วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แยกคดีเสพออกจากคดีจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5522/2556
พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
              ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกันกับคดีเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำร้องที่ ฟ.87/2549 ของศาลชั้นต้น และฐานความผิดตามคดีนี้เข้าองค์ประกอบตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 ที่จำเลยควรได้รับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในคราวเดียวกันกับคดีเสพเมทแอมเฟตามีน แต่พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยแยกดำเนินคดีนี้แก่จำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก จึงเป็นการไม่ชอบนั้น
              เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้” และ
             กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 บัญญัติว่า
             “ข้อ 1 ลักษณะ ชนิดและประเภทของยาเสพติด สำหรับความผิดฐานเสพยาเสพติดตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง มีดังต่อไปนี้
                     (1) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มี 6 ชนิด ได้แก่
                           (ก) เฮโรอีน
                           (ข) เมทแอมเฟตามีน
                           (ค) ...
               ข้อ 2 ยาเสพติดตามข้อ 1 สำหรับความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและความผิดฐานเสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ต้องมีปริมาณดังต่อไปนี้
                   (1) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1
                           (ก) เฮโรอีนมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งร้อยมิลลิกรัม
                           (ข) เมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม
                           (ค) ...”
                เห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้ต้องการให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาที่กระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดนั้นไปส่งศาลเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งไปในคราวเดียว
                เมื่อปรากฏว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนครึ่งเม็ด และที่เหลืออีกครึ่งเม็ดจำหน่ายให้แก่นายสมบัติ มีปริมาณหน่วยการใช้ครึ่งเม็ด ซึ่งไม่เกินห้าหน่วยการใช้และมีปริมาณน้ำหนักสุทธิไม่ปรากฏชัด ซึ่งไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายดังกล่าว มีลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 ข้อ 1 (1) (ข) และข้อ 2 (1) (ข)
                ดังนั้น เมื่อในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดและจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นคดีนี้อีก เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
                ปัญหานี้แม้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
                พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หลักฐานธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อยาเสพติด

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๓๔๒/๒๕๕๕
ป.วิ.อ.  การรับฟังพยานหลักฐาน (มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง)
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๑๕, ๖๖)
             ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้ ผู้จับทั้งสองปากไม่เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองในขณะล่อซื้อ เพียงแต่รับฟังมาจากสายลับอีกทอดหนึ่ง แต่โจทก์ไม่ได้อ้างและนำสืบสายลับเป็นประจักษ์พยาน และไม่ได้ความว่ามีการวางแผนเตรียมการที่จะใช้ธนบัตรเป็นหลักฐานในการล่อซื้อ
            การที่โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความจึงทำให้มีน้ำหนักน้อย สำหรับคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองไม่อาจนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ นอกจากนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๗๔๔/๒๕๔๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔๑
             ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๑ เป็นเพียงบทบัญญัติสำหรับวิธีการสืบพยานวัตถุเท่านั้น หาใช่บทบังคับให้สืบพยานวัตถุเสมอไปไม่ หากศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตรวจดูพยานวัตถุก็อาจใช้ดุลพินิจไม่ตรวจดูเสียได้
             การที่โจทก์อ้างส่งสำเนาภาพถ่ายธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อซึ่งมีความชัดเจนสามารถตรวจดูลักษณะและหมายเลขธนบัตรได้โดยง่าย ทั้งจำเลยก็มิได้โต้แย้งความไม่ถูกต้องของสำเนาภาพถ่ายธนบัตรดังกล่าว ศาลจึงรับฟังสำเนาภาพถ่ายธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อประกอบพยานบุคคลและพยานเอกสารอื่น ๆ เป็นพยานหลักฐานในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๗๐/๒๕๔๒
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖
พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔ , ๑๓ ทวิ
            ธนบัตรของกลางเป็นพยานวัตถุที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย แม้จะมิได้ลงบันทึกประจำวันไว้ โจทก์ก็อ้างเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ เพราะไม่มีกฎหมายห้าม
            แผนที่เกิดเหตุ เป็นเพียงพยานเอกสารจำลองถึงที่เกิดเหตุ ตามที่พนักงานสอบสวนได้จัดทำขึ้น แม้จะมีระเบียบให้พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นเพื่อประกอบคดี แต่ถ้าพนักงานสอบสวนมิได้จัดทำ ก็หาทำให้พยานหลักฐานอื่นที่โจทก์นำสืบเสียไปแต่อย่างใดไม่ หากพยานโจกท์ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องมีแผนที่เกิดเหตุ
            การที่จำเลยเอาเมทแอมเฟตามีนมาขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ แม้สายลับจะไม่มีเจตนาซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาเพื่อเสพหรือแสวงหาประโยชน์อื่นใดจากเมทแอมเฟตามีน ก็ถือว่า จำเลยได้ขายเมทแอมเฟตามีนตามบทนิยามคำว่า "ขาย" ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔ แล้ว

(ข้อพิจารณา.- ตามหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๔/๒๘๙๔ ลง ๓ ก.ย.๒๕๕๗  ได้กำชับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ โดยเฉพาะในความผิดฐานจำหน่าย จะต้องมีพยานหลักฐานสำคัญที่ใช้ยืนยันหรือพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุม เพื่อให้ศาลปราศจากข้อสงสัยในการล่อซื้อยาเสพติด โดยให้นำธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อไปลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและถ่ายเอกสารธนบัตรไว้ด้วยให้ปรากฎชัดเจน มิใช่อาศัยแต่เพียงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับกุม โดยปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนการกระทำผิด ทั้งนี้ โดยให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดและอย่าให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นอีก)