหนด จึงต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปีหรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย
              ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๐๓/๒๕๔๒
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง
              โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพ และคดีนี้มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง แต่จำเลยย่อมฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง บัญญัติว่า "การผลิต นำเข้าส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ คำนวณ เป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ให้ถือว่า ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย" จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำนวน ๕๐ เม็ด น้ำหนักรวม ๔.๑๒ กรัม จำเลยจึงน่าจะมีความผิดเพียงฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้นได้
              ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง ในปริมาณซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ ๒๐ กรัม ขึ้นไป เป็นปริมาณที่มาก จนกระทั่งกฎหมายเห็นว่า การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองในปริมาณดังกล่าวผู้กระทำน่าจะมีเจตนามิใช่เพื่อการใช้อย่างปกติทั่วไปคือเพื่อเสพ แต่น่าจะมีเจตนาพิเศษคือเพื่อจำหน่าย กฎหมายจึงสันนิษฐานโดยให้ถือว่าการกระทำในปริมาณดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อจำหน่าย
              แม้จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพียง ๔.๑๒ กรัม ทั้งมิได้คำนวณเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์ จะไม่เข้าข้อสันนิษฐานของบทกฎหมายที่ว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นเพราะจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนมากถึง ๕๐ เม็ด และมีพฤติการณ์ว่าน่าจะมีไว้เพื่อจำหน่าย
             ในชั้นสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่ามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพ และในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยก็ให้การรับสารภาพเช่นเดิมอีก เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว เชื่อว่าจำเลยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง จึงได้ลงโทษตามพยานหลักฐานที่พิจารณาได้ความเช่นนี้ ศาลล่างทั้งสองหาได้ลงโทษโดยนำข้อสันนิษฐานของกฎหมายมาปรับใช้ไม่ ดังนี้ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองจึงชอบแล้ว



(ข้อกฎหมาย.- พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒)
             มาตรา ๑๕  ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
            การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
            การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
            (๑) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
            (๒) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
            (๓) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ นอกจาก (๑) และ (๒) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป
(หมายเหตุ.- มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕ และ โดยทั่วไป ยาบ้า ๑ เม็ด มีน้ำหนักประมาณ ๐.๐๙ กรัม หรือเก้าร้อยมิลลิกรัม มีสารบริสุทธิ์ ๐.๐๓ - ๐.๐๕ กรัม)

            มาตรา ๖๖   ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
            ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท
            ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่ง มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต
(หมายเหตุ.- มาตรา ๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕)

ข้อพิจารณา.-  ในการสอบสวนเบื้องต้น พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้าหากรายงานผลการตรวจพิสูจน์ของกลางปรากฏว่า มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน ๒๐ กรัม พนักงานอัยการจะสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมให้ผู้ต้องหาทราบว่า "มียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไป" ตามวรรคสามด้วย