วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ข้อแตกต่างข้อหาสมคบและสนับสนุน

พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔

             เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ให้สามารถดำเนินการกับขบวนการค้ายาเสพติดได้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะได้เพิ่มเติมฐานความผิดที่เป็นลักษณะพิเศษ คือ ความผิดฐานสมคบตามมาตรา ๘  นอกจากนี้ ยังมีการริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยใช้มาตรการริบทรัพย์สิน อันเป็นผลที่ตามต่อเนื่องมาจากการจับกุมด้วย
             ในช่วงที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่ออกใช้บังคับ ผู้สืบสวนก็ต้องรอว่าเมื่อใดจะสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้พร้อมของกลาง ส่วนพยานหลักฐานที่รวบรวมมาก็แทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เพราะต้องรอจับกุมตัวการใหญ่ได้พร้อมของกลางเท่านั้น พระราชบัญญัตินี้จึงออกมาเพื่ออุดช่องว่าง และอาศัยพยานหลักฐานต่าง ๆ ก็เพียงพอที่จะนำตัวการที่อยู่เบื้องหลัง มาลงโทษได้ดีกว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ เพียงอย่างเดียว        

            "มาตรา ๘  ผู้ใดสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้นั้น สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              ถ้าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

              การสมคบ คือ การแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำผิดร่วมกัน ไม่เพียงแต่คุยชักชวนกันเท่านั้น แต่จะต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงการตกลง เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นประกอบ โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้กระทำความผิดตามที่ได้สมคบกันหรือไม่ การสมคบจึงเทียบเคียงกับฎีกาในเรื่องซ่องโจร กล่าวคือ ต้องมีพยานยืนยันได้ว่า จำเลยกับพวกได้คบคิดร่วมกันประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหน เมื่อใด และได้ตกลงกันจะกระทำความผิดอย่างใด ดังนั้น ความผิดฐานสมคบตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ก็จะต้องมีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีการตกลงกัน หาใช่ว่าเมื่อฟังว่าเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดแล้ว จะต้องรับฟังเป็นยุติได้ว่าได้กระทำความผิดฐานสมคบด้วยแต่อย่างใดไม่
              กรณีการจะซื้อจะขายยาเสพติด ซึ่งผู้ขายมีเจตนาขาย ผู้ซื้อมีเจตนาซื้อ ทั้งสองแม้มีเจตนาต่างกัน แต่เมื่อมีการตกลงกันแล้ว ก็ถือได้ว่ามีการสมคบกันที่จะกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว หาใช่ว่าจะต้องมีเจตนาเดียวกันหรือเจตนาร่วมกันไม่ และการสมคบต้องมีเจตนาพิเศษ เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และมีเจตนาธรรมดา คือ รู้สำนึกในการที่กระทำและขณะเดียวกันประสงค์ต่อผลนั้นโดยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก
             เมื่อได้มีการตกลงกันแล้วแม้คนใดคนหนึ่งไปลงมือกระทำความผิด อีกคนหนึ่งก็ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ลงมือด้วยตามมาตรา ๘ วรรคสอง แม้ผู้นั้นจะไม่ได้ร่วมลงมือกระทำความผิดในลักษณะของตัวการร่วมก็ได้ เช่น  ก. จัดหารถยนต์และทำช่องลับบรรจุยาเสพติด แล้ว ข. ทำหน้าที่ขับรถไปรับยาเสพติดไปขาย  การกระทำของ ก. ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่เป็นความผิดฐานสมคบ
            เมื่อมีการสมคบกัน ต่อมา ได้มีการกระทำความผิดหลักจนสำเร็จ ความผิดฐานสมคบและความผิดหลักเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทหนัก
            ถ้าความผิดหลักอยู่ในระหว่างการสอบสวน ยังไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาล ย่อมสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกฟ้องในข้อหาสมคบได้ โดยการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม และฟ้องคดีไปในคราวเดียวกันกับความผิดข้อหาหลัก เมื่อศาลฟังได้ว่าผู้ที่ลงมือกระทำความผิดหลักได้กระทำความผิดฐานสมคบด้วย ศาลจะลงโทษในความผิดหลักเพียงบทเดียว แต่ถ้าความผิดหลักได้ฟ้องคดีต่อศาลไปแล้ว ภายหลังหากฟ้องผู้กระทำผิดในข้อหาสมคบอีก ก็จะเป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ

             "มาตรา ๖  ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
            (๑) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
            (๒) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ
            (๓) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม
            (๔) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากผู้กระทำความผิดเพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ
            (๕) ปกปิด ซ่อนเร้นหรือเอาไปเสียซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุใด ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด
            (๖) ชี้แนะ หรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด
            ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

             ข้อแตกต่าง ข้อหาสมคบ ต่างจากการดำเนินคดีตามมาตรา ๖ ข้อหาสนับสนุน หรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิด กล่าวคือ มาตรา ๖ จะต้องมีความผิดหลักเกิดขึ้น จึงจะสามารถดำเนินคดีตามมาตรา ๖ ได้ เพราะวรรคแรก ใช้ถ้อยคำว่า "ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" ซึ่งมีความหมายตามมาตรา ๓

             "มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
               “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุนช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย"

             "มาตรา ๑๔  การจับกุมหรือการแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๖ หรือตามมาตรา ๘ ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการก่อน และเมื่อดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติแล้ว ให้รายงานให้เลขาธิการทราบทันที
             การขออนุมัติ การอนุมัติ และการรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง"

             การจับกุมหรือแจ้งข้อหาจะทำการไปพลางก่อน แล้วขออนุมัติภายหลังไม่ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องขออนุมัติก่อนเสมอ ถ้าหากมีการจับกุมหรือแจ้งข้อหาตามมาตรา ๖ หรือตามมาตรา ๘ ก่อนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ ป.ป.ส. จะทำให้การสอบสวนไม่ชอบ พนักงานอัยการจะไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหานี้ได้ (กรณีแตกต่างจากการสอบสวนคดีอาญาที่กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานสอบสวนคนใดก็ได้ และพนักงานสอบสวนซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจหรือที่พบการกระทำผิดสามารถสอบสวนไปพลางก่อนได้แล้วขออนุมัติไปยังอธิบดีกรมอัยการ)
              การสมคบเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น
              รูปแบบแรก  ก. และ ข. สมคบโดยการตกลงกันจัดหาเมทแอมเฟตามีนมาเพื่อจำหน่ายต่อให้กับลูกค้า ต่อมา ข. เพียงคนเดียวซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนักค้ายาเสพติดมาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน ดังนี้ ก. และ ข. มีความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด (มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง) ส่วน ข. มีความผิดฐาน มียาเสพติดให้โทษฯ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ส่วน ก. แม้ไม่ได้ลงมือกระทำความผิดข้อหามียาเสพติดฯ ร่วมกับ ข.  แต่ ก. ก็ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดในข้อหามียาเสพติดให้โทษฯ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยผลของ พ.ร.บ.มาตรการ ฯ (มาตรา ๘ วรรคสอง)
              รูปแบบสอง  ก. กับ ข. สมคบกัน โดย ข.ไปจัดหา ค. เป็นผู้ลำเลียงยาเสพติด ต่อมา ค. ถูกจับกุมตัวพร้อมยาเสพติดของกลาง ก. กับ ข. ก็ต้องระวางโทษตามมาตรา ๘ วรรคสอง เป็นต้น
              ในการดำเนินคดี จะต้องแยกบทบาทของผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดให้ออกว่าใครคือผู้สมคบ ใครคือผู้สนับสนุน และใครคือตัวการ เพื่อจะได้วางแนวทางการสืบสวนสอบสวนและฟ้องคดีให้ถูกต้อง อันจะทำให้สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดตามพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดแต่ละคนได้
              เมื่อมีการสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แล้ว ต่อมา ได้มีการกระทำความผิดหลักจนสำเร็จ ความผิดฐานสมคบและความผิดหลักเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทหนัก
              ถ้าความผิดหลักอยู่ในระหว่างการสอบสวน ยังไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาล ย่อมสามารถดำเนินคดีในข้อหาสมคบฯ ได้ โดยการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม แต่ให้แยกสำนวนการสอบสวน และฟ้องไปในคราวเดียวกันกับความผิดข้อหาหลัก
              ถ้าในความผิดหลักได้ฟ้องคดีต่อศาลแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณา หากฟ้องในข้อหาสมคบอีกจะเป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง เพราะเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท
              ถ้าความผิดหลักได้ฟ้องคดีต่อศาลและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว หากฟ้องข้อหาสมคบอีก ก็จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๔)
             (ที่มา : คัดย่อจาก คู่มือการดำเนินคดีข้อหาสมคบและสนับสนุนหรือช่วยเหลือ สำนักกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ส.)  

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๑๑๑๒/๒๕๔๓
ป.วิ.อ.  มาตรา ๑๒๐
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.๒๕๑๙ มาตรา ๘
             ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดบางกรณีจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีบุคคลสองฝ่ายมาตกลงร่วมคบคิดกัน เช่น การจำหน่ายยาเสพติดให้โทษจะต้องมีผู้ขายฝ่ายหนึ่งกับผู้ซื้ออีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายมีเจตนาคนละอย่างกัน ผู้ขายมีเจตนาที่จะขาย ผู้ซื้อมีเจตนาที่จะซื้อ เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันที่จะขายและจะซื้อยาเสพติดให้โทษต่อกัน ก็ถือว่าได้สมคบโดยการตกลงร่วมคบคิดกันที่จะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าจะต้องมีเจตนาเดียวกันหรือเจตนาร่วมกันไม่
             จากการสอบสวนพยานหลักฐานต่าง ๆ พนักงานสอบสวนเชื่อว่า จำเลยและ ล. กระทำความผิดในข้อหาสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงเสนอต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ขออนุมัติแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมและได้รับการอนุมัติแล้ว พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลย แต่จำเลยให้การปฏิเสธ แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยาน แต่จำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งยังยอมรับว่าได้มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยเพราะได้มีการสมคบกันแล้ว จึงฟังได้ว่าได้มีการสอบสวนจำเลยในข้อหาสมคบกันตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยชอบแล้ว
             หมายเหตุ.- คดีนี้ นาง ส. จำเลยเป็นนักค้ายาเสพติดสั่งซื้อยาเสพติดจากนาย ล.  โดยนาย ล. สั่งให้นาย ก. กับนาย ท. นำเฮโรอีน ๘ ถุง มาส่งให้นาง ส. พร้อมกับรับเงินเพื่อไปมอบให้นาย ล.  เมื่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. จับกุม นาย ก. กับนาย ท. ได้พร้อมเงินดังกล่าว พร้อมกับเศษเฮโรอีนเล็กน้อยในช่องลับใต้เบาะหลังรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะ และดำเนินคดี นาย ก. กับนาย ท. ในข้อหา “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย  และดำเนินคดี นาง ส. กับนาย ล. ในข้อหาสมคบฯ และได้มีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามมาตรา ๘ วรรคสอง และร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย”
            นาง ส. ถูกจับกุมได้ในภายหลัง ถูกแยกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง ส่วนนาย ล. ยังจับกุมไม่ได้  นาง ส. ไม่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิด เพราะอยู่ในฐานะผู้ซื้อ ส่วนนาย ล. ก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าร่วมกระทำในขั้นลงมือกระทำความผิดกับนาย ก.และนาย ท. แต่อย่างใด  นาย ล. อาจเป็นผู้ใช้ตาม ป.อ. มาตรา ๘๔ เมื่อตั้งข้อหาสมคบแล้วก็ไม่จำต้องพิจารณาเรื่องผู้ใช้ จึงยกฟ้องในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๒๕๖๔/๒๕๔๓
ป.อ.  มาตรา ๘๐, ๘๓, ๘๖
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.๒๕๑๙ มาตรา ๕, ๘
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๔๖๕  มาตรา ๔, ๑๕, ๖๖
                เจ้าพนักงานตำรวจประเทศอินโดนีเซียจับ  ม.  ต. กับ  บ. ได้พร้อมเฮโรอีนจำนวน ๖ ห่อ ที่ประเทศอินโดนีเซีย และค้นบ้าน ม. ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ ๔๐ - ๕๐ กิโลเมตร พบเฮโรอีนอีก ๕๔ ห่อ  ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองตามหมายจับ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับพวกมีเฮโรอีน ๖๐ ห่อ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนจำนวน ๖ ห่อ แต่พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองสมคบโดยร่วมกับพวกส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย
               "การมีไว้ในครอบครอง" ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา ๔ มิได้บัญญัติให้มีความหมายพิเศษ จึงต้องถือว่ามีความหมายทั่้วไปตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕  การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ จึงมีความหมายเพียงว่า ยาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยทั้งสองโดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ  เมื่อปรากฏว่าเฮโรอีนของกลาง จำนวน ๖๐ ห่อ อยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของ ม. ที่ประเทศอินโดนีเซีย และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีความเกี่ยวพันกับจำเลยทั้งสองอย่างไร ส่วนจำเลยทั้งสองอยู่ในราชอาณาจักรไทยซึ่งห่างไกลกันโดยระยะทาง ย่อมไม่อาจที่จะยึดถือหรือปกครองดูแลเฮโรอีนดังกล่าวได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองรู้ที่เก็บเฮโรอีน และการนำเฮโรอีนออกมายังต้องจ่ายเงินให้ผู้เก็บรักษาก่อน จึงจะนำออกมาได้ บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองน่าจะไม่ใช่เจ้าของหรือมีสิทธิยึดถือปกครองดูแลเฮโรอีนอีกด้วย เช่นนี้ ข้อเท็จจริงย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สมคบโดยร่วมกันครอบครองเฮโรอีนของกลาง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
               โจทก์มี ส. และ พ. ซึ่งได้ติดตามเฝ้าดูพฤติการณ์การเจรจาซื้อขายเฮโรอีนระหว่างจำเลยทั้งสองกับพวกและสายลับจนมีการตกลงในเงื่อนไขต่าง ๆ สำเร็จมาเบิกความ  โดย ส. ได้บันทึกภาพและเสียงขณะมีการเจรจาไว้ด้วย  คำเบิกความของ ส. และ พ. ที่ระบุถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่จะมีการซื้อขายเฮโรอีนและส่งมอบ จึงมีเหตุผลน่าเชื่อถือ รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองติดต่อเจรจาเพื่อซื้อขายเฮโรอีนกับสายลับจริง และนัดให้มีการส่งมอบเฮโรอีนที่ประเทศอินโดนีเซีย  แต่เมื่อพฤติการณ์ในการจับกุมปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจของประเทศอินโดนีเซียเข้าจับกุมขณะที่ผู้ซื้อเฮโรอีนกำลังตรวจสอบเฮโรอีนห่อหนึ่งอยู่  ดังนี้ เมื่อมีการตรวจสอบเฮโรอีนแล้ว ยังมิได้มีการส่งมอบเฮโรอีน ๕ ห่อ ซึ่งอยู่ในกระเป๋า  ส่วนสายลับก็ยังมิได้นำเงินตามจำนวนที่ตกลงกันมอบให้ฝ่ายผู้ขายแต่อย่างใด การซื้อขายเฮโรอีนจึงยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ เมื่อผู้ขายถูกจับเสียก่อนที่จะส่งมอบเฮโรอีน การกระทำในส่วนนี้จึงเป็นความผิดเพียงฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีน จำนวน ๖ ห่อ
              การที่จำเลยที่ ๑ ร่วมเจรจากับสายลับมาแต่ต้น โดยแสดงพฤติการณ์ทำนองว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของเฮโรอีนที่จะจำหน่ายให้ และได้ส่งนาย บ. และนาย ต. ไปประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียเพื่อรับมอบเฮโรงอีนจากนาย ม. มามอบให้แก่พวกของสายลับ ทั้งตกลงให้โอนเงินที่จำหน่ายเฮโรอีนเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำกับนาย บ. และนาย ต.  จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกพยายามจำหน่ายเฮโรอีน จำนวน ๖ ห่อ
              ส่วนจำเลยที่ ๒ เข้าร่วมเจรจากับจำเลยที่ ๑ และสายลับในระยะหลัง ตอนที่พวกของจำเลยที่ ๑ นำเฮโรอีนจากผู้เก็บรักษามาไม่ได้ โดยผู้เก็บรักษาต้องการเงินก่อน แม้จำเลยที่ ๒ จะไปช่วยเจรจากับสายลับ จนสายลับตกลงที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้เก็บรักษา แลกกับเฮโรอีนจำนวนหนึ่งก็ตาม พฤติการณ์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ ๒ สมคบโดยเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ พยายามจำหน่ายเฮโรอีน  คงฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ ๒ สมคบกับจำเลยที่ ๑ เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ ๑ ในการจำหน่ายเฮโรอีนให้แก่สายลับ แต่เมื่อมีการกระทำผิดฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีนตามที่สมคบกัน จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับโทษฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีนด้วย ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา ๘ วรรคสอง