วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

หนังสือ อสส. กำหนดแนวทางกรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กฟื้นฟูไม่ผ่าน

                                                                         (ครุฑ) 
ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๔๗๖                                                                       สำนักงานอัยการสูงสุด
                                                                                                             อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ 
                                                                                                             ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ
                                                                                                             ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
                                                                                                             เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐ 
                                                        ๑๖  ธันวาคม  ๒๕๕๘
เรื่อง      กำหนดแนวทางปฎิบัติตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ 
             กรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน
เรียน     รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่ายเลขานุการ 
             อัยการสูงสุด อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้า
             หลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และผู้อำนวยการสำนักงาน
อ้างถึง  ๑.  หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดด่วนที่สุดที่ อส (สฝปผ.) ๐๐๑๘/ว ๔๖ 
                  ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๖
            ๒.  หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดด่วนที่สุดที่ อส ๐๐๒๗(ปผ.) /ว ๑๒๗ 
                  ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔

              ตามหนังสือที่อ้างถึง ๑ สำนักงานอัยการสูงสุดได้วางระเบียบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไว้ และตามหนังสือที่อ้างถึง ๒ สำนักงานอัยการสูงสุดได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับพนักงานอัยการในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ นั้น
             สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นสมควรกำหนดแนวทางปฎิบัติเพื่อให้การปฏิบัติงานในการดำเนินคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชนเป็นไปแนวทางเดียวกัน ดังนี้
             ๑. กรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชนไม่เข้าเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๔ ตั้งแต่แรก กรณีจำต้องมีรายงานการสืบเสาะข้อเท็จจริงของสถานพินิจเพื่อประกอบการพิจารณา
             ๒. กรณีผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหรือเยาวชนได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ เด็กหรือเยาวชนได้เข้าสู่การควบคุมของคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มิได้อยู่ในการควบคุมของสถานพินิจ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ ต่อมาภายหลังพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กหรือเยาวชนไม่เป็นที่พอใจและมีคำสั่งให้คืนเด็กหรือเยาวชนให้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป พนักงานสอบสวนย่อมขอผัดฟ้องต่อไปได้ รวมทั้งพนักงานอัยการมีอำนาจยื่นฟ้องเด็กหรือเยาวชนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ โดยไม่ต้องมีรายงานสืบเสาะข้อเท็จจริงของสถานพินิจ
             ๓. ในกรณีตามข้อ ๒ หากพนักงานสอบสวนไม่อาจผัดฟ้องได้ และทำให้พนักงานอัยการไม่อาจฟ้องคดีเด็กหรือเยาวชนได้ทันกำหนดระยะเวลาตาม มาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ พนักงานอัยการจะฟ้องคดีดังกล่าวได้ จะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการผู้มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาคซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อฟ้อง โดยต้องมีรายงานการสืบเสาะของสถานพินิจเพื่อประกอบการขออนุญาตฟ้องและเพื่อประกอบดุลพินิจในการลงโทษของศาล เพราะเด็กหรือเยาวชนมิได้อยู่ในการควบคุมตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ อีกต่อไป
              จึงเรียนมาเพื่อทราบและประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติราชการต่อไป
                                                                            ขอแสดงความนับถือ
                                                                         นายนิตสิต ระเบียบธรรม
                                                                 รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน
                                                                                    อัยการสูงสุด
 
ข้อกฎหมาย .- 
-  พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓
             "มาตรา ๗๘  เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่า กระทำความผิดตามมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง หรือกรณีเด็กหรือเยาวชนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๗๐ วรรคหนึ่ง  ให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการสอบสวน และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม หรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี
              ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
              ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสองครั้งแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก โดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามคำขอนั้นได้ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ในกรณีเช่นว่านี้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
              การผัดฟ้องดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจผัดฟ้องต่อศาลที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอยู่ในเขตอำนาจศาลนั้นได้
              ในการพิจารณาคำร้องขอผัดฟ้อง ถ้าเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหายังไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งให้ เพื่อแถลงข้อคัดค้านหรือซักถามพยาน"
              "มาตรา ๘๐  ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาตามมาตรา ๗๘ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการผู้มีตําแหน่งไม่ต่ํากว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาค ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย ทั้งนี้ ให้พนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายรายงานผลการดําเนินการดังกล่าวให้อัยการสูงสุดทราบด้วย
              การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในข้อบังคับของอัยการสูงสุด"

ข้อพิจารณา.-  จากหนังสือดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า 
            กรณีที่ ๑. ผู้ต้องหา(เป็นเด็กหรือเยาวชน) ไม่เข้าเงื่อนไขฟื้นฟูตั้งแต่แรก ต้องมีรายงานการสืบเสาะข้อเท็จจริงจากสถานพินิจ (ผู้ต้องหาอยู่ในควบคุมของสถานพินิจ) 
            กรณีที่ ๒. ผู้ต้องหา(เป็นเด็กหรือเยาวชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู แต่ปรากฏว่า ผลไม่เป็นที่พอใจ จึงสั่งคืนให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี (ผู้ต้องหาไม่อยู่ในควบคุมสถานพินิจตั้งแต่แรก) พนักงานสอบสวนต้องขอผัดฟ้องและพนักงานอัยการฟ้องภายในกำหนด ไม่ต้องมีรายงานการสืบเสาะข้อเท็จจริง (ต้องรีบฟ้องให้ทัน)
            กรณีที่ ๓. พนักงานสอบสวนผัดฟ้องไม่ได้และอัยการฟ้องไม่ทัน ซึ่งต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ต้องมีรายงานสืบเสาะข้อเท็จจริงด้วย