วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พยายามจำหน่ายยาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8646/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) , 212
ป.อ. มาตรา 80 , 91
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 , 67 , 100/1 , 102
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7
               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้จำหน่ายโดยการขายเมทแอมเฟตามีน จำนวน 20 เม็ด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 7,500 บาท จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด ยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวได้ก่อน
              ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายแล้วว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ แต่กระทำไปไม่ตลอดโดยยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับเพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ก่อน อันเป็นการบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
             จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 26 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.531 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วจำเลยแบ่งจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวรวม 3 ครั้ง คือจำหน่ายให้แก่สายลับ 3 เม็ด จำหน่ายให้แก่นาย ว. 3 เม็ด และจำหน่ายให้แก่สายลับ 20 เม็ด แต่ในครั้งหลังนี้ จำเลยยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ก่อน
            การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 26 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่แรกแล้ว 1 กรรม ต่อมาเมื่อจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวออกจำหน่ายรวม 3 ครั้ง ก็เป็นความผิดต่างกรรมอีก 3 กรรม แม้จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ 1 ครั้ง และพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ซึ่งอาจเป็นบุคคลคนเดียวกันดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวาระกันและมีเจตนาต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน
            โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง และความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีโทษทั้งจำคุกและปรับ การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยเพียงอย่างเดียวเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ทำนองขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว 5 ปี เป็นลงโทษจำคุก 6 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  847/2547
ป.อ. มาตรา 80
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15
             วันเกิดเหตุนาง บ. เป็นผู้ติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย และนัดให้จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่ทาวน์เฮ้าส์ที่เกิดเหตุ ต่อมา จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 900 เม็ด ของกลางไปยังสถานที่นัดหมายเพื่อส่งให้นาง บ. ตามที่ตกลงกันไว้ แต่ยังไม่ทันได้ส่งมอบ จำเลยก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ซึ่งจำเลยฎีกาทำนองว่า ไม่มีการซื้อขายเมทแอมเฟตามีน เพราะไม่มีการตกลงราคาและไม่มีการชำระเงิน ทั้งยังไม่มีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ซื้อ
             ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะถูกจับกุม จำเลยเพียงแต่นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปยังสถานที่นัดหมายเพื่อส่งให้นาง บ. ผู้ซื้อ โดยที่ยังมิได้ส่งมอบแต่อย่างใด การซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางระหว่างจำเลยกับนาง บ. จึงยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 900 เม็ด เท่านั้น
            เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เป็นภัยแก่ประชาชนและสังคมทั่วไป จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมากถึง 1,900 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 31.569 กรัม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ให้จำคุก 30 ปี ก่อนลดโทษนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
            อนึ่ง ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนความผิดฐานจำหน่ายแอมเฟตามีนนั้น ทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันและมิได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ส่วนกำหนดโทษนั้น เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยพยายามจำหน่ายไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด จึงเป็นความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง กรณีโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้าง และแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งกำหนดโทษในความผิดฐานนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225