วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ของกลางอันพึงต้องริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๖๙๘/๒๕๕๕
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ (๒) วรรคสาม, ๖๖ วรรคหนึ่ง, ๑๐๒
ป.อ. มาตรา ๓๒ , ๓๓ (๒)
                  จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อขายเมทแอมเฟตามีนโดยนัดส่งมอบบริเวณที่เกิดเหตุ ต่อมา จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปบริเวณที่เกิดเหตุ และเจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางได้ที่ตัวจำเลย โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒
                ส่วนรถจักรยานยนต์ของกลาง ทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำมาใช้เป็นยานพาหนะสำหรับการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ค้นพบเมทแอมเฟตามีนที่รถจักรยานยนต์ของกลาง ดังนี้ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้เดินทางมายังที่เกิดเหตุ ไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒ , ๓๓ (๒) จึงไม่อาจริบได้

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๑๖๘/๒๕๕๔
ป.อ.  ริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทําความผิด (มาตรา ๓๓)
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ (มาตรา ๑๐๒)
               จำเลยที่ ๑ ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองมีปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์ถึง ๑๑๗.๑๐๗ กรัม เกินกว่า ๓๗๕ มิลลิกรัม จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒) ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
               จําเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจําเลยที่ ๒ นั่งซ้อนท้าย ระหว่างที่จำเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีเจ้าพนักงานตํารวจ จําเลยที่ ๒ ได้โยนห่อเมทแอมเฟตามีนทิ้งข้างทาง ไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ ๑ ได้ดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์เพื่อซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนแต่อย่างใด รถจักรยานยนต์จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทําความผิดฐานมีแมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิอาจริบรถจักรยานยนต์ของกลางได้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓
               ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาริบรถจักรยานยนต์ของกลางมานั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง โดยเห็นสมควรให้คืนแก่เจ้าของได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๒๔/๒๕๕๔                                                  
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  (มาตรา ๑๐๒)
              จําเลยทั้งสองร่วมกันใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อจําหน่ายกัญชาของกลาง และใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะนํากัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ จํานวน ๒ แท่ง น้ำหนัก ๒,๐๗๗.๓๓ กรัม ตกลงซื้อขายกัญชากันในราคา ๕๒,๐๐๐ บาท นัดส่งมอบในวันเกิดเหตุที่บ้านเกิดเหตุ ดาบตํารวจ ช.  กับสายลับไปที่บ้านของจําเลยที่ ๑ นําเงินให้จำเลยที่ ๑ ดู แล้วจำเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์ออกไป
              ต่อมา จําเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์กลับมา มีจำเลยที่ ๒ นั่งซ้อนท้าย จำเลยที่ ๒ ขอดูเงิน จากนั้น จําเลยที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์พาจําเลยที่ ๒ ไปนานประมาณ ๓๐ นาที จึงกลับมา ลงจากรถจักรยานยนต์นํากระสอบปุ๋ยซึ่งบรรจุกัญชาของกลางส่งมอบให้ดาบตํารวจ ช.
              ฟังได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ ซึ่งจําเลยทั้งสองร่วมกันใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับการจําหน่ายกัญชาโดยตรง โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่พึงต้องริบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๘๑๐/๒๕๕๓
ป.อ. ขอคืนของกลาง  (มาตรา ๓๓)
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
             การที่จำเลยที่ ๒ เป็นหลานภริยาของผู้ร้องและพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับผู้ร้อง กับการที่จำเลยที่ ๒ ใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นประจำ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ไม่น่าเชื่อว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ จะขอยืมรถยนต์กระบะของกลางไปใช้ดังที่ผู้ร้องนำสืบกล่าวอ้าง เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหลานภริยานำรถยนต์กระบะของกลางดังกล่าวไปใช้ตลอดเวลาตามที่จำเลยที่ ๒ ต้องการใช้ โดยผู้ร้องมิได้คำนึงถึงว่าจำเลยที่ ๒ จะนำรถไปใช้ในกิจการใด
             เมื่อจำเลยที่ ๒ นำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเช่นนี้ ย่อมถือว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามโดยปริยายแล้ว

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อายุความในคดียาเสพติด

พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐

             มาตรา ๒๒   ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สำหรับฐานความผิดซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสามสิบปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
             ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วผู้กระทำความผิดวิกลาจริตและศาลสั่งงดการพิจารณาหรือหลบหนีจนเกินกำหนดตามวรรคหนึ่งแล้ว นับแต่วันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา หรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

              มาตรา ๒๓   ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตผู้ใด และผู้นั้นยังมิได้รับโทษหรือได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนเพราะหลบหนี  ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษเกินกำหนดเวลาสามสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
                (๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
                (๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
                (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
                (๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
                (๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
              ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

(ข้อพิจารณา.- โทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ในคดีอาญาทั่วไป มีอายุความ ๒๐ ปี แต่ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเฉพาะจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต มีอายุความ ๓๐ ปี)
(Update:23/7/61)

วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฐานผลิตยาเสพติดให้โทษโดยวิธีการแบ่งบรรจุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4062/2549
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 65
              ความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 4 คำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุงแปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดผลิตนำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
               แสดงว่าการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ว่าจะเป็นการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ล้วนเป็นการกระทำที่เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อสังคมเพราะเป็นบ่อเกิดแห่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ทำให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีอยู่อย่างแพร่หลาย ยากที่จะปราบปรามให้หมดสิ้นไปได้ กฎหมายจึงได้กำหนดโทษไว้สูงถึงจำคุกตลอดชีวิต ย่อมเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดโทษความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมจากการกระทำความผิดโดยการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ว่าจะด้วยการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นการกระทำที่มีลักษณะที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงต่อไป
              เมื่อกฎหมายมีความมุ่งหมาย เช่นนี้ คำว่า “ผลิต” ที่กฎหมายบัญญัติให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุด้วยนั้น จึงต้องหมายถึงการกระทำอันมีลักษณะที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมในทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด โดยแยกเป็นเมทแอมเฟตามีนที่บรรจุใส่หลอดกาแฟแล้ว 5 เม็ด และเป็นเมทแอมเฟตามีนที่รอการบรรจุอีก 22 เม็ด กับเทียนไข 1 เล่ม หลอดกาแฟตัดสั้นขนาดยาวประมาณ 2 เซนติเมตร 22 อัน เป็นของกลาง การนำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวใส่หลอดกาแฟซึ่งเป็นเพียงวัตถุห่อหุ้มโดยไม่ได้มีการกระทำใด ๆ แก่สภาพของเมทแอมเฟตามีนนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3814/2549
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 225, 245 วรรคสอง
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4
            มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ให้บทนิยามคำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันแบ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางใส่ในหลอดกาแฟโดยยังมีหลอดกาแฟหลายหลอดที่เตรียมไว้เพื่อการแบ่งบรรจุเช่นนี้ ถือว่าเป็นการผลิตตามบทนิยามในมาตรา 4 ดังกล่าว
            ในฟ้องข้อ 1 ก  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันผลิตโดยแบ่งบรรจุและมีเมทแอมเฟตามีน 246 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เห็นว่า คำว่า "เพื่อจำหน่าย" นั้นโจทก์ได้บรรยายมุ่งถึงข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง มิใช่ข้อหาผลิตเมทแอมเฟตามีน  ทั้งในฟ้องข้อ 2  ก็ได้บรรยายย้ำว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิต และมีไว้เพื่อจำหน่าย และที่เหลือจากการจำหน่ายกับจำหน่ายด้วย  จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายข้อหาผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายมาในฟ้องแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย และลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
            ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยที่ 1 และที่ 3 คงมีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น แม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 เนื่องจากต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาไปตลอดถึงจำเลยที่ 2 ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
           พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (เดิม), 65 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83  การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุ และฐานมีเมทแอมเฟตามีนกับเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนกับเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

บทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท ๑

บทบัญญัติความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ 

             "มาตรา ๗  ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
                  (๑)  ประเภท ๑ ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)
                  (๒)  …ฯลฯ... "

             "มาตรา ๑๕  ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
                การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
                การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
                  (๑) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
                  (๒) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
                  (๓) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ นอกจาก (๑) และ (๒) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป
               (มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๖๐)
               (หมายเหตุ.- โดยทั่วไป ยาบ้า ๑ เม็ด หนักประมาณ ๐.๐๙ กรัม หรือเก้าร้อยมิลลิกรัม มีสารบริสุทธิ์ ๐.๐๓ - ๐.๐๕ กรัม)

              "มาตรา ๕๗  ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๕"

              "มาตรา ๕๘/๑   ในกรณีจำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจตรวจ หรือทดสอบ หรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวอยู่ในร่างกายหรือไม่
               พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ตำแหน่งใด ระดับใด หรือชั้นยศใดจะมีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดำเนินการ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยทำเอกสารมอบหมายให้ไว้ประจำตัวพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายนั้น
               วิธีการตรวจหรือการทดสอบตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ในประกาศดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการเกี่ยวกับการแสดงความบริสุทธิ์ของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ และมาตรการเกี่ยวกับการห้ามเปิดเผยผลการตรวจหรือทดสอบแก่ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ปรากฏผลเบื้องต้นเป็นที่สงสัยว่ามียาเสพติดให้โทษอยู่ในร่างกาย จนกว่าจะได้มีการตรวจยืนยันผลเป็นที่แน่นอนแล้ว"
            (มาตรา ๕๘/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕)

            "มาตรา ๖๔  ในการนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ ต้องมีใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกนั้นมาพร้อมกับยาเสพติดให้โทษและต้องแสดงใบอนุญาตดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร กับต้องยินยอมให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษนั้นไว้
            ให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ นั้นไว้ในที่สมควรจนกว่าผู้ที่นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษจะนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร
            ในกรณีที่ผู้นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ ไม่นำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันนำเข้า ให้พนักงานศุลกากรรายงานให้เลขาธิการทราบ เลขาธิการมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง ในกรณีผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม ให้ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข"

วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ตรวจไม่พบเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะ

คำชี้ขาดความเห็นแย้ง ฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๔๒๕/๒๕๕๔)
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  (มาตรา ๔, ๗, ๘, ๕๗, ๙๑)
              ข้อเท็จจริงโดยย่อ เจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจปัสสาวะผู้ต้องหาเพื่อหาสารเสพติดเบื้องต้น พบสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ต้องหา เจ้าพนักงานตำรวจได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดลำพูน มีคำสั่งส่งมอบตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดลำพูน ได้มีคำวินิจฉัยกำหนดแผนการฟื้นฟูแบบไม่ควบคุมตัว แต่ต่อมา ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด จึงเห็นสมควรส่งคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี
              แม้ผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพว่า ได้เสพยาบ้า (เมทแอมเฟตามีน) มาก่อนถูกจับกุม และเมื่อตรวจสอบปัสสาวะของผู้ต้องหาในเบื้องต้นจะพบว่ามีผลบวก น่าเชื่อว่ามีสารเสพติดให้โทษอยู่ในปัสสาวะก็ตาม แต่ผลการตรวจปัสสาวะเบื้องต้นดังกล่าวยังไม่อาจยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาได้เสพเมทแอมเฟตามีน เมื่อต่อมา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจในขั้นยืนยันผลไม่พบเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะของผู้ต้องหา คดีจึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้ฟังว่า สิ่งที่ผู้ต้องหารับว่าได้เสพก่อนถูกจับกุมเป็นเมทแอมเฟตามีน อัยการสูงสุดจึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา

หลักฐานการบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๐๓/๒๕๕๕
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๑๕ , ๖๖)
               ในการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน หากรายใดจำเป็นต้องเตรียมเงินไว้ใช้ล่อซื้อย่อมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นสำคัญ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับในคดีนี้ไม่เตรียมเงินไว้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงยังไม่ถือเป็นข้อพิรุธ
               คดีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับเพียงปากเดียวเบิกความเป็นพยานว่า เป็นผู้ใช้สายลับโทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย แต่พยานไม่ได้บันทึกหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของสายลับไว้ รวมทั้งไม่นำบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์การติดต่อกันระหว่างสายลับกับจำเลยมาเป็นหลักฐาน ทั้งที่มีโอกาสจะแสวงหาพยานหลักฐานดังกล่าวมาประกอบคำเบิกความได้ และเมื่อพยานนำตัวจำเลยพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน ๒๐ เม็ด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๑ เครื่อง ไปมอบให้พนักงานสอบสวน ก็ไม่บอกให้พนักงานสอบสวนทราบถึงเรื่องที่สายลับกับจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกัน เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยตกลงขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับจริง พยานหลักฐานของโจทก์จึงบกพร่องไม่มั่นคงให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น  พิพากษายืน

การจับและค้นพบของกลางต่างท้องที่แต่แยกเป็นสองคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6900/2553
ป.อ. มาตรา 90
ป.วิ.อ. มาตรา 39
               เจ้าพนักงานตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ จับจำเลยได้ ขณะจำเลยขับรถมาจอดอยู่ในท้องที่และยึดได้เมทแอมเฟตามีน จำนวน 100 เม็ด เป็นของกลาง แล้วมีการสอบสวนขยายผลจนนำไปสู่การขอหมายค้นเพื่อตรวจค้นบ้านที่จำเลยพักอาศัยซึ่งอยู่ในเขตท้องที่ สน.ประชาชื่น ในวันเดียวกันและพบเมทแอมเฟตามีน จำนวน 26 เม็ด เจ้าพนักงานตำรวจแยกดำเนินคดีเป็น 2 คดี จึงรับฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีนทั้งสองส่วนก็คือเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกัน โดยจำเลยมีเจตนาครอบครองในคราวเดียวกัน แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะตรวจค้นได้ต่างสถานที่กันก็เป็นเพราะการแยกเก็บรักษาหรือซุกซ่อนเท่านั้น
               เหตุที่มีการตรวจค้นบ้านของจำเลยหลังจากนั้นหลายชั่วโมง เนื่องมาจากกระบวนการในการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ การขอหมายค้นรวมถึงการประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเจ้าของท้องที่ที่บ้านของจำเลย ลำพังการตรวจยึดได้ของกลางต่างเวลากัน ไม่ทำให้การที่จำเลยมีเจตนาครอบครองเมทแอมเฟตามีนทั้งสองส่วนไว้ในคราวเดียวกันกลายเป็นการกระทำต่างกรรมกัน ทั้งโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้รับเมทแอมเฟตามีนทั้งสองส่วนนั้นมาคนละคราว อันจะทำให้สามารถแยกเจตนาในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนนั้นได้ เช่นนี้ การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้กับในคดีหมายเลขแดงที่ ย.15362/2545 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว
               เมื่อจำเลยถูกดำเนินคดีในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 100 เม็ด และศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดดังกล่าวซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กฎกระทรวงว่าด้วยยาเสพติดที่ให้ฟื้นฟูฯ ได้ (พ.ศ.๒๕๔๖)

กฎกระทรวง
ว่าด้วย การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๖

              อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕  อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการ จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๒๓๗ และ มาตรา ๒๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

              ข้อ ๑  ลักษณะ ชนิด และประเภทของยาเสพติด สำหรับความผิดฐานเสพยาเสพติด ตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง มีดังต่อไปนี้
                  (๑)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ มี ๖ ชนิด ได้แก่
                         (ก)  เฮโรอีน
                         (ข)  เมทแอมเฟตามีน
                         (ค)  แอมเฟตามีน
                         (ง)  ๓,๔-เมทิลลิน ไดออกซิเมทแอมเฟตามีน
                         (จ)  เมทิลลีนไดออกซิแอมเฟตามีน
                         (ฉ)  เอ็น เอทิล เอ็มดิเอ หรือเอ็มดิอิ
                  (๒)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ มี ๒ ชนิด ได้แก่
                         (ก)  โคคาอีน
                         (ข)  ฝิ่น
                  (๓)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ มี ๑ ชนิด ได้แก่ กัญชา
                  (๔) * สารระเหยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย
                  ยาเสพติดให้โทษตาม (๑) และ (๒) ให้รวมถึงวัตถุที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น แต่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันกับยาเสพติดให้โทษดังกล่าว และเกล็ดใด ๆ ของยาเสพติดให้โทษดังกล่าวด้วย

              ข้อ ๒  ยาเสพติดตามข้อ ๑ สำหรับความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครอง ความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานเสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ต้องมีปริมาณดังต่อไปนี้
                  (๑)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑
                         (ก)  เฮโรอีนมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งร้อยมิลลิกรัม
                         (ข)  เมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม
                         (ค)  แอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม
                         (ง)  ๓,๔-เมทิลลินไดออกซิเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบมิลลิกรัม
                         (จ)  เมทิลลินไดออกซีแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบมิลลิกรัม
                         (ฉ)  เอ็น เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี มีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบมิลลิกรัม
                  (๒)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒
                         (ก)  โคคาอีนมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินสองร้อยมิลลิกรัม
                         (ข)  ฝิ่นมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าพันมิลลิกรัม
                  (๓)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ได้แก่ กัญชามีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าพันมิลลิกรัม ยาเสพติดให้โทษตาม (๑) และ (๒) ให้รวมถึงวัตถุที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น แต่มีสูตร โครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันกับยาเสพติดให้โทษดังกล่าว และเกล็ดใด ๆ ของยาเสพติดให้โทษดังกล่าวด้วย

                                             ให้ไว้  ณ  วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖

                                                                  (ลงชื่อ)     พงศ์เทพ เทพกาญจนา
                                                                              (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา)
                                                                            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

(หมายเหตุ.-  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๗ ก ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๖  *ส่วนข้อ ๑ (๔) เพิ่มเติมโดย กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด (ฉบับที่ ๒) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนที่ ๘๔ ก. ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑)

ขั้นตอนการดำเนินคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในชั้นสอบสวน

พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕  

               มาตรา ๑๙  ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด  เสพและมีไว้ในครอบครอง  เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือ  เสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ถ้าไม่ปรากฏว่า
                       -  ต้องหา หรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี ในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรือ
                       -  อยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล

              ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพ หรือการติดยาเสพติด
                เว้นแต่
                       -  มีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือ
                       -  จากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้
              ในการดำเนินการข้างต้น ถ้าผู้ต้องหามีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวส่งศาล เพื่อมีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน
               การส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด
                       -  ให้ศาลพิจารณาส่งตัวไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์ที่ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือ การควบคุมตัว ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
                       -  โดยคำนึงถึง อายุ เพศ และลักษณะเฉพาะบุคคลประกอบด้วย
                       -  แล้วให้ศาลแจ้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทราบ

              ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป และเมื่อสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ โดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาไปด้วย และแจ้งให้ทราบว่า ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวอยู่แห่งใด
               ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ ไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมาย

กรณียื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นผู้ใหญ่ที่ฟื้นฟูฯไม่ผ่าน

              เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหาเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป โดยกล่าวหาว่า “เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน)โดยผิดกฎหมาย” นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี และพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ และรับตัวผู้ต้องหา จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบเช่นเดียวกันกับชั้นจับกุม แล้วนำตัวผู้ต้องหาไปขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้”
               เมื่อพนักงานสอบสวนตรวจสอบประวัติเบื้องต้น ไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล พนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด และในระหว่างนั้น พนักงานสอบสวนก็ดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป และต้องรอผลคำวินิจฉัยจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อจะนำรวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวนเพื่อส่งไปยังพนักงานอัยการต่อไปด้วย ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมาย
              ถ้าหากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ได้ตรวจพบในภายหลังว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ซึ่งจะต้องส่งคืนให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามนัยมาตรา ๒๔ “ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ ว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป” 
              ในการปฏิบัติหลังจากพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาไปยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ได้เพียงวันเดียว ผู้ต้องหาก็ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปในระหว่างเข้ารับการตรวจพิสูจน์ โดยผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์อยู่ในอำนาจการพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติประจำจังหวัด เป็นเลขานุการ ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ไป ตามนัยมาตรา ๒๖ “ในกรณีที่มีเหตุสมควร คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอาจพิจารณาปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด” ต่อมา ถ้าหากผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจจับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้โดยมิต้องมีหมายตามมาตรา ๓๑ “ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดซึ่งได้รับการปล่อยชั่วคราวไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้โดยมิต้องมีหมาย” เมื่อข้อเท็จจริงผู้ต้องหาไม่มาตามนัด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหามาให้พนักงานสอบสวนพร้อมกับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้