วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตัวการร่วม ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5068/2555
ป.อ. มาตรา 83, 84
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) , 66 วรรคสอง (เดิม)
            จำเลยกับพวก ว่าจ้างให้ ธ. นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่กรุงเทพฯ เห็นว่า การกระทำของจำเลยกับพวกที่มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก่อนที่จำเลยกับพวกจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ธ. นั้นเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยที่จำเลยกับพวกยังไม่ต้องส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ธ.  จำเลยกับพวกจึงเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง มิใช่เป็นผู้ก่อให้ ธ. กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด
             เนื่องจากความผิดฐานเป็นผู้ใช้ จะต้องยังไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยเพียงแต่โต้เถียงว่าจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีน จึงเห็นว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง (ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ในข้อสาระสำคัญ และทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6196/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225, 227/1
ป.อ. มาตรา 53, 78, 86
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม)
              แม้คำเบิกความของ อ. ที่กล่าวถึงการกระทำของจำเลย จะเป็นพยานซัดทอดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน
              จำเลยเป็นเพียงคนกลางติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์ในส่วนการกระทำของจำเลยไปแล้ว หลังจากนั้นเมทแอมเฟตามีนย่อมตกเป็นของ อ. เพียงลำพัง โดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าของและร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย จำเลยไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน หากแต่การที่จำเลยติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ อ. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86
              แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาฎีกาที่ 9929/2553
               จำเลยไปหา ช. ที่บ้าน ว่าจ้างให้ขนแมทแอมเฟตามีนจากจังหวัดเชียงใหม่ มาส่งยังจังหวัดพังงา  หลังจากนั้นจำเลยขับรถยนต์พา ช. เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และพักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งจำเลยติดต่อซื้อแมทแอมเฟตามีนได้แล้ว จึงให้ ช. ขนไปจังหวัดพังงา และมอบเงินธนบัตร 500 บาท 3 ฉบับ เป็นค่าโดยสารและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนจำเลยขับรถยนต์กลับไปตามลำพัง
               เมื่อ ช.  เดินทางมาถึงจุดตรวจของ สภ.สบปราบ จว.ลำปาง เจ้าพนักงานตรวจเรียกให้รถโดยสารที่ ช. นั่งมาหยุดเพื่อตรวจค้น และค้นพบเมทแอมเฟตามีน จำนวน 17 ถุง ในกระเป๋าเดินทางของ ช. และยังพบธนบัตร 500 บาท 2 ฉบับ และกระดาษจดหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยกับตั๋วโดยสารอยู่ด้วย อันเป็นการที่จำเลยว่าจ้าง ช. ให้ขนแมทแอมเฟตามีนไปยังที่นัดหมาย
              การกระทำของจำเลยเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด จึงเป็นผู้ใช้ในการกระทำความผิด มิใช่ตัวการร่วมกับ  ช. แต่ถือได้ว่าจำเลยให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ช. ก่อนหรือขณะกระทำความผิด อันฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เนื่องจากเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192  วรรคสอง  ศาลจึงลงโทษจำเลยในฐานะเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86  ได้

เจ้าพนักงานกระทำผิดต้องระวางโทษเป็นสามเท่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 212
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10
              จำเลยเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 27 และ 28 ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ของจำเลย จึงเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10
              เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยสามเท่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 นั้นไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงชอบที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ กรณีไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2549
ป.อ. มาตรา 86
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)
               ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดและลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปีนั้น ยังไม่ถูกต้อง  เพราะตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 และมาตรา 10 ระวางโทษหนักขึ้นเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งหมายความถึงการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พ.รบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
             "มาตรา 100  กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการหรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534
            "มาตรา 10  กรรมการหรืออนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาลหรือสภาท้องถิ่นอื่น ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ใด กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกระทำความผิดตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"
            "มาตรา 42  ผู้ใดยักย้าย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ หรือรับไว้โดยมิชอบด้วยประการใดซึ่งทรัพย์สินที่มีคำสั่งยึดหรืออายัดหรือที่ตนรู้ว่าจะถูกยึดหรืออายัดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๗

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗

               เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ  ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๗  แต่ระเบียบนี้ยังขาดสาระสำคัญหลายประการประกอบกับมีกฎหมายใหม่ และมียาเสพติดที่ถูกควบคุมเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการตรวจพิสูจน์และการเก็บรักษาของกลางยาเสพติด
               เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้การดำเนินการเกี่ยวกับยาเสพติดของกลาง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
                ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗"
                ข้อ ๒  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                ข้อ ๓  ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ  ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๒๗
                ข้อ ๔  ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
                ข้อ ๕  ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รักษาการตามระเบียบนี้
                ข้อ ๖  ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เสนอเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นผู้วินิจฉัย

หมวด ๑  บททั่วไป
                 ข้อ ๗  ในระเบียบนี้
                   "เจ้าพนักงาน"  หมายความว่า พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร กรรมการเลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
                   "พนักงานสอบสวน"  หมายความว่า พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                   "ยาเสพติด"  หมายความว่า ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เว้นแต่ยาเสพติดให้โทษประเภท ๓ และให้หมายความรวมถึงวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหยที่ถูกจับหรือยึดได้และสิ่งที่สงสัยว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์หรือสารระเหยดังกล่าวด้วย
                   "สถานตรวจพิสูจน์"  หมายความว่า สถานตรวจพิสูจน์ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                   "ผู้ตรวจพิสูจน์"  หมายความว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานตรวจพิสูจน์ที่มีความรู้ความสามารถทำการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดและสามารถรายงานผลการตรวจพิสูจน์ได้
                   "การตรวจพิสูจน์"  หมายความว่า การตรวจเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นยาเสพติดหรือไม่ ชนิดประเภทใด ตลอดจนการตรวจหาความบริสุทธิ์ และปริมาณของสารเสพติดด้วย

หมวด ๒  การส่งยาเสพติดให้พนักงานสอบสวน
                 ข้อ ๘  เมื่อเจ้าพนักงานจับหรือยึดยาเสพติดได้ ไม่ว่าจะมีตัวผู้ต้องหาหรือไม่ ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดทำการตรวจสอบจำนวน ปริมาณและน้ำหนัก และบรรจุยาเสพติดนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อยแข็งแรง ปลอดภัยเท่าที่จะกระทำได้ แล้วให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดจัดทำบันทึกการจับกุมหรือการยึดพร้อมทั้งรายละเอียดตามสมควรไว้เป็นหลักฐาน
                 ข้อ ๙  ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดรีบนำยาเสพติดพร้อมตัวผู้ต้องหา ถ้ามี ส่งพนักงานสอบสวนโดยเร็ว
                 ข้อ ๑๐  ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ตรวจสอบยาเสพติดของกลางต่อหน้าผู้ต้องหาและเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดแล้วแต่กรณี และให้ปฏิบัติดังนี้
                   (๑)  ยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ วัตถุออกฤทธิ์หรือสารระเหย ให้บรรจุยาเสพติดทั้งหมดนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อย แข็งแรง ปลอดภัย แล้วลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึด ผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวนในแบบฉลากที่ปิดภาชนะนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
                   (๒)  ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕
                          (ก)  ถ้ามีน้ำหนักไม่ถึงสิบกิโลกรัม ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับ (๑)
                          (ข)  ถ้ามีน้ำหนักตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป ให้บรรจุยาเสพติดทั้งหมดนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อย แข็งแรง ปลอดภัยเท่าที่จะกระทำได้ แล้วลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึด ผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวน ในแบบฉลากที่ปิดภาชนะนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐานแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยเพื่อปฏิบัติตามข้อ ๑๒
                   ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดและพนักงานสอบสวนร่วมกันบันทึกและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
                   การปิดฉลากที่ภาชนะบรรจุยาเสพติด ให้ปิดทับภาชนะในลักษณะที่หากจะมีการเปิดภาชนะดังกล่าวแล้ว จะต้องทำให้ฉลากที่ปิดภาชนะฉีดขาดหรือไม่อยู่ในสภาพที่ปิดอยู่ตามปกติ และแบบฉลากที่ใช้ปิดภาชนะยาเสพติด ให้ทำตามแบบ ป.ป.ส. ๖-๓๑ ท้ายระเบียบนี้

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

แนวทางประสานงาน กรณีของกลางตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ

ส่วนที่ ๖
การดําเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิด
เกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔

               ข้อ ๑๙  ในกรณีที่พนักงานอัยการไม่ขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลางในคดียาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๓๐ และตามกฎหมายอื่น โดยเห็นสมควรให้พนักงานสอบสวนจัดการของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕
                หากพนักงานอัยการ เห็นว่า ทรัพย์สินของกลางอาจเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก ให้พนักงานอัยการมีหนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนประสานไปยังสํานักงาน ป.ป.ส. เพื่อเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของกลางดังกล่าวตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๙ ก่อนที่จะคืนของกลางให้แก่เจ้าของ โดยส่งสําเนาหนังสือให้สํานักงาน ป.ป.ส. ทราบด้วย
                เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการดังกล่าวแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งรายละเอียด เกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส. เพื่อดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน
                กรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. มีคําสั่งให้มีการตรวจสอบ และสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของกลาง ให้พนักงานสอบสวนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้มีอํานาจดําเนินการรับมอบและส่งมอบทรัพย์สินของกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคําสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของกลาง
                 หากพนักงานสอบสวนไม่ได้รับคําสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของกลางจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สํานักงาน ป.ป.ส. ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ วรรคท้าย

                 ข้อ ๒๐  เมื่อศาลรับคําร้องขอให้ริบทรัพย์สินของพนักงานอัยการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๗ แล้ว ให้พนักงานอัยการมีหนังสือแจ้งเลขาธิการ ป.ป.ส. เพื่อดําเนินการตามมาตรา ๒๘ โดยเร็ว พร้อมทั้งแจ้งกําหนดวันนัดไต่สวนด้วย
                 ให้สํานักงาน ป.ป.ส. ดําเนินการแจ้งสิทธิให้ผู้เป็นเจ้าของหรือมีหลักฐานเป็นเจ้าของให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และส่งหลักฐานการดําเนินการแจ้งสิทธิให้พนักงานอัยการภายในกําหนดเวลานัดไต่สวน
                 ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการแจ้งสิทธิได้ทันวันนัดไต่สวนของศาล ให้สํานักงาน ป.ป.ส. มีหนังสือแจ้งพนักงานอัยการทราบก่อนวันนัดไต่สวนของศาล เพื่อพนักงานอัยการจะได้แจ้งให้ศาล และพยานทราบเหตุดังกล่าว
                  ก่อนถึงวันนัดไต่สวน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล ประสานไปยังพนักงานอัยการเพื่อยืนยันการเป็นพยานศาล พร้อมทั้งตรวจสอบว่า ได้มีการดําเนินการแจ้งสิทธิ ตามมาตรา ๒๘ เรียบร้อยแล้วหรือไม่ หากยังไม่เสร็จเรียบร้อยให้รีบดําเนินการให้เรียบร้อยก่อนวันนัดไต่สวน

               ข้อ ๒๑  ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจผู้เป็นหัวหน้าในการสืบสวน หรือหัวหน้าพนักงานสอบสวน พิจารณาเห็นว่าจําเป็นต้องดําเนินคดีต่อผู้กระทําความผิดในฐาน สนับสนุน ช่วยเหลือหรือสมคบกันกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้รีบดําเนินการรวบรวม ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ดังกล่าว แล้วประสานงานกับสํานักงาน ป.ป.ส. เพื่อเสนอขออนุมัติจับกุมหรือแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทําความผิดจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ตามหลักเกณฑ์วิธีการและขั้นตอนที่กําหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔

(ข้อกฎหมาย.- พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔
               มาตรา ๑๙  ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหารายใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้น ฯลฯ
               มาตรา ๒๗  เมื่อพนักงานอัยการมีคําสั่งฟ้อง และทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคําสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา ๒๒ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น โดยจะยื่นคําร้องไปพร้อมกับคําฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ก่อนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาก็ได้ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าไม่สามารถยื่นคําร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา จะยื่นคําร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาก็ได้ เว้นแต่มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ฯลฯ
               มาตรา ๒๘  เมื่อศาลสั่งรับคําร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๒๗ แล้ว ให้ศาลสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจําหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกัน เพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคําร้องขอเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด ในกรณีที่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ใดอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ก็ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบเพื่อใช้สิทธิดังกล่าวด้วย โดยแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏหลักฐานในสํานวนการสอบสวน ฯลฯ
               มาตรา ๓๐  บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่ก็ตาม ฯลฯ)

(ข้อพิจารณา.- ถ้าหากพนักงานสอบสวนเห็นว่า คดีมีแนวโน้มว่าศาลจะพิพากษายกคำขอให้สั่งริบของกลาง ก็ให้พนักงานสอบสวนประสานไปยัง สํานักงาน ป.ป.ส. เพื่อเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของกลางนั้น ควบคู่กันไปได้ในทันที)

บทกฎหมายกรณีเสพและเป็นผู้ขับขี่

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒

             "มาตรา ๕๗  ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๕"

             "มาตรา ๙๑  ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒

             "มาตรา ๔๓ ทวิ  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
              ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการมีอํานาจจัดให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่รถบางประเภทตามที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าได้เสพยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามวรรคหนึ่งหรือไม่ และหากผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าผู้ขับขี่นั้นไม่ได้เสพก็ให้ผู้ขับขี่นั้นขับรถต่อไปได้
              ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ตรวจสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการมีอํานาจกักตัวผู้นั้นไว้เพื่อดําเนินการตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จําเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การตรวจสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็วและเมื่อผู้นั้นยอมรับการตรวจสอบแล้ว หากผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าไม่ได้เสพ ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
              การตรวจสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง"

              "มาตรา ๑๕๗/๑  ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการที่ให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา ๔๓ ทวิ หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ตรวจการที่ให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา ๔๓ ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท          
               ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อีกหนึ่งในสาม และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกําหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกําหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกําหนดไม่น้อยกว่าสองปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่"

(ข้อพิจารณา.-  ความผิดฐาน "เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ และเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ โดยผิดกฎหมาย" นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๗, ๙๑  พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗/๑ วรรคสอง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗/๑ วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๙๑  ซึ่งเป็นบทหนักสุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ (โดยทั่วไปถ้าหากไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาอื่นที่จะต้องเพิ่มโทษมาก่อนแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ๘ เดือน ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท ถ้ารับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘  คงจำคุก ๔ เดือน ปรับ ๑๐,๐๐๐  บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด ๒ ปี ให้คุมประพฤติ ๑ ปี และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกประเภท และพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด ๖ เดือน)