วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๒

 
 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
พ.ศ. 2542
-------------------------------
                    โดยที่ปรากฏว่า ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น อันเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาลไม่บรรลุวัตถุประสงค์ จำเป็นต้องกำหนดมาตรการวางแนวทางการปฏิบัติตนขั้นต้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมิให้เข้าไปช่วยเหลือ หรือรับความช่วยเหลือ หรือคบค้าสมาคม กับบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อันจะเป็นวิธีการป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
                    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
                        ข้อ 1  ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ 2542"
                        ข้อ 2  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                        ข้อ 3  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
                        ข้อ 4  ในระเบียบนี้
                                  "ยาเสพติด" หมายความว่า ยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
                                  "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
                                  "กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
                                  "เกี่ยวข้องกับยาเสพติด" หมายความว่า พฤติการณ์ซึ่งพิจารณาจากข้อมูล หรือข่าวสารหรือพยานหลักฐานใด ๆ แล้วมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดอันเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
                                  "ป.ป.ส." หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
                                  "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลหรือข่าวสารการกระทำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดประจำกรุงเทพมหานครหรือประจำภาคต่าง ๆ แล้วแต่กรณี
                                  "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของราชการส่วนกลางราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น และให้หมายความความถึงเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐด้วย

หมวดที่ 1
การป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

                        ข้อ 5  ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ รณรงค์ให้ข่าวสารเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด การดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตลอดถึงโทษอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
                        ข้อ 6  ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของ ป.ป.ส. ดำเนินการจัดให้มีระบบข่าวและศูนย์รับแจ้งข่าวเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของ ป.ป.ส.
                        ข้อ 7  เพื่อเป็นการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่  ดังนี้
                                  (1) ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารที่เป็นการชมเชยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและมีผลงานดีเด่น
                                  (2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนหรือประชาชนสอดส่อง หรือแจ้งการกระทำเกี่ยวข้องกับยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
                                  (3) จัดให้มีสถานที่หรือศูนย์รับแจ้งข้อมูลหรือข่าวสาร เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างเพียงพอ
                                  (4) ช่วยเหลือและสนับสนุนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ในการดำเนินการตามข้อ 5 และข้อ 6

หมวด 2
คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลหรือ
ข่าวสารการกระทำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

                         ข้อ 8  ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลหรือข่าวสารการกระทำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ประจำกรุงเทพมหานคร คณะหนึ่ง และคณะกรรมการประจำภาค อันได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ภาคละหนึ่งคณะ 
                          ให้นายกรัฐมนตรี  โดยคำแนะนำของ ป.ป.ส.  ประกาศกำหนดเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละคณะกรรมการ
                        ข้อ 9  ให้คณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย  ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนกรมพระธรรมนูญ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด  และผู้แทนส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามความเหมาะสมของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของ ป.ป.ส. จำนวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการกองปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ
                        ให้คณะกรรมการประจำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้   แต่ละภาคประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด  ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกองทัพเรือ   ผู้แทนกองทัพอากาศ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนตำรวจภูธรภาค และผู้แทนส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามความเหมาะสมของแต่ละภาค  ซึ่งนายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของ ป.ป.ส.จำนวนไม่เกินสามคนในแต่ละคณะกรรมการ เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประจำภาค  สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ
                        ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประชุมกันเพื่อเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ
                       ข้อ 10  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุม
                        การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
                       ข้อ 11  ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
                                   (1) พิจารณากรณีที่มีการกล่าวหาร้องเรียนหรือข้อมูลหรือข่าวสารที่ได้รับจากแหล่งข่าวเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้น การกระทำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งแสวงหาข้อมูลหรือข่าวสารในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม
                                   (2) ติดตามการดำเนินการของผู้บังคับบัญชาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อรายงานไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส.
                        ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง  ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกตามสมควร

หมวด 3
การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

                       ข้อ 12  เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด
                                   (1) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยรู้หรือควรจะได้รู้ว่าผู้นั้นเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
                                   (2) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยรู้หรือควรจะได้รู้ว่าผู้นั้นเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
                                   (3) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยรู้หรือควรจะได้รู้ว่าผู้นั้นเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
                                   (4) คบค้าสมาคมเป็นอาจิณกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าผู้นั้นเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
                                   (5) เป็นผู้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยใช้หลักทรัพย์หรือสถานะการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในข้อหาผลิตนำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด หรือในข้อหามีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 1 หรือประเภท 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
                      ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เว้นแต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น   การกระทำกับบุคคลซึ่งเป็นสามีหรือภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น
                      ข้อ 13  เมื่อมีการกล่าวหาร้องเรียนหรือมีพฤติการณ์ปรากฏแก่คณะกรรมการว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่า เรื่องที่กล่าวหาร้องเรียนหรือพฤติการณ์นั้นมีมูลเพียงพอที่จะเสนอให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการตามข้อ 15 ได้หรือไม่
                      ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยในเบื้องต้นแล้วว่าเรื่องที่กล่าวหาร้องเรียนหรือพฤติการณ์นั้น มีมูลเพียงพอ ก็ให้แจ้งไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส. ภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้วินิจฉัยนั้น เพื่อให้เลขาธิการป.ป.ส. แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชา ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบภายในสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
                      ข้อ 14  ให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับสอดส่อง ดูแล หรือป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
                      ข้อ 15  เมื่อมีการกล่าวหาร้องเรียนหรือกรณีเป็นที่สงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือเมื่อได้รับแจ้งตามข้อ 13 ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทันที
                      ในกรณีที่มีการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นก่อนการดำเนินการทางวินัย เพื่อพิจารณาว่ากรณีมีมูลควร กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ ให้ผู้สืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นนั้นขอข้อมูลหรือข่าวสารหรือพยานหลักฐานใด ๆ จากคณะกรรมการนั้นด้วย
                      ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาเบื้องต้นแล้ว  มีคำสั่งให้ยุติเรื่องหรือสั่งให้ดำเนินการทางวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาแจ้งให้คณะกรรมการนั้นทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง เพื่อให้คณะกรรมการรายงานต่อไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส.
                      ข้อ 16  ในกรณีที่มีการดำเนินการทางวินัย เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับแจ้งผลการสอบสวนทางวินัยจากคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ต้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปโดยเร็ว
                       เมื่อผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะลงโทษหรือไม่ ก็ตามต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งเพื่อให้คณะกรรมการรายงานต่อไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส.
                       ข้อ 17  ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ดำเนินการตามข้อ 15 หรือข้อ 16 ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดวินัย
                       ข้อ 18  ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และผู้บังคับบัญชาเห็นว่ากรณีมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าผู้นั้นเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะสั่งลงโทษทางวินัยได้ ผู้บังคับบัญชาอาจพิจารณาใช้มาตรการทางบริหารดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นได้ อันได้แก่
                                   (1) มีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นออกนอกเขตพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีหน้าที่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงาน โดยอาจมีคำสั่งให้รายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชาตามระยะเวลาที่กำหนดด้วยก็ได้ หรือ
                                   (2) นำพฤติการณ์นั้นมาประกอบการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน ยศหรือระดับ รวมตลอดถึงการพิจารณาความดีความชอบประจำปี และการจ่ายเงินโบนัสหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น

หมวดที่ 4
การรายงานและการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

                        ข้อ 19  เมื่อมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด  ให้พนักงานสอบสวนแจ้งไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส. ภายในสามวันนับแต่วันจับกุมตามแบบ ป.ป.ส.6 - 41  ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในคดีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
                         เมื่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สรุปข้อเท็จจริงและแจ้งต่อ ป.ป.ส.  และแจ้งผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นโดยเร็ว เพื่อพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการของกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ใช้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกจับกุมนั้น
                        ข้อ 20  เมื่อมีการจับกุมบุคคลดังต่อไปนี้
                                    (1)  เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในข้อหา ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด
                                    (2)  เจ้าหน้าที่ของรัฐครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือ ประเภท 2   เกินปริมาณที่ รัฐมนตรี ประกาศกำหนดอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
                                    (3)  เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดดังกล่าวนั้นเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในข้อหาตาม (1) หรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม (2) ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดภายใน 48 ชั่วโมง  นับแต่เวลาจับกุม  หากผู้บังคับบัญชาตำรวจปราบปรามยาเสพติดพิจารณาเห็นว่าควรดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติด  ก็ให้แจ้งพนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาและของกลาง (ถ้ามี) ไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเพื่อดำเนินคดี
                          ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเห็นว่าเป็นคดีสำคัญ  หรืออาจเกี่ยวพันกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด    จะส่งนายตำรวจตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไปไปตรวจสอบและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสอบสวนคดีนั้นก็ได้
                          ในกรณีตามวรรคสาม หากผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดจะให้พนักงานสอบสวน กองบังคับการสอบสวน ดำเนินคดีดังกล่าวฝ่ายเดียวหรือร่วมสอบสวนด้วยก็ให้เสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาสั่งการ                           
                         ข้อ 21  เมื่อปรากฏผลการสอบสวนตามข้อ 20 ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด ให้ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดแจ้งผลการสอบสวนไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส. เพื่อจะได้สรุปข้อเท็จจริงและรายงานต่อ ป.ป.ส. และแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต่อไป
                          ให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ดำเนินการทางวินัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการของกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับที่ใช้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดนั้น
                         ข้อ 22  เมื่อปรากฏผลการสอบสวนตามข้อ 20 ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้กระทำความผิด  และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ให้พนักงานอัยการแจ้งไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส. ตามแบบ  ป.ป.ส. 6-45  ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานในคดีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับ เพื่อที่จะรายงานต่อ ป.ป.ส. และแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
                        ข้อ 23  ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็นผู้ต้องหาตามข้อ 20  และได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือเมื่อผู้ต้องหานั้นต้องขังตามหมายศาลและยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล  และได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาล ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการพิจารณาคำร้องดังกล่าวด้วยความรอบคอบ โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 108 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากเห็นว่าไม่ควรให้ปล่อยชั่วคราว ก็ให้พนักงานอัยการสอบสวนหรือพนักงานอัยการพิจารณาสั่งไม่อนุญาตหรือคัดค้านคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล แล้วแต่กรณี โดยให้แสดงเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สมควรให้ปล่อยชั่วคราวไว้ด้วย
                         ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็นจำเลยตามข้อ 20 และได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดีของศาล ให้พนักงานอัยการพิจารณาคัดค้านคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนั้น ตามควรแก่กรณี
                       ข้อ 24  ในกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งหรือทราบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนอกราชอาณาจักร ให้กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส. โดยเร็วเพื่อให้เลขาธิการ ป.ป.ส. สรุปข้อเท็จจริงและรายงานต่อ ป.ป.ส. และแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น
                        ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ติดตามผลการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง และเมื่อคดีถึงที่สุดเป็นประการใด ให้รายงาน ป.ป.ส.และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป       

  ประกาศ ณ วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2542
  ลงชื่อ        ชวน หลีกภัย
                    (นายชวน  หลีกภัย)
                     นายกรัฐมนตรี