วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตัวการร่วม ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5068/2555
ป.อ. มาตรา 83, 84
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) , 66 วรรคสอง (เดิม)
            จำเลยกับพวก ว่าจ้างให้ ธ. นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่กรุงเทพฯ เห็นว่า การกระทำของจำเลยกับพวกที่มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก่อนที่จำเลยกับพวกจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ธ. นั้นเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยที่จำเลยกับพวกยังไม่ต้องส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ธ.  จำเลยกับพวกจึงเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง มิใช่เป็นผู้ก่อให้ ธ. กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด
             เนื่องจากความผิดฐานเป็นผู้ใช้ จะต้องยังไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยเพียงแต่โต้เถียงว่าจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีน จึงเห็นว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง (ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ในข้อสาระสำคัญ และทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6196/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225, 227/1
ป.อ. มาตรา 53, 78, 86
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม)
              แม้คำเบิกความของ อ. ที่กล่าวถึงการกระทำของจำเลย จะเป็นพยานซัดทอดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน
              จำเลยเป็นเพียงคนกลางติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์ในส่วนการกระทำของจำเลยไปแล้ว หลังจากนั้นเมทแอมเฟตามีนย่อมตกเป็นของ อ. เพียงลำพัง โดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าของและร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย จำเลยไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน หากแต่การที่จำเลยติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ อ. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86
              แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาฎีกาที่ 9929/2553
               จำเลยไปหา ช. ที่บ้าน ว่าจ้างให้ขนแมทแอมเฟตามีนจากจังหวัดเชียงใหม่ มาส่งยังจังหวัดพังงา  หลังจากนั้นจำเลยขับรถยนต์พา ช. เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และพักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งจำเลยติดต่อซื้อแมทแอมเฟตามีนได้แล้ว จึงให้ ช. ขนไปจังหวัดพังงา และมอบเงินธนบัตร 500 บาท 3 ฉบับ เป็นค่าโดยสารและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนจำเลยขับรถยนต์กลับไปตามลำพัง
               เมื่อ ช.  เดินทางมาถึงจุดตรวจของ สภ.สบปราบ จว.ลำปาง เจ้าพนักงานตรวจเรียกให้รถโดยสารที่ ช. นั่งมาหยุดเพื่อตรวจค้น และค้นพบเมทแอมเฟตามีน จำนวน 17 ถุง ในกระเป๋าเดินทางของ ช. และยังพบธนบัตร 500 บาท 2 ฉบับ และกระดาษจดหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยกับตั๋วโดยสารอยู่ด้วย อันเป็นการที่จำเลยว่าจ้าง ช. ให้ขนแมทแอมเฟตามีนไปยังที่นัดหมาย
              การกระทำของจำเลยเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด จึงเป็นผู้ใช้ในการกระทำความผิด มิใช่ตัวการร่วมกับ  ช. แต่ถือได้ว่าจำเลยให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ช. ก่อนหรือขณะกระทำความผิด อันฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เนื่องจากเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192  วรรคสอง  ศาลจึงลงโทษจำเลยในฐานะเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86  ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7622 - 7623/2549
ป.อ. มาตรา 86
ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ป.วิ.อ. มาตรา 15, 192 วรรคสอง
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม)
              การที่จำเลยที่ 5 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มาส่งให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างทางถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและยึดเมทแอมเฟตามีนได้เสียก่อน จำเลยที่ 4 ยังไม่ได้รับมอบการครอบครองเมทแอมเฟตามีนจากผู้ขาย จำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 4 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีความผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 4
              แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 1 ในการขนส่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อให้ถึงปลายทาง และการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 5 ขณะกระทำความผิด เนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 5 อยู่ระหว่างถูกจับกุมและการจับกุมยังไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 1 ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.อ. มาตรา 86
              เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 29,795 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว เมื่อข้อแตกต่างมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
              สำหรับเมทแอมเฟตามีน จำนวน 29,795 เม็ด ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง รวมมากับฟ้องสำนวนหลังด้วย ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 4 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นสำนวนแรก การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 4 ในส่วนที่เกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีน จำนวน 29,795 เม็ด ในสำนวนหลังอีก จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2549
ป.อ. มาตรา 86
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)
              การที่จำเลยที่ 2 ขับรถไถนาแบบเดินตามพาจำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้แก่ผู้ค้าเมทแอมเฟตามีนนั้น โดยรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลาง ย่อมเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
             พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 เป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดโทษให้ผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 เพราะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโทษสูงขึ้น เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและอ้างมาตรา 6 (1) ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง จึงต้องถือว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษตามมาตราดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยปรับบทลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
             นอกจากนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดและลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปีนั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 และมาตรา 10 ระวางโทษหนักขึ้นเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งหมายความถึงการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
             (หมายเหตุ :- เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 6 บัญญัติว่า ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
             (1) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ฯลฯ
                  เช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเช่นเดียวกับตัวการได้หรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้ได้วินิจฉัยว่า... บทบัญญัติ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 6 (1) เป็นบทบัญญัติที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 เพราะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโทษสูงขึ้น เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและอ้างมาตรา 6 (1) มาในคำขอท้ายฟ้อง จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษตามมาตราดังกล่าว...
               ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ผู้หมายเหตุเห็นว่าตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อพนักงานอัยการโจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นตัวการ การบรรยายฟ้องก็ต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งหมดร่วมกันกระทำความผิด จะบรรยายฟ้องว่าเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเข้าไปด้วยก็จะกลายเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ศาลสามารถยกฟ้องได้ทันที เหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะกระทำได้ ผู้หมายเหตุเห็นว่า ชื่อกฎหมายคือ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ก็ระบุไว้ในตัวเองชัดว่าต้องการจะปราบปรามมิให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากผลกระทบจากการกระทำความผิดฐานนี้ก่อให้เกิดผลเสียแก่ประเทศชาติทุกด้าน จึงไม่ต้องการให้มีผู้กระทำความผิดฐานนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นเพียงผู้สนับสนุน ศาลก็สามารถลงโทษเท่ากับตัวการได้ตามมาตรา 6 (1) ซึ่งน่าจะเป็นบทบัญญัติที่บังคับศาล โดยโจทก์มิต้องบรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องเข้ามาอีก มิฉะนั้นจะทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุมดังกล่าวแล้วข้างต้น ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า... เพราะทำให้จำเลยต้องรับโทษสูงขึ้น...นั้น ความจริงแล้วจำเลยมิได้รับโทษสูงขึ้นแต่อย่างใด คงได้รับโทษเท่าที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษมาเท่านั้น การที่ศาลวินิจฉัยลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเสียอีก ที่ทำให้จำเลยได้รับโทษน้อยลงกว่าที่โจทก์ขอ
             “ศิริชัย วัฒนโยธิน”