ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗
เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๗ แต่ระเบียบนี้ยังขาดสาระสำคัญหลายประการประกอบกับมีกฎหมายใหม่ และมียาเสพติดที่ถูกควบคุมเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการตรวจพิสูจน์และการเก็บรักษาของกลางยาเสพติดเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้การดำเนินการเกี่ยวกับยาเสพติดของกลาง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗"
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๒๗
ข้อ ๔ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๕ ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รักษาการตามระเบียบนี้
ข้อ ๖ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เสนอเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นผู้วินิจฉัย
หมวด ๑ บททั่วไป
ข้อ ๗ ในระเบียบนี้"เจ้าพนักงาน" หมายความว่า พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร กรรมการเลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
"พนักงานสอบสวน" หมายความว่า พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
"ยาเสพติด" หมายความว่า ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เว้นแต่ยาเสพติดให้โทษประเภท ๓ และให้หมายความรวมถึงวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหยที่ถูกจับหรือยึดได้และสิ่งที่สงสัยว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์หรือสารระเหยดังกล่าวด้วย
"สถานตรวจพิสูจน์" หมายความว่า สถานตรวจพิสูจน์ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
"ผู้ตรวจพิสูจน์" หมายความว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานตรวจพิสูจน์ที่มีความรู้ความสามารถทำการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดและสามารถรายงานผลการตรวจพิสูจน์ได้
"การตรวจพิสูจน์" หมายความว่า การตรวจเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นยาเสพติดหรือไม่ ชนิดประเภทใด ตลอดจนการตรวจหาความบริสุทธิ์ และปริมาณของสารเสพติดด้วย
หมวด ๒ การส่งยาเสพติดให้พนักงานสอบสวน
ข้อ ๘ เมื่อเจ้าพนักงานจับหรือยึดยาเสพติดได้ ไม่ว่าจะมีตัวผู้ต้องหาหรือไม่ ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดทำการตรวจสอบจำนวน ปริมาณและน้ำหนัก และบรรจุยาเสพติดนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อยแข็งแรง ปลอดภัยเท่าที่จะกระทำได้ แล้วให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดจัดทำบันทึกการจับกุมหรือการยึดพร้อมทั้งรายละเอียดตามสมควรไว้เป็นหลักฐานข้อ ๙ ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดรีบนำยาเสพติดพร้อมตัวผู้ต้องหา ถ้ามี ส่งพนักงานสอบสวนโดยเร็ว
ข้อ ๑๐ ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ตรวจสอบยาเสพติดของกลางต่อหน้าผู้ต้องหาและเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดแล้วแต่กรณี และให้ปฏิบัติดังนี้
(๑) ยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ วัตถุออกฤทธิ์หรือสารระเหย ให้บรรจุยาเสพติดทั้งหมดนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อย แข็งแรง ปลอดภัย แล้วลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึด ผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวนในแบบฉลากที่ปิดภาชนะนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
(๒) ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕
(ก) ถ้ามีน้ำหนักไม่ถึงสิบกิโลกรัม ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับ (๑)
(ข) ถ้ามีน้ำหนักตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป ให้บรรจุยาเสพติดทั้งหมดนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อย แข็งแรง ปลอดภัยเท่าที่จะกระทำได้ แล้วลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึด ผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวน ในแบบฉลากที่ปิดภาชนะนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐานแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยเพื่อปฏิบัติตามข้อ ๑๒
ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดและพนักงานสอบสวนร่วมกันบันทึกและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
การปิดฉลากที่ภาชนะบรรจุยาเสพติด ให้ปิดทับภาชนะในลักษณะที่หากจะมีการเปิดภาชนะดังกล่าวแล้ว จะต้องทำให้ฉลากที่ปิดภาชนะฉีดขาดหรือไม่อยู่ในสภาพที่ปิดอยู่ตามปกติ และแบบฉลากที่ใช้ปิดภาชนะยาเสพติด ให้ทำตามแบบ ป.ป.ส. ๖-๓๑ ท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๑๑ ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ลงเลขคดี ชื่อผู้ต้องหาถ้ามี ให้ชัดเจนบนภาชนะที่บรรจุยาเสพติด แล้วส่งยาเสพติดทั้งหมดในสภาพตามที่ได้กระทำไว้ตามข้อ ๑๐ ไปตรวจพิสูจน์ที่สถานตรวจพิสูจน์โดยเร็ว เว้นแต่กรณีตามข้อ ๑๐ (๒) (ข) ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑๒
หนังสือนำส่งยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์ของพนักงานสอบสวน ให้ทำตามแบบป.ป.ส. ๖-๓๒ ท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๑๒ ในกรณียาเสพติดให้โทษประเภท ๕ มีน้ำหนักตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไปตามข้อ ๑๐ (๒) (ข) ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมีหนังสือแจ้งสถานตรวจพิสูจน์ที่ใกล้ที่สุดทราบโดยเร็ว และให้สถานตรวจพิสูจน์ส่งผู้ตรวจพิสูจน์ไปร่วมดำเนินการโดยเร็ว
ให้ผู้ตรวจพิสูจน์ร่วมกับพนักงานสอบสวนตรวจสอบน้ำหนัก ทำการสุ่มตัวอย่างและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน โดยให้บรรจุตัวอย่างยาเสพติดที่สุ่มนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อย แข็งแรง ปลอดภัย แล้วลงลายมือชื่อพนักงานสอบสวนและผู้ตรวจพิสูจน์ไว้เป็นหลักฐานในแบบฉลากที่ปิดภาชนะบรรจุยาเสพติดเช่นเดียวกับข้อ ๑๐ (๒) (ก) แล้วให้ผู้ตรวจพิสูจน์นำตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์ สำหรับยาเสพติดส่วนที่เหลือให้คงเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยตามข้อ ๑๐ (๒) (ข)
การรายงานผลการตรวจยาเสพติดของกลางในกรณีนี้ ให้ผู้ตรวจพิสูจน์รับรองผลการตรวจพิสูจน์ของกลางทั้งหมด
ข้อ ๑๓ ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป นำยาเสพติดของกลางดังต่อไปนี้ส่งด้วยตนเองพร้อมแสดงบัตรประจำตัวด้วยและให้ผู้ตรวจพิสูจน์ทำการบันทึก ชื่อ ตำแหน่งของผู้นำส่งไว้เป็นหลักฐาน
(๑) ยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ หรือประเภท ๒ ซึ่งมีน้ำหนักตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป เฉพาะฝิ่นให้มีน้ำหนักตั้งแต่ห้าร้อยกรัมขึ้นไป
(๒) ยาเสพติดให้โทษประเภท ๔
(๓) ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ซึ่งมีน้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมแต่ไม่ถึงสิบกิโลกรัม
(๔) วัตถุออกฤทธิ์ที่มีน้ำหนักตั้งแต่สิบห้ากรัม หรือสองร้อยเม็ดขึ้นไป
(๕) สารระเหยซึ่งมีน้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมขึ้นไป
ในกรณีที่เป็นยาเสพติดซึ่งมีน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในวรรคก่อนนั้น พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้นำส่งแทน หรือจะจัดส่งกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ในประเภทไปรษณีย์ภัณฑ์ลงทะเบียนโดยการบรรจุสองชั้น ก็ได้
หมวด ๔ การตรวจพิสูจน์
ข้อ ๑๔ ให้สถานตรวจพิสูจน์รับยาเสพติดของกลางที่จัดส่งมาตามระเบียบนี้ไว้เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่ายาเสพติดของกลางที่ส่งมานั้นจะนำมาจากพนักงานสอบสวนนอกเขตพื้นที่ที่สถานตรวจพิสูจน์นั้นรับผิดชอบข้อ ๑๕ ในกรณีจัดส่งยาเสพติดโดยทางไปรษณีย์ภัณฑ์ลงทะเบียน เมื่อปรากฏแก่ผู้เปิดไปรษณีย์ภัณฑ์ว่า สิ่งที่ส่งมายังสถานตรวจพิสูจน์นั้นเป็นยาเสพติดให้ผู้เปิดไปรษณีย์ภัณฑ์นำไปรษณีย์ภัณฑ์ดังกล่าวไปมอบให้หัวหน้าสถานตรวจพิสูจน์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเพื่อดำเนินการต่อไป
ข้อ ๑๖ ในกรณียาเสพติดของกลาง ซึ่งสงสัยว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ หรือประเภท ๒ ซึ่งมีน้ำหนักตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป เฉพาะฝิ่นมีน้ำหนักตั้งแต่ห้าร้อยกรัมขึ้นไป ให้ผู้ตรวจพิสูจน์ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(ก) ให้ผู้ตรวจพิสูจน์ไม่น้อยกว่าสองคน ตรวจสภาพภาชนะที่บรรจุยาเสพติดของกลาง แล้วให้ตรวจยาเสพติดของกลาง ชั่งน้ำหนัก และทำการตรวจพิสูจน์เบื้องต้น โดยวิธีปฏิกิริยาทำให้เกิดสี ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นผู้นำส่งยาเสพติดดังกล่าว และทำบันทึกผลการตรวจพิสูจน์เบื้องต้น ตามแบบ ป.ป.ส. ๖-๓๓ ท้ายระเบียบนี้
(ข) เมื่อทำการตรวจพิสูจน์หาความบริสุทธิ์และรายละเอียดอื่น ๆ ในห้องปฏิบัติการเสร็จแล้วให้สถานตรวจพิสูจน์ส่งผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีทราบ ภายในกำหนดไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันได้รับยาเสพติดของกลาง ตามแบบ ป.ป.ส. ๖-๓๕ ท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๑๗ ในกรณียาเสพติดของกลางซึ่งสงสัยว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ หรือประเภท ๒ ซึ่งมีน้ำหนักไม่ถึงยี่สิบกรัม เฉพาะฝิ่นมีน้ำหนักไม่ถึงห้าร้อยกรัมหรือยาเสพติดให้โทษประเภท ๔ หรือ ประเภท ๕ วัตถุออกฤทธิ์ หรือสารระเหยให้ผู้ตรวจพิสูจน์ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(ก) ให้ผู้ตรวจพิสูจน์ไม่น้อยกว่าสองคนตรวจสภาพภาชนะที่บรรจุยาเสพติดของกลาง แล้วให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ตามแบบ ป.ป.ส. ๖-๓๔ ท้ายระเบียบนี้
(ข) เมื่อทำการตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว ให้สถานตรวจพิสูจน์ส่งผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีทราบ ภายในกำหนดไม่เกินสามสิบวันสำหรับยาเสพติดให้โทษ ประเภท ๑ หรือประเภท ๒ และภายในกำหนดไม่เกินยี่สิบวันสำหรับยาเสพติดให้โทษประเภท ๔ ประเภท ๕ วัตถุออกฤทธิ์หรือสารระเหย ทั้งนี้ นับแต่วันที่ได้รับยาเสพติดของกลาง ตามแบบ ป.ป.ส. ๖-๓๕ ท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๑๘ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลผลการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดไว้ในที่เดียวกัน ให้สถานตรวจพิสูจน์ทุกแห่ง ส่งสำเนารายงานผลการตรวจพิสูจน์ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ทราบเป็นประจำทุกเดือน
หมวด ๕ การเก็บรักษา
ข้อ ๑๙ ให้สถานตรวจพิสูจน์ นำยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ วัตถุออกฤทธิ์และสารระเหย ที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ นำส่งไปเก็บรักษาที่กระทรวงสาธารณสุขการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่น้อยกว่าสามนายเพื่อทำการตรวจรับยาเสพติดที่ส่งมาเก็บรักษา และทำบัญชีไว้เป็นหลักฐาน
สำหรับยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตามข้อ ๑๐ (๒) (ก) ที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้เก็บรักษา
สำหรับยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ที่ส่งมาทางไปรษณีย์ภัณฑ์ที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ให้สถานตรวจพิสูจน์ นำส่งไปเก็บรักษาที่กระทรวงสาธารณสุข
ในกรณีที่ปรากฏว่าสิ่งที่ส่งมาตรวจพิสูจน์ไม่ใช่ยาเสพติด ให้ผู้ตรวจพิสูจน์ส่งคืนพนักงานสอบสวน พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจพิสูจน์
หมวด ๖ การทำลาย
ข้อ ๒๐ การทำลายยาเสพติดของกลางให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลาง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประกาศ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๗
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี