วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กรณียื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นผู้ใหญ่ที่ฟื้นฟูฯไม่ผ่าน

              เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหาเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป โดยกล่าวหาว่า “เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน)โดยผิดกฎหมาย” นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี และพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ และรับตัวผู้ต้องหา จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบเช่นเดียวกันกับชั้นจับกุม แล้วนำตัวผู้ต้องหาไปขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้”
               เมื่อพนักงานสอบสวนตรวจสอบประวัติเบื้องต้น ไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล พนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด และในระหว่างนั้น พนักงานสอบสวนก็ดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป และต้องรอผลคำวินิจฉัยจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อจะนำรวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวนเพื่อส่งไปยังพนักงานอัยการต่อไปด้วย ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมาย
              ถ้าหากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ได้ตรวจพบในภายหลังว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ซึ่งจะต้องส่งคืนให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามนัยมาตรา ๒๔ “ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ ว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป” 
              ในการปฏิบัติหลังจากพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาไปยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ได้เพียงวันเดียว ผู้ต้องหาก็ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปในระหว่างเข้ารับการตรวจพิสูจน์ โดยผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์อยู่ในอำนาจการพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติประจำจังหวัด เป็นเลขานุการ ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ไป ตามนัยมาตรา ๒๖ “ในกรณีที่มีเหตุสมควร คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอาจพิจารณาปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด” ต่อมา ถ้าหากผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจจับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้โดยมิต้องมีหมายตามมาตรา ๓๑ “ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดซึ่งได้รับการปล่อยชั่วคราวไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้โดยมิต้องมีหมาย” เมื่อข้อเท็จจริงผู้ต้องหาไม่มาตามนัด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหามาให้พนักงานสอบสวนพร้อมกับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้
              ความผิดมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ คณะกรรมการพิจารณาผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ของสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ประชุมกันแล้วมีมติตาม ข้อ ๖ ว่า "ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไปตรวจการเสพหรือติดยาเสพติดแล้ว แต่ต่อมา ถูกส่งตัวกลับเพื่อดำเนินคดีตามปกติ เช่น กรณีตาม มาตรา ๒๐ , ๒๒ และมาตรา ๓๓ หากจะมีการผัดฟ้องฝากขังให้นับระยะเวลาวันที่ศาลส่งตัวไปจนถึงวันที่ผู้ต้องหาถูกส่งตัวกลับมา ถ้ายังไม่เกินระยะเวลาที่ผัดฟ้อง/ฝากขังได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา ๗ หรือ ป.วิ.อ. มาตรา ๘๗ แล้วแต่กรณี ก็สามารถขอผัดฟ้อง/ฝากขังต่อไปได้เท่าเวลาที่เหลืออยู่ แต่ถ้าเกินระยะเวลาดังกล่าวแล้วจะขอผัดฟ้อง/ฝากขังต่อไปไม่ได้ ก็ต้องยื่นฟ้องผู้ต้องหานั้นทันที ทั้งนี้ เนื่องจากการควบคุมผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนก็เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน เมื่อมาตรา ๑๙ วรรคสี่ กำหนดว่า แม้จะส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์ฯ การสอบสวนไม่หยุดชะงัก กระบวนการสอบสวนต้องดำเนินต่อไป ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะใช้เวลาในการสอบสวนเกินกว่าระยะเวลาปกติ"
              กรณีที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดประจำจังหวัด มีคำวินิจฉัยว่า การฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจหรือไม่ผ่าน จึงสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหามาด้วย เพราะได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วไม่มาตามนัด ทำให้พนักงานสอบสวนไม่ได้ตัวผู้ต้องหาไปให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลา ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หรือกรณีมีเหตุจำเป็น ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙ (แก้ไขโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๖) มาตรา ๗ “ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย ฯลฯ” ดังนั้น เมื่อนับระยะเวลาที่จะสามารถผัดฟ้องต่อศาลได้ ก็มีเวลาเพียง ๓๐ วัน เท่านั้น หากเกินกว่านี้ พนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดเท่านั้นตามมาตรา ๙ “ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๗ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ”
             ต่อมา หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ว่า ผู้นั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ว่าด้วยการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การควบคุมตัว และการปฏิบัติต่อผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์และผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๖ ข้อ ๓๔ "กรณีมีข้อเท็จจริงปรากฏตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้ประธานอนุกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายแจ้งให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ร้องขอต่อศาลภายในสามวันนับแต่ทราบข้อเท็จจริง เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี"
              ดังนั้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการส่งมอบตัวผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนรับมาดำเนินคดี มีเพียงแต่หนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบว่า ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเท่านั้น อีกทั้ง ก็ไม่ปรากฎว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ขอความช่วยเหลือให้พนักงานสอบสวนออกติดตามตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีการประกันตัวแต่อย่างใด ทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีตัวผู้ต้องหาไปให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแขวงได้ภายในระยะเวลายื่นฟ้องหรือผัดฟ้อง (มีกำหนดประมาณ ๓๐ วัน) เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่นำตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีประกันในชั้นการเข้ารับการตรวจพิสูจน์มาส่งให้พนักงานสอบสวน กรณีจึงไม่ใช่ความผิดของพนักงานสอบสวน ที่พนักงานอัยการจะให้ว่ากล่าวตักเตือน เพื่อนำหลักฐานนั้นไปใช้ในการขออนุญาตอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดี แนวทางที่ถูกต้อง คือ พนักงานอัยการอาจให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่อาจฟ้องได้ทันภายในระยะเวลาผัดฟ้อง ซึ่งปัญหาเกิดจากระบบการดำเนินคดีและการตีความตามกฎหมาย โดยไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายใด แนบมากับสำนวนการสอบสวนคดีเสนออัยการสูงสุดเพื่อขออนุญาตฟ้องต่อไป
             ทั้งนี้ ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๔๗๙/๒๕๕๖ และ ๑๓๖๘๒/๒๕๕๖ (ดูที่นี่) ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลฎีกาได้วางแนวทางปฏิบัติไว้โดยชอบเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ต้องหากลับไปดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๔ ในกรณีที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการตรวจพบข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาที่อยู่ในระหว่างการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดขาดคุณสมบัติที่จะเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณีสามารถดำเนินการนำตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดีต่อไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้โดยไม่จำต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการตรวจพิสูจน์เสียก่อนจึงจะนำตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดี การนำตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดีต่อไปโดยมิได้อาศัยคำสั่งศาล จึงชอบด้วยกฎหมายตามในคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง ๒ ฉบับ ดังกล่าว

(Update 7/10/2558)