วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เขตอำนาจสอบสวนในคดียาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13379/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) (5) วรรคหนึ่ง, (ก) วรรคสาม, 78 (1), 86, 226
               การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ท. ได้ขณะลักลอบขนยาเสพติดให้โทษจากจังหวัดมุกดาหารเพื่อจะไปส่งมอบให้ จ. และจำเลยผู้ร่วมขบวนการซึ่งกำลังรอรับยาเสพติดให้โทษอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่า ท. จ. และจำเลยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดด้วยกันอยู่แล้ว
               การที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัว ท. เดินทางต่อไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อนำยาเสพติดให้โทษไปส่งมอบให้ จ. และจำเลย จึงเป็นวิธีการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิด มิใช่เป็นการล่อให้บุคคลที่มิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดอยู่ก่อนให้หลงกระทำความผิด การดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อขยายผลจับกุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย
               เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในขณะกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้าโดยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองจึงไม่ต้องมีหมายจับ ส่วนการที่ผู้จับกุมไม่ใส่กุญแจมือจำเลยย่อมเป็นดุลพินิจในการใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้หลบหนี
               ความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมีผู้ร่วมกระทำความผิดสองคน ซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในหลายท้องที่จากที่ผู้ต้องหาคนหนึ่งนำยาเสพติดให้โทษติดตัวในขณะเดินทางผ่านอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อต่อมายังกรุงเทพมหานคร
               เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคนแรกได้ก่อนในท้องที่ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วซึ่งเป็นท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้ก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมควบคุมตัวจำเลยและ ท. พร้อมด้วยยาเสพติดให้โทษของกลางส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วทำการสอบสวน จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4337/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 19, 24(1), 120
              เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขน จับกุม ว. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งเป็นของกลาง จึงได้วางแผนให้ ว. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลย และ ป. อีก จนจับกุมจำเลย และ ป. ได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ซึ่งเป็นท้องที่ที่ ว. โทรศัพท์ล่อซื้อ และสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยและ ป. พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน
              ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1756/2550
ป.อ. มาตรา 32
ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19, 120
              เจ้าพนักงานตำรวจ สน.บางบอน จับกุม ศ. และ ช. ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ในท้องที่ สน.บางบอน จากการขยายผลทราบว่าบุคคลทั้งสองซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 ที่บ้านซึ่งอยู่ในท้องที่ สน.แสมดำ
              เจ้าพนักงานตำรวจจึงขอหมายค้นต่อศาลชั้นต้น แล้วจึงไปค้นบ้านจำเลยที่ 2 เมื่อเข้าไปภายในบ้านพบจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันกับบุคคลอื่นอีก 7 คน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 500 เม็ด และจับพวกจำเลยเจ็ดคน พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองคนละ 10 เม็ด บุคคลทั้งเจ็ดรับว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และนำส่งพนักงานสอบสวน สน.บางบอน ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
              การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องจึงเกิดในท้องที่ สน.แสมดำ ทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับ ศ. และ ช. ดังนั้น แม้ ศ. และ ช. ถูกจับในท้องที่ สน.บางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องก็หาใช่ความผิดที่เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) ไม่ แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องคดีนี้ปรากฏชัดแจ้งว่าเกิดในท้องที่ สน.แสมดำ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน สน.แสมดำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) ที่จะเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ได้ มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน สน.บางบอน ที่สอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
            การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ถอนฎีกาไปแล้วได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
            ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ทั้งเป็นทรัพย์ที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ จึงต้องริบเมทแอมเฟตามีนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ตาม

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๗๙๓/๒๕๕๕
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
               โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน ๑๖ เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยมิได้บรรยายว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วย
               จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีน ๑๖ เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครอง ๑๖ หน่วยการใช้ หรือมีจำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป
               กรณีไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒)
               ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๒๒๗/๒๕๕๓
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ , ๖๖ วรรคหนึ่ง
              จำเลยมีแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน ๑๕ เม็ด (หน่วยการใช้) คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๓๓๙ กรัม (ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม)
              แม้จำนวนหน่วยการใช้จะมีปริมาณตามที่กำหนดในมาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒) ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ก็มิได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีเมทแอมเฟตามีนจำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปไว้
              เมื่อคำนวนเป็นสารบริสุทธิ์แล้วมีปริมาณไม่ถึงตามที่กำหนด จึงต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปีหรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย
              ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๐๓/๒๕๔๒
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง
              โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพ และคดีนี้มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง แต่จำเลยย่อมฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง บัญญัติว่า "การผลิต นำเข้าส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ คำนวณ เป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ให้ถือว่า ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย" จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำนวน ๕๐ เม็ด น้ำหนักรวม ๔.๑๒ กรัม จำเลยจึงน่าจะมีความผิดเพียงฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้นได้
              ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง ในปริมาณซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ ๒๐ กรัม ขึ้นไป เป็นปริมาณที่มาก จนกระทั่งกฎหมายเห็นว่า การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองในปริมาณดังกล่าวผู้กระทำน่าจะมีเจตนามิใช่เพื่อการใช้อย่างปกติทั่วไปคือเพื่อเสพ แต่น่าจะมีเจตนาพิเศษคือเพื่อจำหน่าย กฎหมายจึงสันนิษฐานโดยให้ถือว่าการกระทำในปริมาณดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อจำหน่าย
              แม้จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพียง ๔.๑๒ กรัม ทั้งมิได้คำนวณเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์ จะไม่เข้าข้อสันนิษฐานของบทกฎหมายที่ว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นเพราะจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนมากถึง ๕๐ เม็ด และมีพฤติการณ์ว่าน่าจะมีไว้เพื่อจำหน่าย
             ในชั้นสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่ามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพ และในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยก็ให้การรับสารภาพเช่นเดิมอีก เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว เชื่อว่าจำเลยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง จึงได้ลงโทษตามพยานหลักฐานที่พิจารณาได้ความเช่นนี้ ศาลล่างทั้งสองหาได้ลงโทษโดยนำข้อสันนิษฐานของกฎหมายมาปรับใช้ไม่ ดังนี้ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองจึงชอบแล้ว