บันทึก เรื่อง อำนาจในการควบคุมผู้ถูกจับของเจ้าพนักงาน
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) เรื่องเสร็จที่ 858/2551มาตรา 14 มาตรา 15 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519
มาตรา 5 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550
มาตรา 84 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือที่ ตช ๐๐๓๑.๒๑๒/๕๘๑๔ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับหนังสือหารือปัญหาจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ กรณีการควบคุมตัวผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๔ (๓) ไว้เพื่อทำการสอบสวนเป็นเวลาเกินสามวันได้หรือไม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้บัญญัติกรณีดังกล่าวไว้ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ต่อมาบทบัญญัติมาตรา ๘๗ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงสี่สิบแปดชั่วโมง หากจำเป็นต้องควบคุมต่อไปให้นำตัวไปยังศาลเพื่อพิจารณาสั่งควบคุม จึงเป็นปัญหาในข้อกฎหมายว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะดำเนินการอย่างไร สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอหารือปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้
๑. เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สามารถใช้อำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ก่อนส่งตัวผู้ถูกจับต่อพนักงานสอบสวนได้หรือไม่
๒. หากสามารถควบคุมตัวได้ตาม ๑. ถือเป็นอำนาจเฉพาะของผู้จับกุมไม่นับรวมอำนาจการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพนักงานสอบสวน ถูกต้องหรือไม่
๓. เมื่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการควบคุมผู้ถูกจับไว้โดยเฉพาะ แต่ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น ผู้จับกุมจะต้องนำตัวผู้ถูกจับส่งพนักงานสอบสวนในทันทีตามมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความประสงค์ที่จะทราบหลักการและแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมตัวผู้ถูกจับในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนวิธีพิจารณาในคดียาเสพติดไว้โดยเฉพาะ และส่งผลกระทบต่อทั้งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) จึงเห็นสมควรตอบข้อหารือเพียงสองประเด็น โดยรวมประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สองเข้าด้วยกัน ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า คำว่า เจ้าพนักงาน ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ หมายความว่า ผู้ซึ่งเลขาธิการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน จึงมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตามมาตรา ๑๔ (๓) มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักรและให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๔ (๓) ไว้เพื่อทำการสอบสวนได้ไม่เกินสามวัน
ดังนั้น การควบคุมผู้ถูกจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานย่อมมีระยะเวลาไม่เกินสามวัน อันเป็นอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และไม่นับรวมกับอำนาจการควบคุมผู้ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพนักงานสอบสวน
ประเด็นที่สอง เห็นว่า แม้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ จะไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องการควบคุมตัวผู้ถูกจับในคดียาเสพติดไว้โดยเฉพาะ แต่มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัตินิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน" ว่าหมายความว่า เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยที่เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ คือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับไว้เพื่อทำการสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงมีอำนาจในการควบคุมผู้ถูกจับไว้เป็นเวลาไม่เกินสามวันตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยไม่จำเป็นต้องนำผู้ถูกจับส่งพนักงานสอบสวนในทันทีตามมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หมายเหตุ :- มาตรา ๑๕ "เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๑๔ ให้ถือว่า กรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอํานาจตามมาตรา ๑๔ (๓) มีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๔ (๓) ไว้เพื่อทําการสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดําเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา"