วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทรัพย์สินที่จะถูกริบตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ

 ทรัพย์สินที่จะถูกริบ
              ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔  ได้แก่
               ๑.  ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด
               ๒.  ทรัพย์สินของกลาง

ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด
              มีขั้นตอนการขอริบ ดังนี้ 
               ๑.  การตรวจสอบทรัพย์สิน  ได้แก่
                    (๑) ทรัพย์สินของผู้ต้องหา และ
                    (๒) ทรัพย์สินของผู้อื่น   โดย
                            -  คณะกรรมการเป็นผู้สั่งให้ตรวจสอบ
                            -  เลขาธิการ ป.ป.ส. สั่ง ในกรณีมีเหตุความจำเป็นเร่งด่วน
               ๒.  การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน คณะกรรมการจะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เมื่อเจ้าของทรัพย์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์สินนั้น
                           -  ไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด หรือ
                           -  รับมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือ
                           -  ได้มาตามสมควรตามศีลธรรมอันดี หรือทางกุศลสาธารณะ
                     การยึดหรืออายัดจะสิ้นสุดเมื่อ
                           -  คณะกรรมการวินิจฉัยว่า ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด และมีคำสั่งให้คืน
                           -  พนักงานอัยการ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
                           -  ศาลมีคำพิพากษา ถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
                           -  ศาลวินิจฉัยว่า ไม่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดและมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินให้แก่จำเลยหรือผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน
               ๓.  การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด มีขั้นตอน คือ ประเมินราคา เก็บรักษา ขอผ่อนผันที่จะนำไปใช้ประโยชน์ นำออกขายทอดตลาด หรือใช้ประโยชน์ของทางราชการ ประเมินค่าเสียหายหรือค่าเสื่อมสภาพ และคืนทรัพย์สิน
               ๔.  การพิจารณาในชั้นพนักงานอัยการ ถ้าสั่งฟ้อง จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์ไปพร้อมกับคำฟ้อง หรือก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในกรณีที่มีเหตุอันสมควรไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง เช่น พบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก
               ๕.  การพิจารณาในชั้นศาล หากคดีมีมูล ศาลจะสั่งริบทรัพย์สิน เว้นแต่ เจ้าของจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สิน

ทรัพย์สินของกลาง
                ทรัพย์สินของกลาง ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินที่ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด มีขั้นตอน ดังนี้
                       -   พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ริบของกลาง
                       -   ประกาศหนังสือพิมพ์
                       -   ริบเมื่อพ้น ๓๐ วัน นับแต่ประกาศ
                ส่วนทรัพย์สินที่จะตกเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คือ
                       -   ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด
                       -   ทรัพย์สินที่เป็นของกลาง
                       -   ทรัพย์สินที่ที่ตกเป็นของกองทุนโดยผลทางกฎหมาย

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๘๖๘/๒๕๕๔
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔  มาตรา ๓๒
               เจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจภูธรอําเภอบางปะกง จับผู้คัดค้านที่ ๑ และนาย ณ. ได้ พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน ๑๕๐ เม็ด โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ติดต่อ รถยนต์ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับเบิ้ลยู จำนวน ๑ คัน กับเงินสด จำนวน ๓๓,๙๐๐ บาท เป็นของกลาง กล่าวหาว่าร่วมกับผู้คัดค้านที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
              ผู้คัดค้านที่ ๒ ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจําหน่ายเมทแอมเฟตามีน ผู้คัดค้านที่ ๒ เข้ามอบตัวและเจ้าพนักงานตํารวจยึดเงิน จำนวน ๔๔,๗๐๐ บาท และรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน บฉ ๙๗๒๖ ฉะเชิงเทรา ของผู้คัดค้านที่ ๒ ไว้
              ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ ๒ และไม่ริบของกลาง
              ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน    โจทก์ไม่ฎีกา
              คดีสําหรับผู้คัดค้านที่ ๒ ในคดีนี้ย่อมถึงที่สุด กรณีจึงต้องด้วยมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิด พ.ศ.๒๕๓๔ การยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่สอง ย่อมสิ้นสุดลง ศาลไม่มีอํานาจสั่งริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒ กรณีไม่จําต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า เงิน ๔๔,๗๐๐ บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ รวมทั้งผู้คัดค้านที่ ๒ ได้เงินนี้มาโดยสุจริตหรือไม่ ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อีกต่อไป