วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ยาเสพติดประเภทเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1807/2545
ป.อ. มาตรา 91
           เจ้าพนักงานตำรวจล่อซื้อเฮโรอีนได้จากจำเลย 2 หลอด และเข้าค้นตัวจำเลยพบเฮโรอีน 11 หลอด และเมทแอมเฟตามีน 18 เม็ด การที่จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกัน และถูกจับได้พร้อมกัน แม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดต่างชนิดกัน แต่เมื่อเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
           แม้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายคนละมาตรากันกับความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็หาทำให้การกระทำกรรมเดียวกลายเป็นการกระทำหลายกรรมไปได้ไม่

ช่วยค้นหายาเสพติดหลังจากเจ้าพนักงานยึดไว้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1353/2545
ป.อ. มาตรา 86
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 57, 66
              แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 กับพวกที่นั่งรถมาด้วยกัน แต่จำเลยที่ 1 ได้โยนทิ้งเสียก่อน
              ต่อมา จำเลยที่ 1 ไปตามจำเลยที่ 2 มาช่วยค้นหาเมทแอมเฟตามีนของกลาง และจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมขณะค้นหาเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความต่อไปว่า หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง เจ้าพนักงานตำรวจก็ได้ยึดไว้เป็นของกลางทันทีจำเลยที่ 2 มาช่วยจำเลยที่ 1 ค้นหาเมทแอมเฟตามีนของกลาง ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้แล้ว
              จึงเห็นได้ว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบและยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางไป การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงสิ้นสุดลงแล้ว การที่จำเลยที่ 2 มาช่วยจำเลยที่ 1 ค้นหาเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกภายหลังการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1
              ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ต้องช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗ (แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายยาเสพติด)

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗
เรื่อง  การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
            โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพื่อปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
            ข้อ ๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             “มาตรา ๕  ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรียกโดยย่อว่า “ป.ป.ส.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อัยการสูงสุด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสามคน และเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
            ให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”
            ข้อ ๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
              “มาตรา ๑๓  ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
                (๑)  กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนงาน มาตรการ และกลไกในการสกัดกั้น ป้องกันและปราบปราม บำบัดรักษา และแก้ไขปัญหายาเสพติด ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ครบวงจร เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด
                (๒)  กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการประสานความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ หรือองค์การระหว่างประเทศ เพื่อปราบปรามการลักลอบผลิตและค้ายาเสพติด รวมทั้งประสานงานการข่าวเพื่อสกัดกั้นและปราบปรามจับกุมขบวนการและเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ
                (๓) ควบคุม เร่งรัด และประสานงาน เพื่อการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน ปราบปราม การฟ้องคดี และการบังคับโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
                (๔) กำหนดสถานะของพื้นที่หรือกลุ่มพื้นที่ในแต่ละปี หรือพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พร้อมกับกำหนดให้มีกลไก โครงสร้าง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสถานะของปัญหา และให้ส่วนราชการให้การสนับสนุนตามที่ร้องขอ
                (๕) วางโครงการและดำเนินการ ตลอดจนสั่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด
                (๖) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรืองาน แผนงานหรือโครงการของส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
                (๗) ประสานงานและกำกับเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
                (๘) พิจารณาอนุมัติหรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                (๙) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการและกำหนดให้สถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าว
                (๑๐) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้ความดีความชอบหรือโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยต่อข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตลอดจนขอให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดเร่งรัดการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด
                (๑๑) พิจารณาและดำเนินการจัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งกำกับและติดตามการใช้งบประมาณของหน่วยงานดังกล่าว
                (๑๒) สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
                (๑๓) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ”

ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ (การปฏิบัติเพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู)

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗
เรื่อง    การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
เพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู
               เพื่อให้การดำเนินการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดเป็นไปโดยเหมาะสม สมควรกำหนดให้ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดหรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม ได้รับการบำบัดฟื้นฟูโดยการยินยอม และได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องภายหลังผ่านการบำบัดฟื้นฟู รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้การบำบัดฟื้นฟูเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลสูงสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
              ข้อ ๑  ในกรณีที่ผู้ใดต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครองตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม หากผู้นั้นยินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดดำเนินการให้ผู้นั้นเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู
             ในกรณีที่ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนดเกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟู และได้รับการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบออกหนังสือรับรองเพื่อเป็นหลักฐาน
             การนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู การบำบัดฟื้นฟู และการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประกาศกำหนด
             ข้อ ๒  ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่า ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูนั้น ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ส่งตัวผู้นั้นดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
             ข้อ ๓  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในทุกอำเภอและทุกเขต และจัดตั้งศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในระดับอำเภอหรือเขต และระดับจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร
             ข้อ ๔  ให้ศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการคัดกรองและจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองเพื่อจำแนกผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และการส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูไปยังสถานบำบัดฟื้นฟูหรือสถานที่อื่นตามที่หัวหน้าศูนย์กำหนด ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
             ข้อ ๕  ให้ศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู มีอำนาจหน้าที่จัดระบบดูแลช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในจังหวัดให้มอบหมายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรชุมชน อาสาสมัครคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ติดตามดูแลและช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู สำหรับกรุงเทพมหานครให้มอบหมายผู้อำนวยการเขต ผู้นำองค์กรชุมชน อาสาสมัครคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ดำเนินการดังกล่าว
             ข้อ ๖  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการบำบัดฟื้นฟู ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งชื่อตัวชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ของผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อใช้ในการดำเนินการจัดส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูต่อไป
             ทั้งนี้  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
             ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
                                                                  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
                                                          หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สรุปสาระสำคัญ - เน้นการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดตามบัญชีท้ายประกาศ โดยการสมัครใจเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู แต่จะต้องไม่เป็นผู้ต้องหา หรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม เมื่อได้รับการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบออกหนังสือรับรองเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ถ้าปรากฏภายหลังว่า ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูนั้น ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ก็ให้ส่งตัวผู้นั้นดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในทุกอำเภอและทุกเขต และจัดตั้งศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในระดับอำเภอหรือเขต และระดับจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร

คำสั่ง ตร. ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการปฏิบัติตาม
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕
-  หนังสือ ตร. ที่ ๐๐๑๑.๒๔/๒๕๕๖ ลง ๑๑ ก.ค.๒๕๕๕ เรื่อง ให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนในคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด(ฟ.๑)
-  หนังสือ ตร. ที่ ๐๐๑๑.๒๖/๐๓๕๕๑ ลง ๒๒ ก.ย.๒๕๕๓ เรื่อง กำชับการปฏิบัติ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕
-  หนังสือ คด. ที่ ๐๐๐๔.๖/๒๔๕๔ ลง ๑๑ มี.ค.๒๕๔๖ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ (เพิ่มเติม)  
-  หนังสือ  ตร.ด่วนที่สุด ที่ ๐๐๐๔.๖/๒๑๕๒ ลง ๓ มี.ค.๒๕๔๖ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕