วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การฟอกเงินเกี่ยวกับยาเสพติด

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒

            การดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา ๕  ผู้กระทำผิด ต้องกระทำการ ดังนี้
            (๑)  โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น ฯลฯ
            (๒)  กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

            "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามมาตรา ๓  หมายถึง
            (๑)  เงินหรือทรัพย์สิน ที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ฯลฯ
            (๒)  เงินหรือทรัพย์สิน ที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน ด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (๑) หรือ
            (๓)  ดอกผล ของเงินหรือทรัพย์สินตาม (๑) หรือ (๒)
            ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (๑) (๒) หรือ (๓) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด

             "ความผิดมูลฐาน" ตามมาตรา ๓ มี ๒๕ เรื่อง  ตัวอย่างเช่น
               (๑)  ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น

              ดังนั้น การจะดำเนินคดีฐานฟอกเงินได้นั้น การกระทำนั้นต้อง "เป็นความผิดมูลฐาน" ก่อน เช่น บุคคลนั้นต้องกระทำผิด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๓ ได้แก่ การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย เป็นต้น
              เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินด้วย และผู้ที่โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินนั้น ตลอดจนการกระทำเพื่อปกปิด อำพรางการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น ย่อมมีความผิดฐานฟอกเงิน

             พ.ร.บ.มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ นอกจากจะมีบทกำหนดโทษทางอาญาในการกระทำความผิดในลักษณะต่าง ๆ เกี่ยวกับยาเสพติดด้วยการลงโทษจำคุกแล้ว (มาตรา ๒๗) พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และ (มาตรา ๓๐) พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น ให้สั่งริบทรัพย์สินที่เป็นบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นได้
            แต่ถ้าหากศาลไม่ลงโทษตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ ข้างต้นแล้ว สามารถดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้อีก (มาตรา ๕๘) ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดใด เป็นทรัพย์สินที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายอื่นได้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นตามกฎหมายดังกล่าว หรือดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวแล้วแต่ไม่เป็นผล หรือการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ก็ให้ดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.นี้ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า นอกจากผู้กระทำผิดต้องรับโทษอาญาฐานฟอกเงินแล้ว ยังต้องถูกดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย

            วิธีการดำเนินการ
            -  สามารถแยกสำนวนคดีมาตรการฯ และสำนวนคดีฟอกเงิน ออกจากกันเพื่อความสะดวกในการดำเนินคดี เพราะทั้งสองคดีเป็นความผิดต่างกรรมกัน
            -  กรณีสงสัยที่มาของเงิน ต้องสืบสวนสอบสวนว่า ใครโอนเงินมาให้ เป็นเงินมีที่มาจากอะไร ต้องตรวจสอบประวัติผู้ได้รับมอบอำนาจไปถอนเงินจากบัญชีธนาคาร การเคลื่อนไหวของเงินในบัญชีธนาคารที่มีมากผิดปกติ และไม่สมกับฐานะและรายได้จากการประกอบอาชีพสุจริตของบุคคลนั้น
            -  การยึดหรืออายัดทรัพย์ในคดีมาตรการฯ มาตรา ๓๒ ในกรณีที่มีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจําเลยรายใด การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจําเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดของผู้ต้องหาหรือจําเลยรายนั้นสิ้นสุดลง
            -  หากไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.มาตรการฯ ริบทรัพย์สิน เนื่องจากศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดียาเสพติดในข้อหาหลักดังกล่าวได้ พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน ได้อีก เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติเพื่อช่วยอุดช่องโหว่ที่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถปราบปรามการฟอกเงินหรือดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้เท่าที่ควร ให้สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังมีบทสันนิษฐานตามมาตรา ๕๑ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต
            -  เจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ คือ ประสงค์ตัดวงจรและทําลายแรงจูงใจในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงกําหนดมาตรการดําเนินการต่อการฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพ คือ มาตรการทางอาญาที่ดําเนินคดีต่อบุคคลกรณีหนึ่ง และมาตรการทางแพ่งที่ดําเนินคดีต่อทรัพย์สินอีกกรณีหนึ่ง มาตรการทางแพ่งได้บัญญัติวิธีการบังคับต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดด้วย เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน จึงถือเป็นมาตรการทางแพ่งซึ่งใช้บังคับย้อนหลังแก่ทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดได้ (หรือต้องบังคับเอาจากทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากวันที่ ๑๙ ส.ค.๒๕๔๒)
            -  การดำเนินคดีความผิดฐานฟอกเงิน ที่ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินสูงสุดหรือต่ำสุดเป็นจำนวนเท่าใดจึงจะดำเนินคดีได้ในความผิดมูลฐานต่าง ๆ นั้น สามารถดำเนินคดีได้ทุกคดี แต่ต้องมีมากพอสมควรที่จะเห็นความแตกต่างจากฐานะความเป็นอยู่และการดำรงชีพและความผิดปกติทางธุรกรรมทางการเงินด้วย
            -  อำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีฐานฟอกเงิน ให้ยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลัก และอาจมีการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนจำนวนหลายคนในท้องที่เป็นคณะพนักงานสอบสวน หรือขอความร่วมมือพนักงานอัยการเป็นที่ปรึกษาในการสอบสวนได้ ตั้งแต่การเริ่มตั้งประเด็นการสอบสวน ไปจนถึงการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐาน ที่สามารถให้ศาลฟังแล้วสามารถลงโทษจำเลยได้ แต่ในหมวดที่ ๖ การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น พนักงานอัยการต่างจังหวัดจะไม่มีโอกาสได้ดำเนินการ เพราะมาตรา ๕๙ บัญญัติให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม