วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทกฎหมายกรณีเสพและเป็นผู้ขับขี่

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒

             "มาตรา ๕๗  ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๕"

             "มาตรา ๙๑  ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒

             "มาตรา ๔๓ ทวิ  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
              ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการมีอํานาจจัดให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่รถบางประเภทตามที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าได้เสพยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามวรรคหนึ่งหรือไม่ และหากผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าผู้ขับขี่นั้นไม่ได้เสพก็ให้ผู้ขับขี่นั้นขับรถต่อไปได้
              ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ตรวจสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการมีอํานาจกักตัวผู้นั้นไว้เพื่อดําเนินการตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จําเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การตรวจสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็วและเมื่อผู้นั้นยอมรับการตรวจสอบแล้ว หากผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าไม่ได้เสพ ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
              การตรวจสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง"

              "มาตรา ๑๕๗/๑  ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการที่ให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา ๔๓ ทวิ หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ตรวจการที่ให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา ๔๓ ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท          
               ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อีกหนึ่งในสาม และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกําหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกําหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกําหนดไม่น้อยกว่าสองปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่"

(ข้อพิจารณา.-  ความผิดฐาน "เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ และเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ โดยผิดกฎหมาย" นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๗, ๙๑  พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗/๑ วรรคสอง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗/๑ วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๙๑  ซึ่งเป็นบทหนักสุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ (โดยทั่วไปถ้าหากไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาอื่นที่จะต้องเพิ่มโทษมาก่อนแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ๘ เดือน ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท ถ้ารับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘  คงจำคุก ๔ เดือน ปรับ ๑๐,๐๐๐  บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด ๒ ปี ให้คุมประพฤติ ๑ ปี และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกประเภท และพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด ๖ เดือน)
              ในกรณีเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องหา แล้วตรวจพิสูจน์เบื้องต้นเชื่อว่าผู้ต้องหาเสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อน โดยมิใช่การจับกุมผู้ต้องหาขณะขับขี่ยานพาหนะและมีการนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาปรากฏข้อเท็จจริงจากคำรับสารภาพของผู้ต้องหาว่า ก่อนถูกจับ ผู้ต้องหาขับขี่ยานพาหนะมาก่อน พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาให้ทราบว่า "เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) และเป็นผู้ขับขี่รถเสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย" นั้น
              สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่า เมื่อพฤติการณ์ในการจับกุมผู้ต้องหาที่มีเมทแอมเฟตามีนในร่างกาย ไม่ใช่เป็นการจับกุมผู้ต้องหาขณะขับขี่ยานพาหนะ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาว่า "เป็นผู้ขับขี่รถเสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย" แม้ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาจะให้การรับว่า ก่อนถูกจับ ได้ขับขี่ยานพาหนะมาก่อนก็ตาม ก็เป็นเพียงคำรับของผู้ต้องหาเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานที่มั่นคงที่จะพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ขับขี่รถเสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
              ซึ่งการแจ้งข้อหาดังกล่าวเกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวข้างต้น จะทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งโดยหลักการแล้วให้ถือว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วย มิใช่อาชญากรปกติ การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติดจึงสมควรกระทำให้กว้างขวาง ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปด้วยความราบรื่น จึงขอซักซ้อมความเข้าใจและขอให้พนักงานสอบสวนไม่ควรมีการสอบสวนขยายผลจากตัวผู้ต้องหาเพื่อแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาว่า "เป็นผู้ขับขี่รถเสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามหนังสือ อส ๐๐๔๒(ชม)/๔๒๕๓ ลง ๖ พ.ค.๒๕๕๗)      

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒

              "มาตรา ๙๓  ห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
                การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

              "มาตรา ๑๐๒  ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ต้อง..
                            (๓ ทวิ) ไม่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ"

              "มาตรา ๑๒๗ ทวิ  ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ (๓) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ (๓ ทวิ) หรือ (๓ ตรี) ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แล้วแต่กรณี แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แล้วแต่กรณีอีกหนึ่งในสาม

              "มาตรา ๑๒๗ จัตวา  ในกรณีที่ผู้ขับรถที่ใช้ในการขนส่งซึ่งก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่น ถ้าปรากฏว่าในขณะขับรถ ผู้ขับรถนั้นกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ (๓) (๓ ทวิ) หรือ (๓ ตรี) ให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๐ ทวิ วรรคสอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้มีส่วนรู้เห็นและได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ขับรถกระทำการดังกล่าว"

              "มาตรา ๑๕๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท แต่ถ้าผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
               ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง และได้กระทำการใด ๆ อันเป็นความผิดที่กำหนดไว้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดและต้องระวางโทษสำหรับการกระทำนั้นเช่นเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถด้วย"