วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566

ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน

คำพิพากษาฎีกาที่ 3248/2565

               พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 7 กำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่อ้างถึงบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ให้ถือว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ในมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน 
               เมื่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง อ้างถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 จึงถือว่าอ้างถึงประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 162 ด้วย อันเป็นบทกำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในการเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ อีกหนึ่งในสาม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3


หมายเหตุ - พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อีกหนึ่งในสาม และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้น มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่"

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

การจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานยาเสพติด

การจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานยาเสพติด

                ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้แจ้งความนำจับ เงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ และเงินช่วยเหลือในการปฏิบัติงานยาเสพติด พ.ศ. 2561 และแก้ไขเพิ่มเติมโดย ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้แจ้งความนำจับ เงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ และเงินช่วยเหลือในการปฏิบัติงานยาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563  ซึ่งในบทความนี้ขอสรุปสาระสำคัญ เฉพาะฉบับที่ 2 กับฉบับที่ 3  ดังนี้
               ข้อ 2  ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
               ข้อ 3  กำหนดบทนิยามคำว่า "เงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่" หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่เจ้าพนักงานผู้สืบสวนจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือตรวจยึดยาเสพติด รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจนนำไปสู่การจับกุมหรือตรวจยึดยาเสพติด โดยเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้กำกับการหรือเทียบเท่าลงมา ข้าราชการทหารตำแหน่งรองผู้บังคับการกรมหรือเทียบเท่าลงมา ข้าราชการพลเรือนระดับชำนาญการพิเศษหรือเทียบเท่าลงมา ซึ่งได้ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมหรือตรวจยึดยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เจ้าพนักงานผู้สืบสวนจับกุมหรือพนักงานสอบสวน ที่สามารถสืบสวนสอบสวนขยายผลจนจับกุมผู้ต้องหาความผิดได้เพิ่มขึ้น  <*เห็นว่า ผู้จับกุมที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกจะไม่ได้รับ ส่วนพนักงานผู้สืบสวนจับกุมกับพนักงานสอบสวนจะได้รับก็ต่อเมื่อเป็นการขยายผลจนจับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มขึ้น>
               ข้อ 4  เพิ่มบทนิยามคำว่า "การขยายผล" หมายความว่า การสืบสวน หรือสอบสวนขยายผลจากคดียาเสพติดที่มีหรือเคยมีของเจ้าหน้าที่จนกระทั่งล่วงรู้ถึงและนำไปสู่การจับกุมเจ้าของยาเสพติด ผู้ร่วมกระทำความผิด ผู้สั่งการ หรือนายทุนในคดียาเสพติดรายสำคัญ  <*เห็นว่า การขยายผล เริ่มต้นจากคดียาเสพติดที่มีอยู่แล้ว พนักงานสอบสวนกับพนักงานสืบสวนได้รับคดีนี้มาทำจนจับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มขึ้น>
                         "คดียาเสพติดรายสำคัญ" สรุปได้ว่า มีลักษณะการกระทำผิดอยู่ 6 ประเภท 
               ข้อ 5  ยกเลิกข้อ 16 แห่งระเบียบเดิม (กรณีกัญชา) 
               ข้อ 6  แก้ไขข้อ 18 แห่งระเบียบเดิม กำหนดเงินค่าตอบแทนเป็นร้อยละของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติด (ถูกแก้ไขโดยฉบับที่ 3 แล้ว) 
               ข้อ 7  แก้ไขวรรคสองของ (1) ของข้อ 19 แห่งระเบียบเดิมว่า "ทั้งนี้ ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ แก่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี โดยให้นับเป็นเจ้าพนักงานผู้สืบสวนจับกุมหนึ่งคน ไม่ว่าจะมีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีกี่คนก็ตาม เมื่อสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มขึ้นจากคดีแรก"  <*เห็นว่าเมื่อพนักงานสอบสวนกับเจ้าพนักงานผู้สืบสวนได้ดำเนินการขยายผลจนออกหมายจับแล้วจะต้องจับกุมผู้ต้องหาให้เพิ่มขึ้นด้วยจึงจะได้เงินค่าตอบแทน>
               ข้อ 8  เพิ่มข้อ 19/1 กรณีมีการขยายผลและแบ่งเงินค่าตอบแทน (ถูกแก้ไขโดยฉบับที่ 3 แล้ว) 
               ข้อ 9  กรณีจำหน่ายยาเสพติดให้แก่เด็กหรือเยาวชนในหมู่บ้าน ชุมชน ให้จ่ายค่าตอบแทนเพิ่มอีกคดีหนึ่งไม่เกิน 5,000 บาท 
               ข้อ 10 - ข้อ 14  เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมในการขอรับเงินค่าตอบแทนในคดียาเสพติด

               ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้แจ้งความนำจับ เงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ และเงินช่วยเหลือในการปฏิบัติงานยาเสพติด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564  สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 
               ข้อ 1  ชื่อระเบียบฯ  
               ข้อ 2  มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2564) 
               ข้อ 3  แก้ไขบทนิยาม "คดียาเสพติดรายสำคัญ" สรุปว่า ได้แก่ ฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจะต้องมีพฤติการณ์ เป็นคดีที่เลขาธิการ ป.ป.ส. มีคำสั่งอนุมัติให้จับกุมข้อหาสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและนำไปสู่การขยายผลริบทรัพย์สินตามที่เลขาธิการ ป.ป.ส. มีคำสั่งโดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท หรือ เป็นคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 
               ข้อ 4  แก้ไขข้อ 18 แห่งระเบียบเดิม สรุปได้ว่า ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนเป็นร้อยละของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติด เมื่อเจ้าพนักงานได้ดำเนินคดีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้  
                         (1)  คดีที่ยึดได้แต่ยาเสพติด จะจ่ายค่าตอบแทนต่อเมื่อศาลออกหมายจับ และเลขาธิการ ป.ป.ส. มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท โดยให้จ่ายเงินค่าตอบแทนร้อยละ 50 
                                ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากสามารถขยายผลได้ ให้จ่ายเงินค่าตอบแทน สรุปได้ดังนี้  
                                (ก) ขยายผลไปจับกุมเจ้าของยาเสพติด หรือผู้ร่วมกระทำความผิดรายอื่น ๆ ให้จ่ายเงินอีกร้อยละ 25 เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง 
                                (ข) ขยายผลไปจับกุมเครือข่ายยาเสพติดเป็นคดียาเสพติดรายสำคัญคดีใหม่ ให้จ่ายเงินอีกร้อยละ 25 เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง 
                         (2)  คดีที่ยึดยาเสพติดและจับกุมผู้ต้องหาได้ ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนร้อยละ 50 เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง แต่ถ้าสั่งไม่ฟ้อง ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนร้อยละ 25 
                                ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากสามารถขยายผลได้ ให้จ่ายเงินค่าตอบแทน สรุปได้ดังนี้ 
                                (ก) ขยายผลไปจับกุมเจ้าของยาเสพติดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดรายอื่น ๆ ให้จ่ายเงินอีกร้อยละ 25 เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง  
                                (ข) ขยายผลไปจับกุมเครือข่ายยาเสพติดเป็นคดียาเสพติดรายสำคัญคดีใหม่ ให้จ่ายเงินอีกร้อยละ 25 เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง 
                               ทั้งนี้ กรณีตาม (1) วรรคหนึ่งและวรรคสอง (ก) และ (ข) หรือ (2) วรรคหนึ่งและวรรคสอง (ก) และ (ข) เมื่อรวมกันแล้วให้จ่ายเงินค่าตอบแทนได้ไม่เกินร้อยละ 100 
               ข้อ 5  แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 19/1 แห่งระเบียบเดิม ในกรณีที่มีการขยายผลตามข้อ 18 (1) วรรคสอง (ก) หรือ (ข) หรือ ข้อ 18 (2) วรรคสอง (ก) หรือ (ข) ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนแก่เจ้าพนักงานผู้สืบสวนจับกุมหรือพนักงานสอบสวนโดยแบ่งเท่า ๆ กันทุกคน  <*เห็นว่า พนักงานสอบสวนหรือผู้สืบสวนจับกุมจะไม่ได้รับเงินตามข้อ 18 (1) วรรคหนึ่ง และข้อ 18 (2) วรรคหนึ่ง ถ้าหากไม่มีการขยายผลจนจับกุมได้ตามเงื่อนไขดังกล่าว แต่ถ้าเข้าเงื่อนไข เงินตอบแทนเฉพาะส่วนนี้ให้แบ่งเท่ากันทุกคน> 
               ข้อ 6  แก้ไขเพิ่มเติมวรรคหนึ่งของข้อ 29 แห่งระเบียบเดิม สรุปได้ว่า การยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทนตามข้อ 18 ให้ยื่นภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเกี่ยวกับคดี แต่หากเป็นกรณีศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดและเลขาธิการ ป.ป.ส. มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฯ ให้ยื่นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดฯ และเลขาธิการ ป.ป.ส. มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินฯ
               ข้อ 7  คำขอรับเงินค่าตอบแทนที่ยื่นหรือดำเนินการไปแล้วก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้เป็นไปตามระเบียบเดิมก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ

หมายเหตุ  <*เห็นว่า ...................>   คือ  ส่วนที่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการของผู้เขียนบทความเอง

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

รวมกฎหมายและระเบียบว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ

 พระราชบัญญัติ



-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๓(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๖๐(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๖๒(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๖๔(ยกเลิก)

-  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.๒๕๑๙(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๔(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๓(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๕(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๓(ยกเลิก)

-  พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.๒๕๑๘(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๓(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ.๒๕๓๓ พ.ศ.๒๕๔๒(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ.๒๕๓๓ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๓(ยกเลิก)
-  พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ.๒๕๓๓ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๐(ยกเลิก)

-  พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.๒๔๙๕

-  พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๓๕

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
-  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗(ยกเลิก)
-  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗ เรื่อง  การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗(ยกเลิก)
-  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๖/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗(ยกเลิก)
-  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๖๑ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ฉบับที่ ๑๐๘) ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗(ยกเลิก)

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อธิบาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560

             พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๖๐  ได้แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ดังนี้

             ๑.  ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๑๕  แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                  จากเดิม “การผลิต  นําเข้า  ส่งออก  หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท  ๑  ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้  ให้ถือว่าเป็นการผลิต  นําเข้า  ส่งออก  หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย"
                  แก้ไขเป็น  "การผลิต  นําเข้า  ส่งออก  หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท  ๑  ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้  ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต  นําเข้า  ส่งออก  หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย"

             ๒.  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๗  แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                  จากเดิม “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท  ๒  ไว้ในครอบครองคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป  ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”
                  แก้ไขเป็น “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท  ๒  ไว้ในครอบครองคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”

             ๓.  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๒๖  แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                   จากเดิม “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๔  หรือในประเภท ๕  ไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่ สิบกิโลกรัมขึ้นไป  ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”
                   แก้ไขเป็น “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท  ๔  หรือในประเภท  ๕  ไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่ สิบกิโลกรัมขึ้นไป  ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”

(หมายเหตุ.-  แต่เดิมการมียาเสพติดให้โทษเกินปริมาณที่กําหนดไว้ ให้ถือเป็นเด็ดขาดว่าผู้นั้นกระทําเพื่อจําหน่าย โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้พิจารณาจากพฤติการณ์หรือคํานึงถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทําความผิดและไม่ได้ให้สิทธิ ผู้ต้องหาหรือจําเลยในการพิสูจน์ความจริงในคดี จึงแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้มีลักษณะเป็นเพียง ข้อสันนิษฐาน  เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริงได้
                   -  บทบัญญัติมาตรา ๑๕ วรรคสาม  มาตรา ๑๗ วรรคสอง  และมาตรา ๒๖ วรรคสอง  แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ไม่ให้ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  และให้นํากฎหมาย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  บังคับแก่คดีดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด
                   -  คดีซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายยื่นคําแถลงขอสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่าการกระทําของจําเลยเป็นการกระทํา เพื่อจําหน่ายหรือไม่  ก็ให้ศาลสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร)

วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ มีอำนาจส่งตัวผู้ต้องหากลับไปดำเนินคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11479/2556
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19, 24
             ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดหรือเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องมีคุณสมบัติสำคัญว่าจะต้องไม่ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และผลการตรวจพิสูจน์ต้องเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จึงจะมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
             หากภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 24 หรือถ้าผลการตรวจพิสูจน์ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 22 วรรคสาม หรือในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง
             ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด รวมทั้งการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีหากบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติ หรือแม้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ โดยให้อำนาจคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือให้ศาลเป็นผู้พิจารณามีคำสั่งแล้วแต่ข้อเท็จจริงจะปรากฏในขั้นตอนใด
             โดยไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 แล้ว ในการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีเพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือเพราะเหตุอื่น จะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งเท่านั้น ส่วนการพิจารณาสั่งของศาลตามมาตรา 24 เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลเอง หรือศาลได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือพนักงานสอบสวนแล้วแต่กรณี
             การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดพิษณุโลกตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก จึงส่งตัวจำเลยไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

(ข้อพิจารณา.-  คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีอำนาจส่งตัวบุคคลที่เข้ารับการฟื้นฟูฯ กลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปได้ โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล)

(ข้อกฎหมาย.- พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545  
              มาตรา 19  ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้
             ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ต้องหามีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวส่งศาลเพื่อมีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน
             การส่งไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ให้ศาลพิจารณาส่งตัวไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือการควบคุมตัวตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำนึงถึงอายุ เพศ และลักษณะเฉพาะบุคคลประกอบด้วย แล้วให้ศาลแจ้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทราบ
             ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป และเมื่อสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาไปด้วย และแจ้งให้ทราบว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวอย่างแห่งใด
            ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมาย

            มาตรา 24  ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป)