วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทรัพย์สินที่จะถูกริบตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ

 ทรัพย์สินที่จะถูกริบ
              ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔  ได้แก่
               ๑.  ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด
               ๒.  ทรัพย์สินของกลาง

ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด
              มีขั้นตอนการขอริบ ดังนี้ 
               ๑.  การตรวจสอบทรัพย์สิน  ได้แก่
                    (๑) ทรัพย์สินของผู้ต้องหา และ
                    (๒) ทรัพย์สินของผู้อื่น   โดย
                            -  คณะกรรมการเป็นผู้สั่งให้ตรวจสอบ
                            -  เลขาธิการ ป.ป.ส. สั่ง ในกรณีมีเหตุความจำเป็นเร่งด่วน
               ๒.  การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน คณะกรรมการจะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เมื่อเจ้าของทรัพย์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์สินนั้น
                           -  ไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด หรือ
                           -  รับมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือ
                           -  ได้มาตามสมควรตามศีลธรรมอันดี หรือทางกุศลสาธารณะ
                     การยึดหรืออายัดจะสิ้นสุดเมื่อ
                           -  คณะกรรมการวินิจฉัยว่า ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด และมีคำสั่งให้คืน
                           -  พนักงานอัยการ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
                           -  ศาลมีคำพิพากษา ถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
                           -  ศาลวินิจฉัยว่า ไม่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดและมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินให้แก่จำเลยหรือผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน
               ๓.  การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด มีขั้นตอน คือ ประเมินราคา เก็บรักษา ขอผ่อนผันที่จะนำไปใช้ประโยชน์ นำออกขายทอดตลาด หรือใช้ประโยชน์ของทางราชการ ประเมินค่าเสียหายหรือค่าเสื่อมสภาพ และคืนทรัพย์สิน
               ๔.  การพิจารณาในชั้นพนักงานอัยการ ถ้าสั่งฟ้อง จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์ไปพร้อมกับคำฟ้อง หรือก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในกรณีที่มีเหตุอันสมควรไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง เช่น พบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก
               ๕.  การพิจารณาในชั้นศาล หากคดีมีมูล ศาลจะสั่งริบทรัพย์สิน เว้นแต่ เจ้าของจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สิน

ทรัพย์สินของกลาง
                ทรัพย์สินของกลาง ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินที่ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด มีขั้นตอน ดังนี้
                       -   พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ริบของกลาง
                       -   ประกาศหนังสือพิมพ์
                       -   ริบเมื่อพ้น ๓๐ วัน นับแต่ประกาศ
                ส่วนทรัพย์สินที่จะตกเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คือ
                       -   ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด
                       -   ทรัพย์สินที่เป็นของกลาง
                       -   ทรัพย์สินที่ที่ตกเป็นของกองทุนโดยผลทางกฎหมาย

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๘๖๘/๒๕๕๔
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔  มาตรา ๓๒
               เจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจภูธรอําเภอบางปะกง จับผู้คัดค้านที่ ๑ และนาย ณ. ได้ พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน ๑๕๐ เม็ด โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ติดต่อ รถยนต์ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับเบิ้ลยู จำนวน ๑ คัน กับเงินสด จำนวน ๓๓,๙๐๐ บาท เป็นของกลาง กล่าวหาว่าร่วมกับผู้คัดค้านที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
              ผู้คัดค้านที่ ๒ ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจําหน่ายเมทแอมเฟตามีน ผู้คัดค้านที่ ๒ เข้ามอบตัวและเจ้าพนักงานตํารวจยึดเงิน จำนวน ๔๔,๗๐๐ บาท และรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน บฉ ๙๗๒๖ ฉะเชิงเทรา ของผู้คัดค้านที่ ๒ ไว้
              ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ ๒ และไม่ริบของกลาง
              ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน    โจทก์ไม่ฎีกา
              คดีสําหรับผู้คัดค้านที่ ๒ ในคดีนี้ย่อมถึงที่สุด กรณีจึงต้องด้วยมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิด พ.ศ.๒๕๓๔ การยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่สอง ย่อมสิ้นสุดลง ศาลไม่มีอํานาจสั่งริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒ กรณีไม่จําต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า เงิน ๔๔,๗๐๐ บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ รวมทั้งผู้คัดค้านที่ ๒ ได้เงินนี้มาโดยสุจริตหรือไม่ ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อีกต่อไป

อำนาจควบคุมผู้ถูกจับไว้ก่อนสามวัน

บันทึก เรื่อง อำนาจในการควบคุมผู้ถูกจับของเจ้าพนักงาน
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) เรื่องเสร็จที่ 858/2551
มาตรา 14 มาตรา 15 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519
มาตรา 5 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550
มาตรา 84 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

             สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือที่ ตช ๐๐๓๑.๒๑๒/๕๘๑๔ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับหนังสือหารือปัญหาจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ กรณีการควบคุมตัวผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๔ (๓) ไว้เพื่อทำการสอบสวนเป็นเวลาเกินสามวันได้หรือไม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้บัญญัติกรณีดังกล่าวไว้ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ต่อมาบทบัญญัติมาตรา ๘๗ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงสี่สิบแปดชั่วโมง หากจำเป็นต้องควบคุมต่อไปให้นำตัวไปยังศาลเพื่อพิจารณาสั่งควบคุม จึงเป็นปัญหาในข้อกฎหมายว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะดำเนินการอย่างไร สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอหารือปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้
             ๑. เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สามารถใช้อำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ก่อนส่งตัวผู้ถูกจับต่อพนักงานสอบสวนได้หรือไม่
             ๒. หากสามารถควบคุมตัวได้ตาม ๑. ถือเป็นอำนาจเฉพาะของผู้จับกุมไม่นับรวมอำนาจการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพนักงานสอบสวน ถูกต้องหรือไม่
             ๓. เมื่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการควบคุมผู้ถูกจับไว้โดยเฉพาะ แต่ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้  ดังนั้น ผู้จับกุมจะต้องนำตัวผู้ถูกจับส่งพนักงานสอบสวนในทันทีตามมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือไม่ อย่างไร
             คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความประสงค์ที่จะทราบหลักการและแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมตัวผู้ถูกจับในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนวิธีพิจารณาในคดียาเสพติดไว้โดยเฉพาะ และส่งผลกระทบต่อทั้งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) จึงเห็นสมควรตอบข้อหารือเพียงสองประเด็น โดยรวมประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สองเข้าด้วยกัน ดังนี้
              ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า คำว่า เจ้าพนักงาน ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ หมายความว่า ผู้ซึ่งเลขาธิการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน จึงมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตามมาตรา ๑๔ (๓) มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักรและให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๔ (๓) ไว้เพื่อทำการสอบสวนได้ไม่เกินสามวัน
              ดังนั้น การควบคุมผู้ถูกจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานย่อมมีระยะเวลาไม่เกินสามวัน อันเป็นอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และไม่นับรวมกับอำนาจการควบคุมผู้ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพนักงานสอบสวน
              ประเด็นที่สอง เห็นว่า แม้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ จะไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องการควบคุมตัวผู้ถูกจับในคดียาเสพติดไว้โดยเฉพาะ แต่มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัตินิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน" ว่าหมายความว่า เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยที่เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ คือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับไว้เพื่อทำการสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงมีอำนาจในการควบคุมผู้ถูกจับไว้เป็นเวลาไม่เกินสามวันตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยไม่จำเป็นต้องนำผู้ถูกจับส่งพนักงานสอบสวนในทันทีตามมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             หมายเหตุ :- มาตรา ๑๕  "เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๑๔ ให้ถือว่า กรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอํานาจตามมาตรา ๑๔ (๓) มีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๔ (๓) ไว้เพื่อทําการสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดําเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา"