วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อธิบาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560

             พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๖๐  ได้แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ดังนี้

             ๑.  ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๑๕  แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                  จากเดิม “การผลิต  นําเข้า  ส่งออก  หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท  ๑  ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้  ให้ถือว่าเป็นการผลิต  นําเข้า  ส่งออก  หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย"
                  แก้ไขเป็น  "การผลิต  นําเข้า  ส่งออก  หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท  ๑  ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้  ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต  นําเข้า  ส่งออก  หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย"

             ๒.  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๗  แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                  จากเดิม “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท  ๒  ไว้ในครอบครองคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป  ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”
                  แก้ไขเป็น “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท  ๒  ไว้ในครอบครองคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”

             ๓.  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๒๖  แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                   จากเดิม “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๔  หรือในประเภท ๕  ไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่ สิบกิโลกรัมขึ้นไป  ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”
                   แก้ไขเป็น “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท  ๔  หรือในประเภท  ๕  ไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่ สิบกิโลกรัมขึ้นไป  ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”

(หมายเหตุ.-  แต่เดิมการมียาเสพติดให้โทษเกินปริมาณที่กําหนดไว้ ให้ถือเป็นเด็ดขาดว่าผู้นั้นกระทําเพื่อจําหน่าย โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้พิจารณาจากพฤติการณ์หรือคํานึงถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทําความผิดและไม่ได้ให้สิทธิ ผู้ต้องหาหรือจําเลยในการพิสูจน์ความจริงในคดี จึงแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้มีลักษณะเป็นเพียง ข้อสันนิษฐาน  เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริงได้
                   -  บทบัญญัติมาตรา ๑๕ วรรคสาม  มาตรา ๑๗ วรรคสอง  และมาตรา ๒๖ วรรคสอง  แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ไม่ให้ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  และให้นํากฎหมาย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  บังคับแก่คดีดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด
                   -  คดีซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายยื่นคําแถลงขอสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่าการกระทําของจําเลยเป็นการกระทํา เพื่อจําหน่ายหรือไม่  ก็ให้ศาลสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร)

วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ มีอำนาจส่งตัวผู้ต้องหากลับไปดำเนินคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11479/2556
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19, 24
             ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดหรือเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องมีคุณสมบัติสำคัญว่าจะต้องไม่ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และผลการตรวจพิสูจน์ต้องเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จึงจะมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
             หากภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 24 หรือถ้าผลการตรวจพิสูจน์ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 22 วรรคสาม หรือในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง
             ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด รวมทั้งการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีหากบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติ หรือแม้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ โดยให้อำนาจคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือให้ศาลเป็นผู้พิจารณามีคำสั่งแล้วแต่ข้อเท็จจริงจะปรากฏในขั้นตอนใด
             โดยไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 แล้ว ในการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีเพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือเพราะเหตุอื่น จะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งเท่านั้น ส่วนการพิจารณาสั่งของศาลตามมาตรา 24 เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลเอง หรือศาลได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือพนักงานสอบสวนแล้วแต่กรณี
             การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดพิษณุโลกตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก จึงส่งตัวจำเลยไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

(ข้อพิจารณา.-  คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีอำนาจส่งตัวบุคคลที่เข้ารับการฟื้นฟูฯ กลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปได้ โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล)

(ข้อกฎหมาย.- พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545  
              มาตรา 19  ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้
             ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ต้องหามีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวส่งศาลเพื่อมีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน
             การส่งไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ให้ศาลพิจารณาส่งตัวไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือการควบคุมตัวตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำนึงถึงอายุ เพศ และลักษณะเฉพาะบุคคลประกอบด้วย แล้วให้ศาลแจ้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทราบ
             ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป และเมื่อสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาไปด้วย และแจ้งให้ทราบว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวอย่างแห่งใด
            ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมาย

            มาตรา 24  ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป)

วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

สารบัญ คดียาเสพติดให้โทษ

บทกฎหมายและฐานความผิด
                -  รวมกฎหมายและระเบียบว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
                -  อธิบาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560
                -  บทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 1  
                -  ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน
                -  กรณีผู้ขับขี่เสพกัญชา
                -  การครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย
                -  พยายามจำหน่ายยาเสพติด
                -  จำหน่ายยาเสพติดให้แก่ผู้กระทำผิดด้วยกันเอง
                -  ฐานผลิตยาเสพติดให้โทษโดยวิธีการแบ่งบรรจุ
                -  บรรยายฟ้อง ความผิดหลายกรรม
                -  ยาเสพติดประเภทเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียว
                -  ประกาศ คสช. ฉบับที่ 109/2557 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายยาเสพติด)

การจับกุม ตรวจยึด และตรวจค้น
                -  อำนาจควบคุมผู้ถูกจับไว้ก่อน 3 วัน
                -  การค้นตามลำพัง ไม่ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ
                -  หลักฐานการบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์
                -  หลักฐานธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อยาเสพติด
                -  ของกลางอันพึงต้องริบ
                -  การประสานงานคดียาเสพติดรายสำคัญ
                -  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2558 (อำนาจทหาร)
                -  เมื่อผู้ถูกจับประสงค์ให้ข้อมูลที่สำคัญ

การตรวจพิสูจน์และส่งของกลางเบื้องต้น
                -  กรณีไม่ยอมให้ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย
                -  กรณีตรวจไม่พบเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะ
                -  ระยะเวลาส่งของกลางตรวจพิสูจน์และวิธีพิจารณาคดียาเสพติด
                -  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ.2537

การทำสำนวนการสอบสวน
                -  การจับและค้นพบของกลางต่างท้องที่แต่แยกเป็นสองคดี
                -  แยกคดีเสพออกจากคดีจำหน่าย
                -  การจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานยาเสพติด

การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติด
                -  กฎกระทรวงว่าด้วยยาเสพติดที่ให้ฟื้นฟูฯ ได้ (พ.ศ.2546)
                -  ประกาศ คสช. ฉบับที่ 108/2557 (การปฏิบัติเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู)
                -  ขั้นตอนการดำเนินคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในชั้นสอบสวน
                -  คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ มีอำนาจส่งตัวผู้ต้องหากลับไปดำเนินคดี
                -  กรณียื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นผู้ใหญ่ที่ฟื้นฟูไม่ผ่าน
                -  หนังสือ อสส. กำหนดแนวทางกรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กฟื้นฟูไม่ผ่าน

การดำเนินคดีเกี่ยวกับมาตรการยึดทรัพย์
                -  ตัวการร่วม ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน
                -  ช่วยค้นหายาเสพติดหลังจากเจ้าพนักงานยึดไว้แล้ว
                -  ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ
                -  ข้อแตกต่างข้อหาสมคบและสนับสนุน
                -  กฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุมัติจับกุม มาตรา 6,8
                -  ทรัพย์สินที่จะถูกริบตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ 
                -  ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
                -  แนวทางประสานงานกรณีของกลางตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ
                -  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ.2542
                -  เจ้าพนักงานกระทำผิดต้องระวางโทษเป็น 3 เท่า

การดำเนินคดีฐานฟอกเงิน
                -  การฟอกเงินเกี่ยวกับยาเสพติด