คำชี้ขาดความเห็นแย้งความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 333/2554)
ป.วิ.อ. พยานบอกเล่า พยานซัดทอด (มาตรา 227/1)ร้อยตำรวจเอก ส. ผู้กล่าวหา กับพวกให้การว่าได้ร่วมกันล่อซื้อจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมเมทแอมเฟตามีน จำนวน 30 เม็ด ของกลางรายการที่ 1 , ยาไอซ์ จำนวน 4 ถุง ของกลางรายการที่ 2 – ที่ 5 และยาไอซ์ จำนวน 4 ถุง ของกลางรายการที่ 6 – ที่ 9
โดยผู้ต้องหาที่ 1 รับว่าได้รับยาเสพติดของกลางดังกล่าวมาจากผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 เพื่อนำไปส่งให้แก่ลูกค้า ประกอบกับชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาที่ 1 ให้การรับว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนและยาไอซ์ของกลางรายการที่ 1 – ที่ 5 มาจากผู้ต้องหาที่ 3 และรับยาไอซ์ของกลางรายการที่ 6 – ที่ 9 มาจากผู้ต้องหาที่ 2 เพื่อนำไปส่งให้ลูกค้าบริเวณที่เกิดเหตุ โดยได้เงินค่าจ้างจากผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 คนละ 1,000 บาท โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงสนับสนุนการกระทำความผิดของผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 อีก
คำให้การชั้นสอบสวนของผู้กล่าวหากับพวกและผู้ต้องหาที่ 1 ดังกล่าว เป็นเพียงพยานบอกเล่า โดยเฉพาะคำให้การของผู้ต้องหาที่ 1 เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน จึงมีน้ำหนักน้อย เมื่อคดีไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ จึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้
ส่วนการที่ผู้ต้องหาที่ 1 ได้เขียนคำรับสารภาพพาดพิงว่าผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมกันในการกระทำความผิดและชี้ยืนยันภาพถ่ายของผู้ต้องหาที่ 2 และ ที่ 3 ยังไม่อาจถือเป็นพยานหลักฐานอื่นที่จะนำมารับฟัง ประกอบคำซัดทอดเพื่อยืนยันความผิดของผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 พยานหลักฐานที่ปรากฏตามทางสอบสวนยังไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังว่า ผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา
คำชี้ขาดความเห็นแย้งฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 248/2554)
ป.วิ.อ. การรับฟังพยานซัดทอด (มาตรา 227/1)
คำให้การซัดทอดของนาย ช. แม้ไม่มีกฎหมายห้ามรับฟัง แต่ก็เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง กรณีจะให้มีน้ำหนักรับฟังได้จะต้องมีพยานแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับการกระทำความผิด ที่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ประกอบคำให้การซัดทอด
คดีนี้ตามบันทึกการจับกุม นาย ช. ให้การรับสารภาพ แต่ไม่ได้บันทึกว่านาย ช. ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากใคร โดยนาย ช. มาให้การในชั้นสอบสวน และให้การในคดีนี้เพื่อขอรับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 โดยอาศัยหลักฐานจากเครื่องโทรศัพท์ของนาย ช. ที่มีหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ต้องหาที่ 1 บันทึกไว้ เมื่อได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ติดต่อระหว่างนาย ช. กับผู้ต้องหาที่ 1 ช่วงวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์แจ้งว่าไม่สามารถทำการตรวจสอบได้
ดังนั้น พยานหลักฐานโทรศัพท์ของนาย ช. และบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ต้องหาที่ 1 จึงไม่อาจแสดงได้ว่านาย ช.ได้มีการติดต่อกับผู้ต้องหาที่ 1 ในช่วงวันเวลาที่มีการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกัน จึงเป็นพยานแวดล้อมที่ห่างไกลกับการกระทำผิด
ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ทำการตรวจสอบบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาทั้งสองและเครือญาติ ไม่ปรากฏหลักฐานการฝากถอนเงินในบัญชีธนาคารที่ผิดปกติ ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกจับกุมและถูกสอบสวนในวันเดียวกัน ซึ่งผู้ต้องหาที่ 2 ให้การปฏิเสธ ประกอบกับนาย ช. ได้ดูภาพถ่ายของผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว ให้การเพียงว่าคล้ายคลึงกับนาย ท. ที่ติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนอย่างมาก
คดีนี้จึงไม่มีพยานแวดล้อมเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นการกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้งสองตามคำให้การของนาย ช. พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง