วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

กรณีผู้ขับขี่เสพกัญชา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  519/2558
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 92 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง
             พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
            ซึ่งคำว่า “ทั้งนี้” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “ตามที่กล่าวมานี้” ดังนี้ คำว่า “ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” จึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่า “ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มิใช่ครอบคลุมเฉพาะการเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเท่านั้น
            เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกำหนด ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 โดยยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง , 157/1 วรรคสอง

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

หนังสือ อสส. กำหนดแนวทางกรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กฟื้นฟูไม่ผ่าน

                                                                         (ครุฑ) 
ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๔๗๖                                                                       สำนักงานอัยการสูงสุด
                                                                                                             อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ 
                                                                                                             ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ
                                                                                                             ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
                                                                                                             เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐ 
                                                        ๑๖  ธันวาคม  ๒๕๕๘
เรื่อง      กำหนดแนวทางปฎิบัติตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ 
             กรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน
เรียน     รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่ายเลขานุการ 
             อัยการสูงสุด อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้า
             หลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และผู้อำนวยการสำนักงาน
อ้างถึง  ๑.  หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดด่วนที่สุดที่ อส (สฝปผ.) ๐๐๑๘/ว ๔๖ 
                  ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๖
            ๒.  หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดด่วนที่สุดที่ อส ๐๐๒๗(ปผ.) /ว ๑๒๗ 
                  ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔

              ตามหนังสือที่อ้างถึง ๑ สำนักงานอัยการสูงสุดได้วางระเบียบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไว้ และตามหนังสือที่อ้างถึง ๒ สำนักงานอัยการสูงสุดได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับพนักงานอัยการในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ นั้น
             สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นสมควรกำหนดแนวทางปฎิบัติเพื่อให้การปฏิบัติงานในการดำเนินคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชนเป็นไปแนวทางเดียวกัน ดังนี้
             ๑. กรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชนไม่เข้าเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๔ ตั้งแต่แรก กรณีจำต้องมีรายงานการสืบเสาะข้อเท็จจริงของสถานพินิจเพื่อประกอบการพิจารณา
             ๒. กรณีผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหรือเยาวชนได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ เด็กหรือเยาวชนได้เข้าสู่การควบคุมของคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มิได้อยู่ในการควบคุมของสถานพินิจ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ ต่อมาภายหลังพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กหรือเยาวชนไม่เป็นที่พอใจและมีคำสั่งให้คืนเด็กหรือเยาวชนให้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป พนักงานสอบสวนย่อมขอผัดฟ้องต่อไปได้ รวมทั้งพนักงานอัยการมีอำนาจยื่นฟ้องเด็กหรือเยาวชนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ โดยไม่ต้องมีรายงานสืบเสาะข้อเท็จจริงของสถานพินิจ
             ๓. ในกรณีตามข้อ ๒ หากพนักงานสอบสวนไม่อาจผัดฟ้องได้ และทำให้พนักงานอัยการไม่อาจฟ้องคดีเด็กหรือเยาวชนได้ทันกำหนดระยะเวลาตาม มาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ พนักงานอัยการจะฟ้องคดีดังกล่าวได้ จะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการผู้มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาคซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อฟ้อง โดยต้องมีรายงานการสืบเสาะของสถานพินิจเพื่อประกอบการขออนุญาตฟ้องและเพื่อประกอบดุลพินิจในการลงโทษของศาล เพราะเด็กหรือเยาวชนมิได้อยู่ในการควบคุมตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ อีกต่อไป
              จึงเรียนมาเพื่อทราบและประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติราชการต่อไป
                                                                            ขอแสดงความนับถือ
                                                                         นายนิตสิต ระเบียบธรรม
                                                                 รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน
                                                                                    อัยการสูงสุด