วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

จำหน่ายยาเสพติดให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๓๔/๒๕๕๙
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔
             จำเลยฎีกาว่า นาย ธ. ฝากเงิน ๓๐๐ บาท ให้จำเลยไปซื้อเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด มาเสพด้วยกัน หลังจากจำเลยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาได้แล้ว จึงมอบเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่นาย ธ. ไปนั้น
             โจทก์มีนาย ธ. เป็นพยานเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยมาหาพยานที่ห้องพักเพื่อเสพเมทแอมเฟตามีนด้วยกัน จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่พยาน พยานจึงเสพเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจค้นห้องพัก และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนได้จากตัวจำเลย ๑๑ เม็ด พยานแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบว่าได้เมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด มาจากจำเลย และพยานให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่พยาน เห็นว่า นาย ธ. เบิกความสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งคำให้การดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ ทั้งให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังจากเกิดเหตุเพียง ๑ วัน ยังไม่ทันที่นาย ธ. มีเวลาคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้ผิดเพี้ยนไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่านาย ธ. ให้การในชั้นสอบสวนไปตามความเป็นจริง ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนอันจะเป็นเหตุจูงใจให้พนักงานสอบสวนต้องบันทึกคำให้การให้แตกต่างไปจากคำให้การของนาย ธ. เพื่อปรักปรำจำเลยให้ต้องโทษแต่อย่างใด เชื่อว่านาย ธ. เบิกความตอบคำซักถามของโจทก์แต่แรกไปตามความเป็นจริง
             ที่จำเลยอ้างว่านาย ธ. ฝากเงินจำเลยไปซื้อเมทแอมเฟตามีนนั้นเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด มาแบ่งให้นาย ธ. เสพ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ยาเสพติดแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นโดยวิธีการให้ อันเป็นการจำหน่ายตามบทนิยามคำว่า "จำหน่าย" ตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ แล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และที่จำเลยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๐๕/๒๕๕๕ มาเทียบเคียงกับคดีนี้ เพื่อสนับสนุนว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานนี้นั้น คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจเทียบเคียงกันได้
             ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วยแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๓๕/๒๕๕๙
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖
              พฤติการณ์ของจำเลยที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่ บ. หลังจากนั้นแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ บ. ส. ท. และ ร. คนละ ๑/๔ เม็ด เพื่อนำไปเสพอีก และจำเลยก็เสพในเวลาต่อเนื่องกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะเสพด้วย จึงแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าว เพื่อจะเสพพร้อมกับจำเลย
              กรณีไม่ใช่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าวเพื่อให้แต่ละคนไปเสพเพียงลำพังภายหลัง จึงเป็นการมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน มิใช่มีเจตนาแจกจ่ายให้แก่บุคคลดังกล่าว
              การกระทำของจำเลยหาได้อยู่ในความหมายของคำว่า "จำหน่าย" ตามความในมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๐๕/๒๕๕๕
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔
             แม้โจทก์มีนาย ว. และนาย ส. เป็นประจักษ์พยาน เบิกความยืนยันว่า พยานซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาเสพ แต่ก็ต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง เพราะนาย ว. และนาย ส. ต่างเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า พยานเคยเสพเมทแอมเฟตามีนกับจำเลย ทั้งนาย ส. เบิกความต่อไปว่า ในช่วงที่พยานเสพเมทแอมเฟตามีน พยานไม่เคยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ส่วนที่นาย ว. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในเดือนมกราคม ๒๕๔๖ พยานถามจำเลยว่า "มียาบ้าเสพหรือไม่" จำเลยบอกว่า ให้เอาเงินมา ๑๒๐ บาท แล้วจำเลยได้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาให้พยาน จึงเป็นกรณีที่จำเลยช่วยซื้อเมทแอมเฟตามีนให้นาย ว. เพื่อนำมาเสพด้วยกันเหมือนเช่นเคย หาใช่จำเลยมีเจตนาขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือให้ อันจะต้องด้วยบทนิยามศัพท์ของคำว่า "จำหน่าย" ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔ ไม่ คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่นาย ว. และนาย ส. เมื่อโจทก์ไม่มีพยานแวดล้อมอื่นประกอบ ลำพังคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนจะนำมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๘๗๕/๒๕๕๓
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๔)
              โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า  ข้อ ๑  เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๓ กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ร่วมกันกระทำความผิด กล่าวคือ
              (ก) จำเลยที่ ๓ มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำนวน ๑๐ เม็ด น้ำหนัก ๐.๙๑ กรัม คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๒๒๑ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
             (ข) จำเลยที่ ๓ จำหน่ายโดยการให้เมทแอมเฟตามีน จำนวน ๑๐ เม็ด ดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยไม่ได้รับอนุญาต และ
             (ค) จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีน จำนวน ๑๐ เม็ด น้ำหนัก ๐.๙๑ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
               ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยที่ ๑ ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ และที่่ ๒ นำไปส่งมอบต่อให้แก่ลูกค้า  โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ ๓ ที่ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ถือเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องข้อ ๑ (ข) ด้วย
               เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๓ ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ และที่่ ๒ นำไปส่งมอบต่อให้แก่ลูกค้านั้น เป็นการกระทำในระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำหน่าย เพราะการจำหน่ายหมายถึงการจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำผิดด้วยกัน จำเลยที่ ๓ จึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องข้อ ๑ (ข) แต่มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องข้อ ๑ (ก) เท่านั้น