วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แยกคดีเสพออกจากคดีจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5522/2556
พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
              ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกันกับคดีเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำร้องที่ ฟ.87/2549 ของศาลชั้นต้น และฐานความผิดตามคดีนี้เข้าองค์ประกอบตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 ที่จำเลยควรได้รับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในคราวเดียวกันกับคดีเสพเมทแอมเฟตามีน แต่พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยแยกดำเนินคดีนี้แก่จำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก จึงเป็นการไม่ชอบนั้น
              เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้” และ
             กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 บัญญัติว่า
             “ข้อ 1 ลักษณะ ชนิดและประเภทของยาเสพติด สำหรับความผิดฐานเสพยาเสพติดตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง มีดังต่อไปนี้
                     (1) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มี 6 ชนิด ได้แก่
                           (ก) เฮโรอีน
                           (ข) เมทแอมเฟตามีน
                           (ค) ...
               ข้อ 2 ยาเสพติดตามข้อ 1 สำหรับความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและความผิดฐานเสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ต้องมีปริมาณดังต่อไปนี้
                   (1) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1
                           (ก) เฮโรอีนมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งร้อยมิลลิกรัม
                           (ข) เมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม
                           (ค) ...”
                เห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้ต้องการให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาที่กระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดนั้นไปส่งศาลเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งไปในคราวเดียว
                เมื่อปรากฏว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนครึ่งเม็ด และที่เหลืออีกครึ่งเม็ดจำหน่ายให้แก่นายสมบัติ มีปริมาณหน่วยการใช้ครึ่งเม็ด ซึ่งไม่เกินห้าหน่วยการใช้และมีปริมาณน้ำหนักสุทธิไม่ปรากฏชัด ซึ่งไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายดังกล่าว มีลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 ข้อ 1 (1) (ข) และข้อ 2 (1) (ข)
                ดังนั้น เมื่อในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดและจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นคดีนี้อีก เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
                ปัญหานี้แม้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
                พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หลักฐานธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อยาเสพติด

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๓๔๒/๒๕๕๕
ป.วิ.อ.  การรับฟังพยานหลักฐาน (มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง)
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๑๕, ๖๖)
             ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้ ผู้จับทั้งสองปากไม่เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองในขณะล่อซื้อ เพียงแต่รับฟังมาจากสายลับอีกทอดหนึ่ง แต่โจทก์ไม่ได้อ้างและนำสืบสายลับเป็นประจักษ์พยาน และไม่ได้ความว่ามีการวางแผนเตรียมการที่จะใช้ธนบัตรเป็นหลักฐานในการล่อซื้อ
            การที่โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความจึงทำให้มีน้ำหนักน้อย สำหรับคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองไม่อาจนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ นอกจากนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๗๔๔/๒๕๔๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔๑
             ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๑ เป็นเพียงบทบัญญัติสำหรับวิธีการสืบพยานวัตถุเท่านั้น หาใช่บทบังคับให้สืบพยานวัตถุเสมอไปไม่ หากศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตรวจดูพยานวัตถุก็อาจใช้ดุลพินิจไม่ตรวจดูเสียได้
             การที่โจทก์อ้างส่งสำเนาภาพถ่ายธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อซึ่งมีความชัดเจนสามารถตรวจดูลักษณะและหมายเลขธนบัตรได้โดยง่าย ทั้งจำเลยก็มิได้โต้แย้งความไม่ถูกต้องของสำเนาภาพถ่ายธนบัตรดังกล่าว ศาลจึงรับฟังสำเนาภาพถ่ายธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อประกอบพยานบุคคลและพยานเอกสารอื่น ๆ เป็นพยานหลักฐานในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๗๐/๒๕๔๒
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖
พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔ , ๑๓ ทวิ
            ธนบัตรของกลางเป็นพยานวัตถุที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย แม้จะมิได้ลงบันทึกประจำวันไว้ โจทก์ก็อ้างเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ เพราะไม่มีกฎหมายห้าม
            แผนที่เกิดเหตุ เป็นเพียงพยานเอกสารจำลองถึงที่เกิดเหตุ ตามที่พนักงานสอบสวนได้จัดทำขึ้น แม้จะมีระเบียบให้พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นเพื่อประกอบคดี แต่ถ้าพนักงานสอบสวนมิได้จัดทำ ก็หาทำให้พยานหลักฐานอื่นที่โจทก์นำสืบเสียไปแต่อย่างใดไม่ หากพยานโจกท์ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องมีแผนที่เกิดเหตุ
            การที่จำเลยเอาเมทแอมเฟตามีนมาขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ แม้สายลับจะไม่มีเจตนาซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาเพื่อเสพหรือแสวงหาประโยชน์อื่นใดจากเมทแอมเฟตามีน ก็ถือว่า จำเลยได้ขายเมทแอมเฟตามีนตามบทนิยามคำว่า "ขาย" ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔ แล้ว

(ข้อพิจารณา.- ตามหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๔/๒๘๙๔ ลง ๓ ก.ย.๒๕๕๗  ได้กำชับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ โดยเฉพาะในความผิดฐานจำหน่าย จะต้องมีพยานหลักฐานสำคัญที่ใช้ยืนยันหรือพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุม เพื่อให้ศาลปราศจากข้อสงสัยในการล่อซื้อยาเสพติด โดยให้นำธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อไปลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและถ่ายเอกสารธนบัตรไว้ด้วยให้ปรากฎชัดเจน มิใช่อาศัยแต่เพียงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับกุม โดยปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนการกระทำผิด ทั้งนี้ โดยให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดและอย่าให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นอีก)

วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เขตอำนาจสอบสวนในคดียาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13379/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) (5) วรรคหนึ่ง, (ก) วรรคสาม, 78 (1), 86, 226
               การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ท. ได้ขณะลักลอบขนยาเสพติดให้โทษจากจังหวัดมุกดาหารเพื่อจะไปส่งมอบให้ จ. และจำเลยผู้ร่วมขบวนการซึ่งกำลังรอรับยาเสพติดให้โทษอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่า ท. จ. และจำเลยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดด้วยกันอยู่แล้ว
               การที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัว ท. เดินทางต่อไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อนำยาเสพติดให้โทษไปส่งมอบให้ จ. และจำเลย จึงเป็นวิธีการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิด มิใช่เป็นการล่อให้บุคคลที่มิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดอยู่ก่อนให้หลงกระทำความผิด การดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อขยายผลจับกุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย
               เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในขณะกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้าโดยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองจึงไม่ต้องมีหมายจับ ส่วนการที่ผู้จับกุมไม่ใส่กุญแจมือจำเลยย่อมเป็นดุลพินิจในการใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้หลบหนี
               ความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมีผู้ร่วมกระทำความผิดสองคน ซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในหลายท้องที่จากที่ผู้ต้องหาคนหนึ่งนำยาเสพติดให้โทษติดตัวในขณะเดินทางผ่านอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อต่อมายังกรุงเทพมหานคร
               เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคนแรกได้ก่อนในท้องที่ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วซึ่งเป็นท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้ก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมควบคุมตัวจำเลยและ ท. พร้อมด้วยยาเสพติดให้โทษของกลางส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วทำการสอบสวน จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4337/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 19, 24(1), 120
              เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขน จับกุม ว. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งเป็นของกลาง จึงได้วางแผนให้ ว. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลย และ ป. อีก จนจับกุมจำเลย และ ป. ได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ซึ่งเป็นท้องที่ที่ ว. โทรศัพท์ล่อซื้อ และสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยและ ป. พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน
              ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1756/2550
ป.อ. มาตรา 32
ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19, 120
              เจ้าพนักงานตำรวจ สน.บางบอน จับกุม ศ. และ ช. ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ในท้องที่ สน.บางบอน จากการขยายผลทราบว่าบุคคลทั้งสองซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 ที่บ้านซึ่งอยู่ในท้องที่ สน.แสมดำ
              เจ้าพนักงานตำรวจจึงขอหมายค้นต่อศาลชั้นต้น แล้วจึงไปค้นบ้านจำเลยที่ 2 เมื่อเข้าไปภายในบ้านพบจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันกับบุคคลอื่นอีก 7 คน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 500 เม็ด และจับพวกจำเลยเจ็ดคน พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองคนละ 10 เม็ด บุคคลทั้งเจ็ดรับว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และนำส่งพนักงานสอบสวน สน.บางบอน ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
              การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องจึงเกิดในท้องที่ สน.แสมดำ ทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับ ศ. และ ช. ดังนั้น แม้ ศ. และ ช. ถูกจับในท้องที่ สน.บางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องก็หาใช่ความผิดที่เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) ไม่ แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องคดีนี้ปรากฏชัดแจ้งว่าเกิดในท้องที่ สน.แสมดำ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน สน.แสมดำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) ที่จะเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ได้ มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน สน.บางบอน ที่สอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
            การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ถอนฎีกาไปแล้วได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
            ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ทั้งเป็นทรัพย์ที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ จึงต้องริบเมทแอมเฟตามีนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ตาม

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๗๙๓/๒๕๕๕
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
               โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน ๑๖ เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยมิได้บรรยายว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วย
               จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีน ๑๖ เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครอง ๑๖ หน่วยการใช้ หรือมีจำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป
               กรณีไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒)
               ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๒๒๗/๒๕๕๓
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ , ๖๖ วรรคหนึ่ง
              จำเลยมีแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน ๑๕ เม็ด (หน่วยการใช้) คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๓๓๙ กรัม (ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม)
              แม้จำนวนหน่วยการใช้จะมีปริมาณตามที่กำหนดในมาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒) ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ก็มิได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีเมทแอมเฟตามีนจำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปไว้
              เมื่อคำนวนเป็นสารบริสุทธิ์แล้วมีปริมาณไม่ถึงตามที่กำหนด จึงต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปีหรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย
              ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๐๓/๒๕๔๒
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง
              โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพ และคดีนี้มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง แต่จำเลยย่อมฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง บัญญัติว่า "การผลิต นำเข้าส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ คำนวณ เป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ให้ถือว่า ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย" จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำนวน ๕๐ เม็ด น้ำหนักรวม ๔.๑๒ กรัม จำเลยจึงน่าจะมีความผิดเพียงฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้นได้
              ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง ในปริมาณซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ ๒๐ กรัม ขึ้นไป เป็นปริมาณที่มาก จนกระทั่งกฎหมายเห็นว่า การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองในปริมาณดังกล่าวผู้กระทำน่าจะมีเจตนามิใช่เพื่อการใช้อย่างปกติทั่วไปคือเพื่อเสพ แต่น่าจะมีเจตนาพิเศษคือเพื่อจำหน่าย กฎหมายจึงสันนิษฐานโดยให้ถือว่าการกระทำในปริมาณดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อจำหน่าย
              แม้จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพียง ๔.๑๒ กรัม ทั้งมิได้คำนวณเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์ จะไม่เข้าข้อสันนิษฐานของบทกฎหมายที่ว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นเพราะจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนมากถึง ๕๐ เม็ด และมีพฤติการณ์ว่าน่าจะมีไว้เพื่อจำหน่าย
             ในชั้นสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่ามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพ และในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยก็ให้การรับสารภาพเช่นเดิมอีก เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว เชื่อว่าจำเลยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง จึงได้ลงโทษตามพยานหลักฐานที่พิจารณาได้ความเช่นนี้ ศาลล่างทั้งสองหาได้ลงโทษโดยนำข้อสันนิษฐานของกฎหมายมาปรับใช้ไม่ ดังนี้ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองจึงชอบแล้ว

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

จำหน่ายยาเสพติดให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๓๔/๒๕๕๙
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔
             จำเลยฎีกาว่า นาย ธ. ฝากเงิน ๓๐๐ บาท ให้จำเลยไปซื้อเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด มาเสพด้วยกัน หลังจากจำเลยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาได้แล้ว จึงมอบเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่นาย ธ. ไปนั้น
             โจทก์มีนาย ธ. เป็นพยานเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยมาหาพยานที่ห้องพักเพื่อเสพเมทแอมเฟตามีนด้วยกัน จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่พยาน พยานจึงเสพเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจค้นห้องพัก และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนได้จากตัวจำเลย ๑๑ เม็ด พยานแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบว่าได้เมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด มาจากจำเลย และพยานให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่พยาน เห็นว่า นาย ธ. เบิกความสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งคำให้การดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ ทั้งให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังจากเกิดเหตุเพียง ๑ วัน ยังไม่ทันที่นาย ธ. มีเวลาคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้ผิดเพี้ยนไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่านาย ธ. ให้การในชั้นสอบสวนไปตามความเป็นจริง ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนอันจะเป็นเหตุจูงใจให้พนักงานสอบสวนต้องบันทึกคำให้การให้แตกต่างไปจากคำให้การของนาย ธ. เพื่อปรักปรำจำเลยให้ต้องโทษแต่อย่างใด เชื่อว่านาย ธ. เบิกความตอบคำซักถามของโจทก์แต่แรกไปตามความเป็นจริง
             ที่จำเลยอ้างว่านาย ธ. ฝากเงินจำเลยไปซื้อเมทแอมเฟตามีนนั้นเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด มาแบ่งให้นาย ธ. เสพ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ยาเสพติดแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นโดยวิธีการให้ อันเป็นการจำหน่ายตามบทนิยามคำว่า "จำหน่าย" ตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ แล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และที่จำเลยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๐๕/๒๕๕๕ มาเทียบเคียงกับคดีนี้ เพื่อสนับสนุนว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานนี้นั้น คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจเทียบเคียงกันได้
             ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วยแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๓๕/๒๕๕๙
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖
              พฤติการณ์ของจำเลยที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่ บ. หลังจากนั้นแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ บ. ส. ท. และ ร. คนละ ๑/๔ เม็ด เพื่อนำไปเสพอีก และจำเลยก็เสพในเวลาต่อเนื่องกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะเสพด้วย จึงแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าว เพื่อจะเสพพร้อมกับจำเลย
              กรณีไม่ใช่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าวเพื่อให้แต่ละคนไปเสพเพียงลำพังภายหลัง จึงเป็นการมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน มิใช่มีเจตนาแจกจ่ายให้แก่บุคคลดังกล่าว
              การกระทำของจำเลยหาได้อยู่ในความหมายของคำว่า "จำหน่าย" ตามความในมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๐๕/๒๕๕๕
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔
             แม้โจทก์มีนาย ว. และนาย ส. เป็นประจักษ์พยาน เบิกความยืนยันว่า พยานซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาเสพ แต่ก็ต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง เพราะนาย ว. และนาย ส. ต่างเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า พยานเคยเสพเมทแอมเฟตามีนกับจำเลย ทั้งนาย ส. เบิกความต่อไปว่า ในช่วงที่พยานเสพเมทแอมเฟตามีน พยานไม่เคยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ส่วนที่นาย ว. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในเดือนมกราคม ๒๕๔๖ พยานถามจำเลยว่า "มียาบ้าเสพหรือไม่" จำเลยบอกว่า ให้เอาเงินมา ๑๒๐ บาท แล้วจำเลยได้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาให้พยาน จึงเป็นกรณีที่จำเลยช่วยซื้อเมทแอมเฟตามีนให้นาย ว. เพื่อนำมาเสพด้วยกันเหมือนเช่นเคย หาใช่จำเลยมีเจตนาขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือให้ อันจะต้องด้วยบทนิยามศัพท์ของคำว่า "จำหน่าย" ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔ ไม่ คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่นาย ว. และนาย ส. เมื่อโจทก์ไม่มีพยานแวดล้อมอื่นประกอบ ลำพังคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนจะนำมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๘๗๕/๒๕๕๓
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๔)
              โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า  ข้อ ๑  เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๓ กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ร่วมกันกระทำความผิด กล่าวคือ
              (ก) จำเลยที่ ๓ มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำนวน ๑๐ เม็ด น้ำหนัก ๐.๙๑ กรัม คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๒๒๑ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
             (ข) จำเลยที่ ๓ จำหน่ายโดยการให้เมทแอมเฟตามีน จำนวน ๑๐ เม็ด ดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยไม่ได้รับอนุญาต และ
             (ค) จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีน จำนวน ๑๐ เม็ด น้ำหนัก ๐.๙๑ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
               ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยที่ ๑ ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ และที่่ ๒ นำไปส่งมอบต่อให้แก่ลูกค้า  โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ ๓ ที่ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ถือเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องข้อ ๑ (ข) ด้วย
               เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๓ ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ และที่่ ๒ นำไปส่งมอบต่อให้แก่ลูกค้านั้น เป็นการกระทำในระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำหน่าย เพราะการจำหน่ายหมายถึงการจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำผิดด้วยกัน จำเลยที่ ๓ จึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องข้อ ๑ (ข) แต่มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องข้อ ๑ (ก) เท่านั้น

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๙/๒๕๕๔
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ (มาตรา ๓, ๒๙, ๓๑)
              เงิน ๑๖๖,๕๐๐ บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๒ เครื่อง และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ป-๙๔๙๑ สุพรรณบุรี เป็นทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตํารวจตรวจยึดได้จากการจับกุมผู้คัดค้านที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานตํารวจแจ้งข้อหาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ว่า มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด"
              ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา ๓ ให้บทนิยมคําว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทําความผิดดังกล่าวด้วย และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น...” มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคําร้องต่อศาลตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง ให้ศาลไต่สวนหากคดีมีมูลว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ศาลริบทรัพย์สินนั้น...”
               การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมิได้อยู่ในความหมายของคําว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ในอันที่จะขอให้ริบเงิน ๑๖๖,๕๐๐ บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๒ เครื่อง และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ สีแดง หมายเลขทะเบียน ป–๙๔๙๑ สุพรรณบุรี ตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคําร้องขอให้ริบทรัพย์สินทั้ง ๔ รายการดังกล่าว ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา ๒๙, ๓๑
               ส่วนทรัพย์สินอีก ๒ รายการ คือเงิน ๗๐๘,๓๒๐ บาท และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน(ป้ายแดง) ก-๐๑๕๘ สุพรรณบุรี ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ครั้งที่ ๒ โดยเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น คดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทรัพย์สินทั้ง ๒ รายการดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามบทนิยามของมาตรา ๓
               มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมีเหตุอันควรต้องริบตามมาตรา ๒๙ หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านทั้งสองประกอบอาชีพหลายอย่าง ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ต่อปีนับจำนวนหลายแสนบาท รถยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสิ่งเกินความจำเป็นของการใช้งาน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่ารถยนต์ดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๒ มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริต ทรัพย์สินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันจะพึงริบได้
               สำหรับเงินอีก ๗๐๘,๓๒๐ บาท นั้น ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่าเป็นเงินที่เบิกถอนจากธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) สาขาอู่ทอง แต่ตามสำเนาบัญชีเงินฝากดังกล่าวไม่มีรายการเบิกถอนจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวในยอดเงินที่ใกล้เคียงกับจำนวน ๗๐๘,๓๒๐ บาท แต่อย่างใด และเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงเมื่อไม่ปรากฏที่มาของเงินที่ชัดเจน จึงต้องถือว่าเงิน ๗๐๘,๓๒๐ บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริต ซึ่งต้องริบเสีย

วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ระยะเวลาส่งของกลางตรวจพิสูจน์และวิธีพิจารณาคดียาเสพติด

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐

หมวด ๒   การสอบสวน
              "มาตรา ๑๑   ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดสิ่งของไว้ตามกฎหมายและอ้างว่าเป็นยาเสพติด  ให้พนักงานสอบสวนส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในสามวันทำการนับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางในคดี เพื่อให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์และทำความเห็นเป็นหนังสือรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เว้นแต่ มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ไม่อาจส่งสิ่งของที่ยึดนั้น ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ โดยให้บันทึกเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย"

หมวด ๓   วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น
              "มาตรา ๑๒  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งจำเลยมีทนายความ ถ้าปรากฏว่าจำเลยคนใดจงใจไม่มาศาลหรือหลบหนี และมีความจำเป็นเพื่อมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือยากแก่การนำมาสืบในภายหลัง เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร ก็ให้ศาลมีอำนาจสืบพยานหลักฐานลับหลังจำเลย แต่ต้องให้โอกาสทนายความของจำเลยที่จะถามค้านและนำสืบหักล้างพยานหลักฐานนั้นได้"

              "มาตรา ๑๓  ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หรือคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง"

กฎกระทรวง 
กำหนดคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่พนักงานสอบสวน
ต้องส่งสิ่งของที่อ้างว่าเป็นยาเสพติดและได้ยึดไว้ไปตรวจพิสูจน์ พ.ศ. ๒๕๕๕ 
           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
          ให้คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดดังต่อไปนี้ในฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าว เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา ๑๑
          (๑) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
                (ก) เฮโรอีน น้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมขึ้นไป
                (ข) เมทแอมเฟตามีน ตั้งแต่หนึ่งหมื่นเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมขึ้นไป
                (ค) เมทิลลีนไดออกซีแอมเฟตามีน ตั้งแต่หนึ่งพันเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่สองร้อยห้าสิบกรัมขึ้นไป
                (ง) ๓, ๔ - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ตั้งแต่หนึ่งพันเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่สองร้อยห้าสิบกรัมขึ้นไป
                (จ) เอ็น เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี ตั้งแต่หนึ่งพันเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่สองร้อยห้าสิบกรัมขึ้นไป
          (๒) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
                (ก) โคคาอีน น้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมขึ้นไป
                (ข) ฝิ่น น้ำหนักตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป
          (๓) วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
                (ก) มิดาโซแลม ตั้งแต่ห้าร้อยเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป
                (ข) คีตามีน น้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมขึ้นไปหรือปริมาตรตั้งแต่หนึ่งลิตรขึ้นไป

                                                                  ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
                                                                                   ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
                                                                                      นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ.- ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ก ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้พนักงานสอบสวนส่งสิ่งของที่ยึดไว้ตามกฎหมายและอ้างว่าเป็นยาเสพติดภายในสามวันทำการนับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางในคดี เพื่อให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์และทำความเห็นเป็นหนังสือรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การประสานงานคดียาเสพติดรายสำคัญ

ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ว่าด้วย แนวทางการประสานงานคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๓
สรุปโดยย่อมีดังนี้. 
             “คดียาเสพติดรายสำคัญ” หมายความว่า คดียาเสพติดที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
              (๑)  คดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดฐาน ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นของกลางและมีปริมาณ หรือน้ำหนักอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
                  ๑. เฮโรอีน  น้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๒. เมทแอมเฟตามีน  ตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๓. ไอซ์  น้ำหนักตั้งแต่ ๒๐๐ กรัมขึ้นไป
                  ๔. เอ็กซ์ตาซี่ (ยาอี)  ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เม็ดหรือน้ำหนักตั้งแต่ ๒๕๐ กรัมขึ้นไป
                  ๕. โคเคน  น้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๖. ฝิ่น   น้ำหนักตั้งแต่ ๑๐ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๗. กัญชา  น้ำหนักตั้งแต่ ๑๐๐ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๘. คีตามีน  น้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๙. มิดาโซแลม  ตั้งแต่ ๕๐๐ เม็ดขึ้นไป
            (๒)  คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐาน สมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔
            (๓)  คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีการดำเนินงานเป็นเครือข่าย หรือเป็นขบวนการ หรือเป็นองค์กรอาชญากรรม และเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ปราบปรามว่าเป็นรายสำคัญ
            (๔)  คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นนักการเมือง หรือเป็นผู้มีอิทธิพล หรือเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ
            (๕)  คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอื่น ๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเป็นรายสำคัญ และมอบให้ดำเนินการ
ส่วนที่ ๒  ชั้นจับกุม
                *  การจัดทําบันทึกการจับกุม ให้ผู้จับกุมหลีกเลี่ยงการนําแบบพิมพ์ที่มีช่องสําหรับกาเครื่องหมายหรือข้อความเกี่ยวกับพฤติการณ์การจับกุมมาใช้ในการจัดทําบันทึกการจับกุม
                    ให้ผู้จับกุมแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ผู้ต้องหาทราบ และนอกจากคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทําความผิดให้บันทึกถ้อยคําอื่นเกี่ยวกับการกระทําความผิดของผู้ต้องหาไว้โดยละเอียด เพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา
                    กรณีการจับกุมผู้กระทําความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ให้บันทึกว่าเป็นการจับกุมผู้ต้องหาตามกฎหมายข้างต้น
                    หากผู้จับกุมใช้อํานาจในฐานะเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ควบคุมผู้ถูกจับไว้เพื่อทําการสอบสวนตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ให้บันทึกการใช้อํานาจการควบคุมตัวในฐานะเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดังกล่าวให้ปรากฏในบันทึกการจับกุมด้วย   (ข้อ ๖)
               *  ให้ผู้จับกุมทุกคนตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทําบันทึกการจับกุมก่อนลงลายมือชื่อ โดยผู้ที่จะลงลายมือชื่อในฐานะที่เป็นผู้จับกุมจะต้องเป็นผู้ที่ร่วมทําการจับกุมผู้ต้องหาในขณะที่มีการจับกุมจริง ส่วนผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมทําการจับกุม เช่น ผู้อํานวยการหรือผู้ช่วยเหลือในการจับกุมให้ลงชื่อในฐานะนั้นได้   (ข้อ ๗)
               *  ผู้จับกุมที่จะให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะเป็นพยานผู้จับกุม จะต้องเป็นผู้ที่ร่วมทําการจับกุมผู้ต้องหาในขณะที่มีการจับกุมจริง รวมทั้งทราบรายละเอียดและพฤติการณ์ในการจับกุมเป็นอย่างดี   (ข้อ ๘)
               *  ในกรณีที่ผู้จับกุมถูกจําเลยอ้างเป็นพยานในศาล ให้ทําบันทึกรายงานข้อเท็จจริงเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบ พร้อมทั้งส่งสําเนาบันทึกการรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวให้พนักงานอัยการทราบล่วงหน้าก่อนวันสืบพยาน และไปพบพนักงานอัยการในกรณีที่ได้รับแจ้งให้ไปพบ  (ข้อ ๙)
               *  การจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสําคัญ ให้ผู้จับกุมจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะบันทึกการจับกุมและซักถามผู้ต้องหา รวมทั้งบันทึกภาพสถานที่จับกุมยาเสพติดและของกลางอื่น ๆ ซึ่งสามารถนําออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นหลักฐานเท่าที่สามารถกระทําได้  (ข้อ ๑๐)

เมื่อผู้ถูกจับประสงค์จะให้ข้อมูลที่สำคัญ

ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ว่าด้วย แนวทางการประสานงานคดียาเสพติด พ.ศ.2553
ส่วนที่ 8  การดำเนินการตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522)

           *  เมื่อผู้ถูกจับประสงค์จะให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ให้ผู้ถูกจับบันทึกรายละเอียดแห่งข้อมูลด้วยตนเองและลงลายมือชื่อไว้ หากผู้ถูกจับไม่อาจบันทึกข้อมูลเองได้ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้บันทึกข้อมูลแล้วลงลายมือชื่อของผู้ถูกจับ ผู้บันทึกและพยาน  (ถ้ามี)
              ให้ผู้จับกุมรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น ในการพิสูจน์หรือยืนยันว่า เป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ส่งบันทึกรายละเอียดการให้ข้อมูลของผู้ถูกจับและบันทึกการจับกุม พร้อมพยานหลักฐานจากการนำข้อมูลที่ให้หรือเปิดเผยไปใช้ขยายผล ให้พนักงานสอบสวน
          *  ให้พนักงานสอบสวนบันทึกคำให้การ เกี่ยวกับการให้หรือเปิดเผยข้อมูลสำคัญของผู้ต้องหา รวมถึงบันทึกผลการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ขยายผลการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ไว้ในสำนวนการสอบสวน โดยให้สอบสวนผู้ต้องหาในฐานะเป็นพยานในคดีที่สามารถขยายผลการจับกุมได้
              ในกรณีผู้ต้องหาได้ให้ข้อมูลไว้ ในชั้นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้ทำการจับกุม ให้ทำการสอบสวนหรือสอบปากคำพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดในการพิสูจน์ความผิดและพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ไว้ในสำนวนการสอบสวน และทำความเห็นเกี่ยวกับการให้หรือเปิดเผยข้อมูลของผู้ต้องหาไว้ในสำนวนการสอบสวน แล้วส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
          *  ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่า ผู้ต้องหาได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันนำไปสู่การขยายผลการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เช่น การจับกุมเครือข่ายยาเสพติดตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นอย่างไรหรือไม่
              ถ้าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ให้พนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนหรือรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันนำไปสู่การขยายผลปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวน อย่างไร หรือไม่
              กรณีที่พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและมีเหตุผลอันสมควร ให้พนักงานอัยการบรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
          *  กรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ได้รับข้อมูลจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของผู้ต้องหาอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขยายผลการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษได้ในภายหลังจากที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมหรือขยายผลหรือพนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการทราบเพื่อพนักงานอัยการพิจารณาแจ้งข้อเท็จจริงให้ศาลทราบต่อไป


ข้อกฎหมาย.-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
          มาตรา 100/2  ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใด ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2565

                หลังจากจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด ที่ล่อซื้อจากจำเลยบริเวณข้างบ้านที่เกิดเหตุ มีการตรวจค้นบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ในระหว่างนั้น จำเลยให้ข้อมูลว่า ยังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนฝังดินไว้ พร้อมทั้งพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ และขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1,000 เม็ด บริเวณไร่อ้อยห่างจากหลังบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ทั้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ข้อมูลจากจำเลย ก็จะไม่สามารถตรวจค้นเจอยาเสพติดของกลางนั้น  
                  เห็นว่า หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยซุกซ่อนไว้ และพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,600 เม็ด เจ้าพนักงานคงไม่สามารถตรวจพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ ถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยหาจำต้องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น และมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษที่เกิดจากการรู้สึกความผิด หรือลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันควรได้รับการลดโทษตามความแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8358/2554
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 , ให้ข้อมูลเจ้าพนักงาน (มาตรา 102/2)

              หลังจากที่เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน จำนวน 1,750 เม็ดของกลางแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ว่า รับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 2 พร้อมกับนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด เป็นของกลางอีก เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 1,752 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 
               นับว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4143/2554
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2554)

              การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่
              คดีนี้ แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจับกุมจำเลยได้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ว่า ยังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่บ้านของจำเลยพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 700 เม็ด กับจำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลย และพนักงานสอบสวน ถึงเส้นทางในการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นต่อไปด้วยนั้นก็ตาม แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ส่วนที่จำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนนั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นมาดำเนินคดีโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด
             ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

(Update 16/03/2023)

กฎกระทรวง ว่าด้วย การขออนุมัติจับกุม มาตรา ๖ , ๘

กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕)
ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปราม
ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔

            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
            ข้อ ๑  การขออนุมัติจับกุมผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้เป็นหัวหน้าในการสืบสวน ซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรี หรือเป็นข้าราชการพลเรือนตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป หรือหัวหน้าพนักงานสอบสวน ยื่นคำขออนุมัติจับกุมต่อเลขาธิการ
                  คำขอตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุชื่อผู้กระทำผิดซึ่งประสงค์จะขอจับกุม รวมทั้งระบุข้อหาให้ชัดแจ้ง และให้ยื่นคำขอพร้อมกับเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
                     (๑) บันทึกแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งความผิดและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
                     (๒) รายงานการสืบสวน เกี่ยวกับพฤติการณ์และสถานภาพส่วนบุคคลของผู้กระทำความผิดที่ขออนุมัติจับกุมนั้น เช่น ประวัติบุคคลหรือประวัติอาชญากร
                     (๓) พยานหลักฐานอื่น ที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดในข้อหาที่ขออนุมัติจับกุม
            ข้อ ๒  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ เป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกจับกุมในความผิดอื่น ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนดำเนินคดีในความผิดอื่นนั้น รายงานหัวหน้าพนักงานสอบสวน และให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนยื่นคำขออนุมัติแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ แก่ผู้นั้น ต่อเลขาธิการโดยเร็ว
                 ให้นำความในวรรคสองของข้อ ๑ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำขออนุมัติแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม
            ข้อ ๓  ในการพิจารณาคำขอ เลขาธิการอาจเรียกให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้ทำการ สืบสวน พนักงานสอบสวน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาได้
            ข้อ ๔  ให้เลขาธิการพิจารณาคำขออนุมัติตามข้อ ๑ หรือข้อ ๒ ให้แล้วเสร็จภายในห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจะขยายเวลาออกไปอีกได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินห้าวัน โดยต้อง บันทึกเหตุจำเป็นดังกล่าวไว้ด้วย
                 เมื่อเลขาธิการได้มีคำสั่งประการใดแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขออนุมัติทราบโดยไม่ชักช้า หรือจะให้ผู้ขออนุมัติลงลายมือชื่อรับทราบในคำสั่งนั้นก็ได้
           ข้อ ๕  ในกรณีที่ได้รับอนุมัติจากเลขาธิการ ให้ผู้ขอรับอนุมัติรีบดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติแล้ว รายงานให้เลขาธิการทราบโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติ นั้น
             ในกรณีไม่สามารถดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งอนุมัติ ก็ให้รายงานเลขาธิการทราบโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามวันนับแต่วันที่ครบกำหนดดังกล่าว
           ข้อ ๖  ในการรายงานตามข้อ ๕ ให้รายงานด้วยว่ามีหรือได้รับข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สิน ของผู้กระทำผิดตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ที่ถูกจับกุม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ของบุคคลดังกล่าวหรือไม่อย่างใด
                 การรายงานข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ทุกขณะที่ได้รับข้อมูลหรือหลักฐาน
           ข้อ ๗ ในกรณีที่มีการออกหมายจับ ให้ผู้ขออนุมัติส่งสำเนาหมายจับให้เลขาธิการทราบโดยเร็ว
           ข้อ ๘ คำขออนุมัติ หนังสือแจ้งคำสั่งอนุมัติ และรายงานต่าง ๆ ตามกฎกระทรวงนี้ให้เป็นไปตามแบบที่สำนักงานกำหนด

                                                         ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕
                                                                   (ลงชื่อ) อานันท์ ปันยารชุน
                                                                            (นายอานันท์ ปันยารชุน)
                                                                                   นายกรัฐมนตรี

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๕๕ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๓๕)

บรรยายฟ้อง ความผิดหลายกรรม

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  3379/2554
ป.อ. หลายกรรม (มาตรา 91)
ป.วิ.อ. บรรยายฟ้อง  (มาตรา 158 (5))
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา  ๑๕, ๖๖, ๖๗
              โจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จํานวน ๑,๔๐๓ เม็ด คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๓๔.๒๐๒ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย แต่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย จํานวน ๑,๔๐๐ เม็ด และจำเลยที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จํานวน เม็ด
              แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่า เมทแอมเฟตามีนทั้งสองจํานวน คํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด แต่เมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนก็เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนจํานวน ๑,๔๐๓ เม็ดของกลาง ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จึงลงโทษจําเลยทั้งสองตามมาตรา ๖๖ วรรคสาม และลงโทษจําเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๖๗ ได้
             ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จําเลยที่ ๒ ร่วมกับจําเลยที่ ๑ มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายจำนวน ๑,๔๐๓ เม็ด และจําเลยที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีน จํานวน ๓ เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้อนุญาต เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
             แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ มีเมทแอมเฟตามีน จํานวน ๑,๔๐๓ เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายเพียงกรรมเดียว โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการกระทําของจําเลยที่ ๒ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และมิได้มีคําขอให้เรียงกระทงลงโทษ จึงลงโทษจําเลยที่ ๒ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ของกลางอันพึงต้องริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๖๙๘/๒๕๕๕
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ (๒) วรรคสาม, ๖๖ วรรคหนึ่ง, ๑๐๒
ป.อ. มาตรา ๓๒ , ๓๓ (๒)
                  จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อขายเมทแอมเฟตามีนโดยนัดส่งมอบบริเวณที่เกิดเหตุ ต่อมา จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปบริเวณที่เกิดเหตุ และเจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางได้ที่ตัวจำเลย โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒
                ส่วนรถจักรยานยนต์ของกลาง ทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำมาใช้เป็นยานพาหนะสำหรับการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ค้นพบเมทแอมเฟตามีนที่รถจักรยานยนต์ของกลาง ดังนี้ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้เดินทางมายังที่เกิดเหตุ ไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒ , ๓๓ (๒) จึงไม่อาจริบได้

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๑๖๘/๒๕๕๔
ป.อ.  ริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทําความผิด (มาตรา ๓๓)
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ (มาตรา ๑๐๒)
               จำเลยที่ ๑ ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองมีปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์ถึง ๑๑๗.๑๐๗ กรัม เกินกว่า ๓๗๕ มิลลิกรัม จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒) ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
               จําเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจําเลยที่ ๒ นั่งซ้อนท้าย ระหว่างที่จำเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีเจ้าพนักงานตํารวจ จําเลยที่ ๒ ได้โยนห่อเมทแอมเฟตามีนทิ้งข้างทาง ไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ ๑ ได้ดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์เพื่อซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนแต่อย่างใด รถจักรยานยนต์จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทําความผิดฐานมีแมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิอาจริบรถจักรยานยนต์ของกลางได้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓
               ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาริบรถจักรยานยนต์ของกลางมานั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง โดยเห็นสมควรให้คืนแก่เจ้าของได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๒๔/๒๕๕๔                                                  
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  (มาตรา ๑๐๒)
              จําเลยทั้งสองร่วมกันใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อจําหน่ายกัญชาของกลาง และใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะนํากัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ จํานวน ๒ แท่ง น้ำหนัก ๒,๐๗๗.๓๓ กรัม ตกลงซื้อขายกัญชากันในราคา ๕๒,๐๐๐ บาท นัดส่งมอบในวันเกิดเหตุที่บ้านเกิดเหตุ ดาบตํารวจ ช.  กับสายลับไปที่บ้านของจําเลยที่ ๑ นําเงินให้จำเลยที่ ๑ ดู แล้วจำเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์ออกไป
              ต่อมา จําเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์กลับมา มีจำเลยที่ ๒ นั่งซ้อนท้าย จำเลยที่ ๒ ขอดูเงิน จากนั้น จําเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์พาจําเลยที่ ๒ ไปนานประมาณ ๓๐ นาที จึงกลับมา ลงจากรถจักรยานยนต์นํากระสอบปุ๋ยซึ่งบรรจุกัญชาของกลางส่งมอบให้ดาบตํารวจ ช.
              ฟังได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ ซึ่งจําเลยทั้งสองร่วมกันใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับการจําหน่ายกัญชาโดยตรง โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่พึงต้องริบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๑๐/๒๕๕๓
ป.อ. ขอคืนของกลาง  (มาตรา ๓๓)
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
             การที่จำเลยที่ ๒ เป็นหลานภริยาของผู้ร้องและพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับผู้ร้อง กับการที่จำเลยที่ ๒ ใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นประจำ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ไม่น่าเชื่อว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ จะขอยืมรถยนต์กระบะของกลางไปใช้ดังที่ผู้ร้องนำสืบกล่าวอ้าง เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหลานภริยานำรถยนต์กระบะของกลางดังกล่าวไปใช้ตลอดเวลาตามที่จำเลยที่ ๒ ต้องการใช้ โดยผู้ร้องมิได้คำนึงถึงว่าจำเลยที่ ๒ จะนำรถไปใช้ในกิจการใด
             เมื่อจำเลยที่ ๒ นำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเช่นนี้ ย่อมถือว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามโดยปริยายแล้ว

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อายุความในคดียาเสพติด

พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐

             มาตรา ๒๒   ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สำหรับฐานความผิดซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสามสิบปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
             ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วผู้กระทำความผิดวิกลาจริตและศาลสั่งงดการพิจารณาหรือหลบหนีจนเกินกำหนดตามวรรคหนึ่งแล้ว นับแต่วันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา หรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

              มาตรา ๒๓   ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตผู้ใด และผู้นั้นยังมิได้รับโทษหรือได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนเพราะหลบหนี  ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษเกินกำหนดเวลาสามสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
                (๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
                (๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
                (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
                (๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
                (๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
              ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

(ข้อพิจารณา.- โทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ในคดีอาญาทั่วไป มีอายุความ ๒๐ ปี แต่ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเฉพาะจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต มีอายุความ ๓๐ ปี)
(Update:23/7/61)

วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฐานผลิตยาเสพติดให้โทษโดยวิธีการแบ่งบรรจุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4062/2549
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 65
              ความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 4 คำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุงแปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดผลิตนำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
               แสดงว่าการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ว่าจะเป็นการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ล้วนเป็นการกระทำที่เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อสังคมเพราะเป็นบ่อเกิดแห่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ทำให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีอยู่อย่างแพร่หลาย ยากที่จะปราบปรามให้หมดสิ้นไปได้ กฎหมายจึงได้กำหนดโทษไว้สูงถึงจำคุกตลอดชีวิต ย่อมเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดโทษความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมจากการกระทำความผิดโดยการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ว่าจะด้วยการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นการกระทำที่มีลักษณะที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงต่อไป
              เมื่อกฎหมายมีความมุ่งหมาย เช่นนี้ คำว่า “ผลิต” ที่กฎหมายบัญญัติให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุด้วยนั้น จึงต้องหมายถึงการกระทำอันมีลักษณะที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมในทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด โดยแยกเป็นเมทแอมเฟตามีนที่บรรจุใส่หลอดกาแฟแล้ว 5 เม็ด และเป็นเมทแอมเฟตามีนที่รอการบรรจุอีก 22 เม็ด กับเทียนไข 1 เล่ม หลอดกาแฟตัดสั้นขนาดยาวประมาณ 2 เซนติเมตร 22 อัน เป็นของกลาง การนำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวใส่หลอดกาแฟซึ่งเป็นเพียงวัตถุห่อหุ้มโดยไม่ได้มีการกระทำใด ๆ แก่สภาพของเมทแอมเฟตามีนนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3814/2549
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 225, 245 วรรคสอง
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4
            มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ให้บทนิยามคำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันแบ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางใส่ในหลอดกาแฟโดยยังมีหลอดกาแฟหลายหลอดที่เตรียมไว้เพื่อการแบ่งบรรจุเช่นนี้ ถือว่าเป็นการผลิตตามบทนิยามในมาตรา 4 ดังกล่าว
            ในฟ้องข้อ 1 ก  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันผลิตโดยแบ่งบรรจุและมีเมทแอมเฟตามีน 246 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เห็นว่า คำว่า "เพื่อจำหน่าย" นั้นโจทก์ได้บรรยายมุ่งถึงข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง มิใช่ข้อหาผลิตเมทแอมเฟตามีน  ทั้งในฟ้องข้อ 2  ก็ได้บรรยายย้ำว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิต และมีไว้เพื่อจำหน่าย และที่เหลือจากการจำหน่ายกับจำหน่ายด้วย  จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายข้อหาผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายมาในฟ้องแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย และลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
            ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยที่ 1 และที่ 3 คงมีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น แม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 เนื่องจากต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาไปตลอดถึงจำเลยที่ 2 ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
           พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (เดิม), 65 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83  การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุ และฐานมีเมทแอมเฟตามีนกับเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนกับเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

บทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท ๑

บทบัญญัติความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ 

             "มาตรา ๗  ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
                  (๑)  ประเภท ๑ ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)
                  (๒)  …ฯลฯ... "

             "มาตรา ๑๕  ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
                การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
                การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
                  (๑) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
                  (๒) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
                  (๓) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ นอกจาก (๑) และ (๒) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป
               (มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๖๐)
               (หมายเหตุ.- โดยทั่วไป ยาบ้า ๑ เม็ด หนักประมาณ ๐.๐๙ กรัม หรือเก้าร้อยมิลลิกรัม มีสารบริสุทธิ์ ๐.๐๓ - ๐.๐๕ กรัม)

              "มาตรา ๕๗  ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๕"

              "มาตรา ๕๘/๑   ในกรณีจำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจตรวจ หรือทดสอบ หรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวอยู่ในร่างกายหรือไม่
               พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ตำแหน่งใด ระดับใด หรือชั้นยศใดจะมีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดำเนินการ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยทำเอกสารมอบหมายให้ไว้ประจำตัวพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายนั้น
               วิธีการตรวจหรือการทดสอบตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ในประกาศดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการเกี่ยวกับการแสดงความบริสุทธิ์ของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ และมาตรการเกี่ยวกับการห้ามเปิดเผยผลการตรวจหรือทดสอบแก่ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ปรากฏผลเบื้องต้นเป็นที่สงสัยว่ามียาเสพติดให้โทษอยู่ในร่างกาย จนกว่าจะได้มีการตรวจยืนยันผลเป็นที่แน่นอนแล้ว"
            (มาตรา ๕๘/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕)

            "มาตรา ๖๔  ในการนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ ต้องมีใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกนั้นมาพร้อมกับยาเสพติดให้โทษและต้องแสดงใบอนุญาตดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร กับต้องยินยอมให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษนั้นไว้
            ให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ นั้นไว้ในที่สมควรจนกว่าผู้ที่นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษจะนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร
            ในกรณีที่ผู้นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ ไม่นำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันนำเข้า ให้พนักงานศุลกากรรายงานให้เลขาธิการทราบ เลขาธิการมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง ในกรณีผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม ให้ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข"

วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ตรวจไม่พบเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะ

คำชี้ขาดความเห็นแย้ง ฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๔๒๕/๒๕๕๔)
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  (มาตรา ๔, ๗, ๘, ๕๗, ๙๑)
              ข้อเท็จจริงโดยย่อ เจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจปัสสาวะผู้ต้องหาเพื่อหาสารเสพติดเบื้องต้น พบสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ต้องหา เจ้าพนักงานตำรวจได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดลำพูน มีคำสั่งส่งมอบตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดลำพูน ได้มีคำวินิจฉัยกำหนดแผนการฟื้นฟูแบบไม่ควบคุมตัว แต่ต่อมา ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด จึงเห็นสมควรส่งคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี
              แม้ผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพว่า ได้เสพยาบ้า (เมทแอมเฟตามีน) มาก่อนถูกจับกุม และเมื่อตรวจสอบปัสสาวะของผู้ต้องหาในเบื้องต้นจะพบว่ามีผลบวก น่าเชื่อว่ามีสารเสพติดให้โทษอยู่ในปัสสาวะก็ตาม แต่ผลการตรวจปัสสาวะเบื้องต้นดังกล่าวยังไม่อาจยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาได้เสพเมทแอมเฟตามีน เมื่อต่อมา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจในขั้นยืนยันผลไม่พบเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะของผู้ต้องหา คดีจึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้ฟังว่า สิ่งที่ผู้ต้องหารับว่าได้เสพก่อนถูกจับกุมเป็นเมทแอมเฟตามีน อัยการสูงสุดจึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา

หลักฐานการบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๐๓/๒๕๕๕
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๑๕ , ๖๖)
               ในการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน หากรายใดจำเป็นต้องเตรียมเงินไว้ใช้ล่อซื้อย่อมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นสำคัญ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับในคดีนี้ไม่เตรียมเงินไว้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงยังไม่ถือเป็นข้อพิรุธ
               คดีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับเพียงปากเดียวเบิกความเป็นพยานว่า เป็นผู้ใช้สายลับโทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย แต่พยานไม่ได้บันทึกหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของสายลับไว้ รวมทั้งไม่นำบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์การติดต่อกันระหว่างสายลับกับจำเลยมาเป็นหลักฐาน ทั้งที่มีโอกาสจะแสวงหาพยานหลักฐานดังกล่าวมาประกอบคำเบิกความได้ และเมื่อพยานนำตัวจำเลยพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน ๒๐ เม็ด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๑ เครื่อง ไปมอบให้พนักงานสอบสวน ก็ไม่บอกให้พนักงานสอบสวนทราบถึงเรื่องที่สายลับกับจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกัน เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยตกลงขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับจริง พยานหลักฐานของโจทก์จึงบกพร่องไม่มั่นคงให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น  พิพากษายืน

การจับและค้นพบของกลางต่างท้องที่แต่แยกเป็นสองคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6900/2553
ป.อ. มาตรา 90
ป.วิ.อ. มาตรา 39
               เจ้าพนักงานตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ จับจำเลยได้ ขณะจำเลยขับรถมาจอดอยู่ในท้องที่และยึดได้เมทแอมเฟตามีน จำนวน 100 เม็ด เป็นของกลาง แล้วมีการสอบสวนขยายผลจนนำไปสู่การขอหมายค้นเพื่อตรวจค้นบ้านที่จำเลยพักอาศัยซึ่งอยู่ในเขตท้องที่ สน.ประชาชื่น ในวันเดียวกันและพบเมทแอมเฟตามีน จำนวน 26 เม็ด เจ้าพนักงานตำรวจแยกดำเนินคดีเป็น 2 คดี จึงรับฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีนทั้งสองส่วนก็คือเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกัน โดยจำเลยมีเจตนาครอบครองในคราวเดียวกัน แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะตรวจค้นได้ต่างสถานที่กันก็เป็นเพราะการแยกเก็บรักษาหรือซุกซ่อนเท่านั้น
               เหตุที่มีการตรวจค้นบ้านของจำเลยหลังจากนั้นหลายชั่วโมง เนื่องมาจากกระบวนการในการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ การขอหมายค้นรวมถึงการประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเจ้าของท้องที่ที่บ้านของจำเลย ลำพังการตรวจยึดได้ของกลางต่างเวลากัน ไม่ทำให้การที่จำเลยมีเจตนาครอบครองเมทแอมเฟตามีนทั้งสองส่วนไว้ในคราวเดียวกันกลายเป็นการกระทำต่างกรรมกัน ทั้งโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้รับเมทแอมเฟตามีนทั้งสองส่วนนั้นมาคนละคราว อันจะทำให้สามารถแยกเจตนาในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนนั้นได้ เช่นนี้ การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้กับในคดีหมายเลขแดงที่ ย.15362/2545 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว
               เมื่อจำเลยถูกดำเนินคดีในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 100 เม็ด และศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดดังกล่าวซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กฎกระทรวงว่าด้วยยาเสพติดที่ให้ฟื้นฟูฯ ได้ (พ.ศ.๒๕๔๖)

กฎกระทรวง
ว่าด้วย การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๖

              อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕  อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการ จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๒๓๗ และ มาตรา ๒๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

              ข้อ ๑  ลักษณะ ชนิด และประเภทของยาเสพติด สำหรับความผิดฐานเสพยาเสพติด ตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง มีดังต่อไปนี้
                  (๑)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ มี ๖ ชนิด ได้แก่
                         (ก)  เฮโรอีน
                         (ข)  เมทแอมเฟตามีน
                         (ค)  แอมเฟตามีน
                         (ง)  ๓,๔-เมทิลลิน ไดออกซิเมทแอมเฟตามีน
                         (จ)  เมทิลลีนไดออกซิแอมเฟตามีน
                         (ฉ)  เอ็น เอทิล เอ็มดิเอ หรือเอ็มดิอิ
                  (๒)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ มี ๒ ชนิด ได้แก่
                         (ก)  โคคาอีน
                         (ข)  ฝิ่น
                  (๓)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ มี ๑ ชนิด ได้แก่ กัญชา
                  (๔) * สารระเหยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย
                  ยาเสพติดให้โทษตาม (๑) และ (๒) ให้รวมถึงวัตถุที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น แต่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันกับยาเสพติดให้โทษดังกล่าว และเกล็ดใด ๆ ของยาเสพติดให้โทษดังกล่าวด้วย

              ข้อ ๒  ยาเสพติดตามข้อ ๑ สำหรับความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครอง ความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานเสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ต้องมีปริมาณดังต่อไปนี้
                  (๑)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑
                         (ก)  เฮโรอีนมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งร้อยมิลลิกรัม
                         (ข)  เมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม
                         (ค)  แอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม
                         (ง)  ๓,๔-เมทิลลินไดออกซิเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบมิลลิกรัม
                         (จ)  เมทิลลินไดออกซีแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบมิลลิกรัม
                         (ฉ)  เอ็น เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี มีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบมิลลิกรัม
                  (๒)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒
                         (ก)  โคคาอีนมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินสองร้อยมิลลิกรัม
                         (ข)  ฝิ่นมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าพันมิลลิกรัม
                  (๓)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ได้แก่ กัญชามีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าพันมิลลิกรัม ยาเสพติดให้โทษตาม (๑) และ (๒) ให้รวมถึงวัตถุที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น แต่มีสูตร โครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันกับยาเสพติดให้โทษดังกล่าว และเกล็ดใด ๆ ของยาเสพติดให้โทษดังกล่าวด้วย

                                             ให้ไว้  ณ  วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖

                                                                  (ลงชื่อ)     พงศ์เทพ เทพกาญจนา
                                                                              (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา)
                                                                            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

(หมายเหตุ.-  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๗ ก ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๖  *ส่วนข้อ ๑ (๔) เพิ่มเติมโดย กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด (ฉบับที่ ๒) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนที่ ๘๔ ก. ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑)

ขั้นตอนการดำเนินคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในชั้นสอบสวน

พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕  

               มาตรา ๑๙  ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด  เสพและมีไว้ในครอบครอง  เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือ  เสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ถ้าไม่ปรากฏว่า
                       -  ต้องหา หรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี ในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรือ
                       -  อยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล

              ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพ หรือการติดยาเสพติด
                เว้นแต่
                       -  มีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือ
                       -  จากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้
              ในการดำเนินการข้างต้น ถ้าผู้ต้องหามีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวส่งศาล เพื่อมีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน
               การส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด
                       -  ให้ศาลพิจารณาส่งตัวไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์ที่ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือ การควบคุมตัว ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
                       -  โดยคำนึงถึง อายุ เพศ และลักษณะเฉพาะบุคคลประกอบด้วย
                       -  แล้วให้ศาลแจ้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทราบ

              ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป และเมื่อสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ โดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาไปด้วย และแจ้งให้ทราบว่า ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวอยู่แห่งใด
               ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ ไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมาย

กรณียื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นผู้ใหญ่ที่ฟื้นฟูฯไม่ผ่าน

              เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหาเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป โดยกล่าวหาว่า “เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน)โดยผิดกฎหมาย” นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี และพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ และรับตัวผู้ต้องหา จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบเช่นเดียวกันกับชั้นจับกุม แล้วนำตัวผู้ต้องหาไปขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้”
               เมื่อพนักงานสอบสวนตรวจสอบประวัติเบื้องต้น ไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล พนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด และในระหว่างนั้น พนักงานสอบสวนก็ดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป และต้องรอผลคำวินิจฉัยจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อจะนำรวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวนเพื่อส่งไปยังพนักงานอัยการต่อไปด้วย ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมาย
              ถ้าหากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ได้ตรวจพบในภายหลังว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ซึ่งจะต้องส่งคืนให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามนัยมาตรา ๒๔ “ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ ว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป” 
              ในการปฏิบัติหลังจากพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาไปยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ได้เพียงวันเดียว ผู้ต้องหาก็ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปในระหว่างเข้ารับการตรวจพิสูจน์ โดยผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์อยู่ในอำนาจการพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติประจำจังหวัด เป็นเลขานุการ ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ไป ตามนัยมาตรา ๒๖ “ในกรณีที่มีเหตุสมควร คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอาจพิจารณาปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด” ต่อมา ถ้าหากผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจจับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้โดยมิต้องมีหมายตามมาตรา ๓๑ “ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดซึ่งได้รับการปล่อยชั่วคราวไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้โดยมิต้องมีหมาย” เมื่อข้อเท็จจริงผู้ต้องหาไม่มาตามนัด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหามาให้พนักงานสอบสวนพร้อมกับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้