วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การฟอกเงินเกี่ยวกับยาเสพติด

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒

            การดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา ๕  ผู้กระทำผิด ต้องกระทำการ ดังนี้
            (๑)  โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น ฯลฯ
            (๒)  กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

            "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามมาตรา ๓  หมายถึง
            (๑)  เงินหรือทรัพย์สิน ที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ฯลฯ
            (๒)  เงินหรือทรัพย์สิน ที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน ด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (๑) หรือ
            (๓)  ดอกผล ของเงินหรือทรัพย์สินตาม (๑) หรือ (๒)
            ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (๑) (๒) หรือ (๓) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด

             "ความผิดมูลฐาน" ตามมาตรา ๓ มี ๒๕ เรื่อง  ตัวอย่างเช่น
               (๑)  ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น

              ดังนั้น การจะดำเนินคดีฐานฟอกเงินได้นั้น การกระทำนั้นต้อง "เป็นความผิดมูลฐาน" ก่อน เช่น บุคคลนั้นต้องกระทำผิด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๓ ได้แก่ การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย เป็นต้น
              เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินด้วย และผู้ที่โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินนั้น ตลอดจนการกระทำเพื่อปกปิด อำพรางการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น ย่อมมีความผิดฐานฟอกเงิน

             พ.ร.บ.มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ นอกจากจะมีบทกำหนดโทษทางอาญาในการกระทำความผิดในลักษณะต่าง ๆ เกี่ยวกับยาเสพติดด้วยการลงโทษจำคุกแล้ว (มาตรา ๒๗) พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และ (มาตรา ๓๐) พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น ให้สั่งริบทรัพย์สินที่เป็นบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นได้
            แต่ถ้าหากศาลไม่ลงโทษตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ ข้างต้นแล้ว สามารถดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้อีก (มาตรา ๕๘) ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดใด เป็นทรัพย์สินที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายอื่นได้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นตามกฎหมายดังกล่าว หรือดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวแล้วแต่ไม่เป็นผล หรือการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ก็ให้ดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.นี้ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า นอกจากผู้กระทำผิดต้องรับโทษอาญาฐานฟอกเงินแล้ว ยังต้องถูกดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย

            วิธีการดำเนินการ
            -  สามารถแยกสำนวนคดีมาตรการฯ และสำนวนคดีฟอกเงิน ออกจากกันเพื่อความสะดวกในการดำเนินคดี เพราะทั้งสองคดีเป็นความผิดต่างกรรมกัน
            -  กรณีสงสัยที่มาของเงิน ต้องสืบสวนสอบสวนว่า ใครโอนเงินมาให้ เป็นเงินมีที่มาจากอะไร ต้องตรวจสอบประวัติผู้ได้รับมอบอำนาจไปถอนเงินจากบัญชีธนาคาร การเคลื่อนไหวของเงินในบัญชีธนาคารที่มีมากผิดปกติ และไม่สมกับฐานะและรายได้จากการประกอบอาชีพสุจริตของบุคคลนั้น
            -  การยึดหรืออายัดทรัพย์ในคดีมาตรการฯ มาตรา ๓๒ ในกรณีที่มีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจําเลยรายใด การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจําเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดของผู้ต้องหาหรือจําเลยรายนั้นสิ้นสุดลง
            -  หากไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.มาตรการฯ ริบทรัพย์สิน เนื่องจากศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดียาเสพติดในข้อหาหลักดังกล่าวได้ พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน ได้อีก เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติเพื่อช่วยอุดช่องโหว่ที่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถปราบปรามการฟอกเงินหรือดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้เท่าที่ควร ให้สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังมีบทสันนิษฐานตามมาตรา ๕๑ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต
            -  เจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ คือ ประสงค์ตัดวงจรและทําลายแรงจูงใจในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงกําหนดมาตรการดําเนินการต่อการฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพ คือ มาตรการทางอาญาที่ดําเนินคดีต่อบุคคลกรณีหนึ่ง และมาตรการทางแพ่งที่ดําเนินคดีต่อทรัพย์สินอีกกรณีหนึ่ง มาตรการทางแพ่งได้บัญญัติวิธีการบังคับต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดด้วย เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน จึงถือเป็นมาตรการทางแพ่งซึ่งใช้บังคับย้อนหลังแก่ทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดได้ (หรือต้องบังคับเอาจากทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากวันที่ ๑๙ ส.ค.๒๕๔๒)
            -  การดำเนินคดีความผิดฐานฟอกเงิน ที่ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินสูงสุดหรือต่ำสุดเป็นจำนวนเท่าใดจึงจะดำเนินคดีได้ในความผิดมูลฐานต่าง ๆ นั้น สามารถดำเนินคดีได้ทุกคดี แต่ต้องมีมากพอสมควรที่จะเห็นความแตกต่างจากฐานะความเป็นอยู่และการดำรงชีพและความผิดปกติทางธุรกรรมทางการเงินด้วย
            -  อำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีฐานฟอกเงิน ให้ยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลัก และอาจมีการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนจำนวนหลายคนในท้องที่เป็นคณะพนักงานสอบสวน หรือขอความร่วมมือพนักงานอัยการเป็นที่ปรึกษาในการสอบสวนได้ ตั้งแต่การเริ่มตั้งประเด็นการสอบสวน ไปจนถึงการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐาน ที่สามารถให้ศาลฟังแล้วสามารถลงโทษจำเลยได้ แต่ในหมวดที่ ๖ การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น พนักงานอัยการต่างจังหวัดจะไม่มีโอกาสได้ดำเนินการ เพราะมาตรา ๕๙ บัญญัติให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ข้อแตกต่างข้อหาสมคบและสนับสนุน

พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔

             เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ให้สามารถดำเนินการกับขบวนการค้ายาเสพติดได้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะได้เพิ่มเติมฐานความผิดที่เป็นลักษณะพิเศษ คือ ความผิดฐานสมคบตามมาตรา ๘  นอกจากนี้ ยังมีการริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยใช้มาตรการริบทรัพย์สิน อันเป็นผลที่ตามต่อเนื่องมาจากการจับกุมด้วย
             ในช่วงที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่ออกใช้บังคับ ผู้สืบสวนก็ต้องรอว่าเมื่อใดจะสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้พร้อมของกลาง ส่วนพยานหลักฐานที่รวบรวมมาก็แทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เพราะต้องรอจับกุมตัวการใหญ่ได้พร้อมของกลางเท่านั้น พระราชบัญญัตินี้จึงออกมาเพื่ออุดช่องว่าง และอาศัยพยานหลักฐานต่าง ๆ ก็เพียงพอที่จะนำตัวการที่อยู่เบื้องหลัง มาลงโทษได้ดีกว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ เพียงอย่างเดียว        

            "มาตรา ๘  ผู้ใดสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้นั้น สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              ถ้าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

              การสมคบ คือ การแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำผิดร่วมกัน ไม่เพียงแต่คุยชักชวนกันเท่านั้น แต่จะต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงการตกลง เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นประกอบ โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้กระทำความผิดตามที่ได้สมคบกันหรือไม่ การสมคบจึงเทียบเคียงกับฎีกาในเรื่องซ่องโจร กล่าวคือ ต้องมีพยานยืนยันได้ว่า จำเลยกับพวกได้คบคิดร่วมกันประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหน เมื่อใด และได้ตกลงกันจะกระทำความผิดอย่างใด ดังนั้น ความผิดฐานสมคบตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ก็จะต้องมีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีการตกลงกัน หาใช่ว่าเมื่อฟังว่าเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดแล้ว จะต้องรับฟังเป็นยุติได้ว่าได้กระทำความผิดฐานสมคบด้วยแต่อย่างใดไม่
              กรณีการจะซื้อจะขายยาเสพติด ซึ่งผู้ขายมีเจตนาขาย ผู้ซื้อมีเจตนาซื้อ ทั้งสองแม้มีเจตนาต่างกัน แต่เมื่อมีการตกลงกันแล้ว ก็ถือได้ว่ามีการสมคบกันที่จะกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว หาใช่ว่าจะต้องมีเจตนาเดียวกันหรือเจตนาร่วมกันไม่ และการสมคบต้องมีเจตนาพิเศษ เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และมีเจตนาธรรมดา คือ รู้สำนึกในการที่กระทำและขณะเดียวกันประสงค์ต่อผลนั้นโดยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก
             เมื่อได้มีการตกลงกันแล้วแม้คนใดคนหนึ่งไปลงมือกระทำความผิด อีกคนหนึ่งก็ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ลงมือด้วยตามมาตรา ๘ วรรคสอง แม้ผู้นั้นจะไม่ได้ร่วมลงมือกระทำความผิดในลักษณะของตัวการร่วมก็ได้ เช่น  ก. จัดหารถยนต์และทำช่องลับบรรจุยาเสพติด แล้ว ข. ทำหน้าที่ขับรถไปรับยาเสพติดไปขาย  การกระทำของ ก. ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่เป็นความผิดฐานสมคบ
            เมื่อมีการสมคบกัน ต่อมา ได้มีการกระทำความผิดหลักจนสำเร็จ ความผิดฐานสมคบและความผิดหลักเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทหนัก
            ถ้าความผิดหลักอยู่ในระหว่างการสอบสวน ยังไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาล ย่อมสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกฟ้องในข้อหาสมคบได้ โดยการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม และฟ้องคดีไปในคราวเดียวกันกับความผิดข้อหาหลัก เมื่อศาลฟังได้ว่าผู้ที่ลงมือกระทำความผิดหลักได้กระทำความผิดฐานสมคบด้วย ศาลจะลงโทษในความผิดหลักเพียงบทเดียว แต่ถ้าความผิดหลักได้ฟ้องคดีต่อศาลไปแล้ว ภายหลังหากฟ้องผู้กระทำผิดในข้อหาสมคบอีก ก็จะเป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ

             "มาตรา ๖  ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
            (๑) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
            (๒) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ
            (๓) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม
            (๔) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากผู้กระทำความผิดเพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ
            (๕) ปกปิด ซ่อนเร้นหรือเอาไปเสียซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุใด ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด
            (๖) ชี้แนะ หรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด
            ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔

              "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" ได้แก่
                     (๑) การผลิต  (๒) นำเข้า  (๓) ส่งออก  (๔) จำหน่าย  (๕) มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
และรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิด ๕ ฐานความผิด นั้นด้วย

              "ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องการกระทำความผิด" หมายความว่า
                      -  เงิน หรือทรัพย์สิน ที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง
                     -  เงิน หรือทรัพย์สิน ที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว หรือการกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ให้เงินหรือทรัพย์สินเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่น หรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม

              "การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ
                   -  ผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิด เป็นคนไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
                   -  ผู้กระทำผิด เป็นคนต่างด้าวและได้กระทำโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย
                  -  ผู้กระทำผิด เป็นคนต่างด้าวและการกระทำผิดนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฎตัวอยู่ในราชอาณาจักร และมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน"

             "มาตรา ๖  ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการ
                 -  สนับสนุน หรือช่วยเหลือผู้กระทำผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
                 -  จัดหา หรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำผิดถูกจับกุม
                 -  จัดหา หรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนักหรือซ่อนเร้น เพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ
                 -  ปกปิด ซ่อนเร้นหรือเอาไปเสียซึ่งยาเสพติด หรือวัตถุใด ๆ ที่ใช้ในการกระทำผิด เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิด
                 -  ชี้แนะ หรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด"

             "มาตรา ๗  ผู้พยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ"

             "มาตรา ๘  ผู้สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
                 -  สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท
                 -  เมื่อมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะเหตุมีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

             "มาตรา ๑๐  ข้าราชการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๓๒๒/๒๕๔๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๗
            พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นกฎหมายคนละฉบับกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ทั้งมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ” ซึ่งเป็นการบัญญัติว่าผู้ใดกระทำความผิดฐานพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษเท่าใด จึงเป็นทั้งบทความผิดและบทลงโทษในมาตราเดียวกัน ส่วนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ และความผิดฐานพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ นั้น เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดและบทลงโทษส่วนหนึ่งของมาตรา ๗ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ เท่านั้น
           ดังนั้น การที่โจทก์ไม่อ้างมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีโทษสูงกว่าโทษในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (เดิม), ๖๖ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ และเป็นการเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่งและวรรคสี่