วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทรัพย์สินที่จะถูกริบตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ

 ทรัพย์สินที่จะถูกริบ
              ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔  ได้แก่
               ๑.  ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด
               ๒.  ทรัพย์สินของกลาง

ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด
              มีขั้นตอนการขอริบ ดังนี้ 
               ๑.  การตรวจสอบทรัพย์สิน  ได้แก่
                    (๑) ทรัพย์สินของผู้ต้องหา และ
                    (๒) ทรัพย์สินของผู้อื่น   โดย
                            -  คณะกรรมการเป็นผู้สั่งให้ตรวจสอบ
                            -  เลขาธิการ ป.ป.ส. สั่ง ในกรณีมีเหตุความจำเป็นเร่งด่วน
               ๒.  การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน คณะกรรมการจะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เมื่อเจ้าของทรัพย์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์สินนั้น
                           -  ไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด หรือ
                           -  รับมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือ
                           -  ได้มาตามสมควรตามศีลธรรมอันดี หรือทางกุศลสาธารณะ
                     การยึดหรืออายัดจะสิ้นสุดเมื่อ
                           -  คณะกรรมการวินิจฉัยว่า ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด และมีคำสั่งให้คืน
                           -  พนักงานอัยการ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
                           -  ศาลมีคำพิพากษา ถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
                           -  ศาลวินิจฉัยว่า ไม่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดและมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินให้แก่จำเลยหรือผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน
               ๓.  การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด มีขั้นตอน คือ ประเมินราคา เก็บรักษา ขอผ่อนผันที่จะนำไปใช้ประโยชน์ นำออกขายทอดตลาด หรือใช้ประโยชน์ของทางราชการ ประเมินค่าเสียหายหรือค่าเสื่อมสภาพ และคืนทรัพย์สิน
               ๔.  การพิจารณาในชั้นพนักงานอัยการ ถ้าสั่งฟ้อง จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์ไปพร้อมกับคำฟ้อง หรือก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในกรณีที่มีเหตุอันสมควรไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง เช่น พบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก
               ๕.  การพิจารณาในชั้นศาล หากคดีมีมูล ศาลจะสั่งริบทรัพย์สิน เว้นแต่ เจ้าของจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สิน

ทรัพย์สินของกลาง
                ทรัพย์สินของกลาง ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินที่ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด มีขั้นตอน ดังนี้
                       -   พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ริบของกลาง
                       -   ประกาศหนังสือพิมพ์
                       -   ริบเมื่อพ้น ๓๐ วัน นับแต่ประกาศ
                ส่วนทรัพย์สินที่จะตกเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คือ
                       -   ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด
                       -   ทรัพย์สินที่เป็นของกลาง
                       -   ทรัพย์สินที่ที่ตกเป็นของกองทุนโดยผลทางกฎหมาย

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๘๖๘/๒๕๕๔
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔  มาตรา ๓๒
               เจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจภูธรอําเภอบางปะกง จับผู้คัดค้านที่ ๑ และนาย ณ. ได้ พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน ๑๕๐ เม็ด โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ติดต่อ รถยนต์ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับเบิ้ลยู จำนวน ๑ คัน กับเงินสด จำนวน ๓๓,๙๐๐ บาท เป็นของกลาง กล่าวหาว่าร่วมกับผู้คัดค้านที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
              ผู้คัดค้านที่ ๒ ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจําหน่ายเมทแอมเฟตามีน ผู้คัดค้านที่ ๒ เข้ามอบตัวและเจ้าพนักงานตํารวจยึดเงิน จำนวน ๔๔,๗๐๐ บาท และรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน บฉ ๙๗๒๖ ฉะเชิงเทรา ของผู้คัดค้านที่ ๒ ไว้
              ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ ๒ และไม่ริบของกลาง
              ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน    โจทก์ไม่ฎีกา
              คดีสําหรับผู้คัดค้านที่ ๒ ในคดีนี้ย่อมถึงที่สุด กรณีจึงต้องด้วยมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิด พ.ศ.๒๕๓๔ การยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่สอง ย่อมสิ้นสุดลง ศาลไม่มีอํานาจสั่งริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒ กรณีไม่จําต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า เงิน ๔๔,๗๐๐ บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ รวมทั้งผู้คัดค้านที่ ๒ ได้เงินนี้มาโดยสุจริตหรือไม่ ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อีกต่อไป

อำนาจควบคุมผู้ถูกจับไว้ก่อนสามวัน

บันทึก เรื่อง อำนาจในการควบคุมผู้ถูกจับของเจ้าพนักงาน
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) เรื่องเสร็จที่ 858/2551
มาตรา 14 มาตรา 15 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519
มาตรา 5 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550
มาตรา 84 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

             สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือที่ ตช ๐๐๓๑.๒๑๒/๕๘๑๔ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับหนังสือหารือปัญหาจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ กรณีการควบคุมตัวผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๔ (๓) ไว้เพื่อทำการสอบสวนเป็นเวลาเกินสามวันได้หรือไม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้บัญญัติกรณีดังกล่าวไว้ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ต่อมาบทบัญญัติมาตรา ๘๗ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงสี่สิบแปดชั่วโมง หากจำเป็นต้องควบคุมต่อไปให้นำตัวไปยังศาลเพื่อพิจารณาสั่งควบคุม จึงเป็นปัญหาในข้อกฎหมายว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะดำเนินการอย่างไร สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอหารือปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้
             ๑. เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สามารถใช้อำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ก่อนส่งตัวผู้ถูกจับต่อพนักงานสอบสวนได้หรือไม่
             ๒. หากสามารถควบคุมตัวได้ตาม ๑. ถือเป็นอำนาจเฉพาะของผู้จับกุมไม่นับรวมอำนาจการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพนักงานสอบสวน ถูกต้องหรือไม่
             ๓. เมื่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการควบคุมผู้ถูกจับไว้โดยเฉพาะ แต่ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้  ดังนั้น ผู้จับกุมจะต้องนำตัวผู้ถูกจับส่งพนักงานสอบสวนในทันทีตามมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือไม่ อย่างไร
             คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความประสงค์ที่จะทราบหลักการและแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมตัวผู้ถูกจับในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนวิธีพิจารณาในคดียาเสพติดไว้โดยเฉพาะ และส่งผลกระทบต่อทั้งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) จึงเห็นสมควรตอบข้อหารือเพียงสองประเด็น โดยรวมประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สองเข้าด้วยกัน ดังนี้
              ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า คำว่า เจ้าพนักงาน ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ หมายความว่า ผู้ซึ่งเลขาธิการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน จึงมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตามมาตรา ๑๔ (๓) มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักรและให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๔ (๓) ไว้เพื่อทำการสอบสวนได้ไม่เกินสามวัน
              ดังนั้น การควบคุมผู้ถูกจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานย่อมมีระยะเวลาไม่เกินสามวัน อันเป็นอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และไม่นับรวมกับอำนาจการควบคุมผู้ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพนักงานสอบสวน
              ประเด็นที่สอง เห็นว่า แม้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ จะไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องการควบคุมตัวผู้ถูกจับในคดียาเสพติดไว้โดยเฉพาะ แต่มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัตินิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน" ว่าหมายความว่า เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยที่เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ คือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับไว้เพื่อทำการสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงมีอำนาจในการควบคุมผู้ถูกจับไว้เป็นเวลาไม่เกินสามวันตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยไม่จำเป็นต้องนำผู้ถูกจับส่งพนักงานสอบสวนในทันทีตามมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             หมายเหตุ :- มาตรา ๑๕  "เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๑๔ ให้ถือว่า กรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอํานาจตามมาตรา ๑๔ (๓) มีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๔ (๓) ไว้เพื่อทําการสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดําเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา"

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ยาเสพติดประเภทเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1807/2545
ป.อ. มาตรา 91
           เจ้าพนักงานตำรวจล่อซื้อเฮโรอีนได้จากจำเลย 2 หลอด และเข้าค้นตัวจำเลยพบเฮโรอีน 11 หลอด และเมทแอมเฟตามีน 18 เม็ด การที่จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกัน และถูกจับได้พร้อมกัน แม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดต่างชนิดกัน แต่เมื่อเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
           แม้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายคนละมาตรากันกับความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็หาทำให้การกระทำกรรมเดียวกลายเป็นการกระทำหลายกรรมไปได้ไม่

ช่วยค้นหายาเสพติดหลังจากเจ้าพนักงานยึดไว้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1353/2545
ป.อ. มาตรา 86
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 57, 66
              แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 กับพวกที่นั่งรถมาด้วยกัน แต่จำเลยที่ 1 ได้โยนทิ้งเสียก่อน
              ต่อมา จำเลยที่ 1 ไปตามจำเลยที่ 2 มาช่วยค้นหาเมทแอมเฟตามีนของกลาง และจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมขณะค้นหาเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความต่อไปว่า หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง เจ้าพนักงานตำรวจก็ได้ยึดไว้เป็นของกลางทันทีจำเลยที่ 2 มาช่วยจำเลยที่ 1 ค้นหาเมทแอมเฟตามีนของกลาง ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้แล้ว
              จึงเห็นได้ว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบและยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางไป การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงสิ้นสุดลงแล้ว การที่จำเลยที่ 2 มาช่วยจำเลยที่ 1 ค้นหาเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกภายหลังการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1
              ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ต้องช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗ (แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายยาเสพติด)

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗
เรื่อง  การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
            โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพื่อปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
            ข้อ ๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             “มาตรา ๕  ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรียกโดยย่อว่า “ป.ป.ส.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อัยการสูงสุด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสามคน และเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
            ให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”
            ข้อ ๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
              “มาตรา ๑๓  ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
                (๑)  กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนงาน มาตรการ และกลไกในการสกัดกั้น ป้องกันและปราบปราม บำบัดรักษา และแก้ไขปัญหายาเสพติด ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ครบวงจร เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด
                (๒)  กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการประสานความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ หรือองค์การระหว่างประเทศ เพื่อปราบปรามการลักลอบผลิตและค้ายาเสพติด รวมทั้งประสานงานการข่าวเพื่อสกัดกั้นและปราบปรามจับกุมขบวนการและเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ
                (๓) ควบคุม เร่งรัด และประสานงาน เพื่อการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน ปราบปราม การฟ้องคดี และการบังคับโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
                (๔) กำหนดสถานะของพื้นที่หรือกลุ่มพื้นที่ในแต่ละปี หรือพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พร้อมกับกำหนดให้มีกลไก โครงสร้าง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสถานะของปัญหา และให้ส่วนราชการให้การสนับสนุนตามที่ร้องขอ
                (๕) วางโครงการและดำเนินการ ตลอดจนสั่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด
                (๖) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรืองาน แผนงานหรือโครงการของส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
                (๗) ประสานงานและกำกับเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
                (๘) พิจารณาอนุมัติหรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                (๙) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการและกำหนดให้สถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าว
                (๑๐) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้ความดีความชอบหรือโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยต่อข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตลอดจนขอให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดเร่งรัดการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด
                (๑๑) พิจารณาและดำเนินการจัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งกำกับและติดตามการใช้งบประมาณของหน่วยงานดังกล่าว
                (๑๒) สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
                (๑๓) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ”

ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ (การปฏิบัติเพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู)

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗
เรื่อง    การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
เพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู
               เพื่อให้การดำเนินการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดเป็นไปโดยเหมาะสม สมควรกำหนดให้ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดหรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม ได้รับการบำบัดฟื้นฟูโดยการยินยอม และได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องภายหลังผ่านการบำบัดฟื้นฟู รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้การบำบัดฟื้นฟูเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลสูงสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
              ข้อ ๑  ในกรณีที่ผู้ใดต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครองตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม หากผู้นั้นยินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดดำเนินการให้ผู้นั้นเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู
             ในกรณีที่ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนดเกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟู และได้รับการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบออกหนังสือรับรองเพื่อเป็นหลักฐาน
             การนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู การบำบัดฟื้นฟู และการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประกาศกำหนด
             ข้อ ๒  ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่า ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูนั้น ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ส่งตัวผู้นั้นดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
             ข้อ ๓  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในทุกอำเภอและทุกเขต และจัดตั้งศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในระดับอำเภอหรือเขต และระดับจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร
             ข้อ ๔  ให้ศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการคัดกรองและจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองเพื่อจำแนกผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และการส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูไปยังสถานบำบัดฟื้นฟูหรือสถานที่อื่นตามที่หัวหน้าศูนย์กำหนด ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
             ข้อ ๕  ให้ศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู มีอำนาจหน้าที่จัดระบบดูแลช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในจังหวัดให้มอบหมายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรชุมชน อาสาสมัครคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ติดตามดูแลและช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู สำหรับกรุงเทพมหานครให้มอบหมายผู้อำนวยการเขต ผู้นำองค์กรชุมชน อาสาสมัครคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ดำเนินการดังกล่าว
             ข้อ ๖  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการบำบัดฟื้นฟู ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งชื่อตัวชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ของผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อใช้ในการดำเนินการจัดส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูต่อไป
             ทั้งนี้  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
             ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
                                                                  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
                                                          หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สรุปสาระสำคัญ - เน้นการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดตามบัญชีท้ายประกาศ โดยการสมัครใจเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู แต่จะต้องไม่เป็นผู้ต้องหา หรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม เมื่อได้รับการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบออกหนังสือรับรองเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ถ้าปรากฏภายหลังว่า ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูนั้น ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ก็ให้ส่งตัวผู้นั้นดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในทุกอำเภอและทุกเขต และจัดตั้งศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในระดับอำเภอหรือเขต และระดับจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร

คำสั่ง ตร. ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการปฏิบัติตาม
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕
-  หนังสือ ตร. ที่ ๐๐๑๑.๒๔/๒๕๕๖ ลง ๑๑ ก.ค.๒๕๕๕ เรื่อง ให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนในคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด(ฟ.๑)
-  หนังสือ ตร. ที่ ๐๐๑๑.๒๖/๐๓๕๕๑ ลง ๒๒ ก.ย.๒๕๕๓ เรื่อง กำชับการปฏิบัติ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕
-  หนังสือ คด. ที่ ๐๐๐๔.๖/๒๔๕๔ ลง ๑๑ มี.ค.๒๕๔๖ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ (เพิ่มเติม)  
-  หนังสือ  ตร.ด่วนที่สุด ที่ ๐๐๐๔.๖/๒๑๕๒ ลง ๓ มี.ค.๒๕๔๖ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

กรณีผู้ขับขี่เสพกัญชา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  519/2558
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 92 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง
             พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
            ซึ่งคำว่า “ทั้งนี้” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “ตามที่กล่าวมานี้” ดังนี้ คำว่า “ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” จึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่า “ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มิใช่ครอบคลุมเฉพาะการเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเท่านั้น
            เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกำหนด ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 โดยยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง , 157/1 วรรคสอง

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

หนังสือ อสส. กำหนดแนวทางกรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กฟื้นฟูไม่ผ่าน

                                                                         (ครุฑ) 
ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๔๗๖                                                                       สำนักงานอัยการสูงสุด
                                                                                                             อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ 
                                                                                                             ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ
                                                                                                             ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
                                                                                                             เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐ 
                                                        ๑๖  ธันวาคม  ๒๕๕๘
เรื่อง      กำหนดแนวทางปฎิบัติตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ 
             กรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน
เรียน     รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่ายเลขานุการ 
             อัยการสูงสุด อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้า
             หลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และผู้อำนวยการสำนักงาน
อ้างถึง  ๑.  หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดด่วนที่สุดที่ อส (สฝปผ.) ๐๐๑๘/ว ๔๖ 
                  ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๖
            ๒.  หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดด่วนที่สุดที่ อส ๐๐๒๗(ปผ.) /ว ๑๒๗ 
                  ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔

              ตามหนังสือที่อ้างถึง ๑ สำนักงานอัยการสูงสุดได้วางระเบียบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไว้ และตามหนังสือที่อ้างถึง ๒ สำนักงานอัยการสูงสุดได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับพนักงานอัยการในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ นั้น
             สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นสมควรกำหนดแนวทางปฎิบัติเพื่อให้การปฏิบัติงานในการดำเนินคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชนเป็นไปแนวทางเดียวกัน ดังนี้
             ๑. กรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชนไม่เข้าเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๔ ตั้งแต่แรก กรณีจำต้องมีรายงานการสืบเสาะข้อเท็จจริงของสถานพินิจเพื่อประกอบการพิจารณา
             ๒. กรณีผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหรือเยาวชนได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ เด็กหรือเยาวชนได้เข้าสู่การควบคุมของคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มิได้อยู่ในการควบคุมของสถานพินิจ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ ต่อมาภายหลังพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กหรือเยาวชนไม่เป็นที่พอใจและมีคำสั่งให้คืนเด็กหรือเยาวชนให้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป พนักงานสอบสวนย่อมขอผัดฟ้องต่อไปได้ รวมทั้งพนักงานอัยการมีอำนาจยื่นฟ้องเด็กหรือเยาวชนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ โดยไม่ต้องมีรายงานสืบเสาะข้อเท็จจริงของสถานพินิจ
             ๓. ในกรณีตามข้อ ๒ หากพนักงานสอบสวนไม่อาจผัดฟ้องได้ และทำให้พนักงานอัยการไม่อาจฟ้องคดีเด็กหรือเยาวชนได้ทันกำหนดระยะเวลาตาม มาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ พนักงานอัยการจะฟ้องคดีดังกล่าวได้ จะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการผู้มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาคซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อฟ้อง โดยต้องมีรายงานการสืบเสาะของสถานพินิจเพื่อประกอบการขออนุญาตฟ้องและเพื่อประกอบดุลพินิจในการลงโทษของศาล เพราะเด็กหรือเยาวชนมิได้อยู่ในการควบคุมตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ อีกต่อไป
              จึงเรียนมาเพื่อทราบและประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติราชการต่อไป
                                                                            ขอแสดงความนับถือ
                                                                         นายนิตสิต ระเบียบธรรม
                                                                 รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน
                                                                                    อัยการสูงสุด