วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กฎกระทรวงว่าด้วยยาเสพติดที่ให้ฟื้นฟูฯ ได้ (พ.ศ.๒๕๔๖)

กฎกระทรวง
ว่าด้วย การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๖

              อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕  อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการ จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๒๓๗ และ มาตรา ๒๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

              ข้อ ๑  ลักษณะ ชนิด และประเภทของยาเสพติด สำหรับความผิดฐานเสพยาเสพติด ตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง มีดังต่อไปนี้
                  (๑)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ มี ๖ ชนิด ได้แก่
                         (ก)  เฮโรอีน
                         (ข)  เมทแอมเฟตามีน
                         (ค)  แอมเฟตามีน
                         (ง)  ๓,๔-เมทิลลิน ไดออกซิเมทแอมเฟตามีน
                         (จ)  เมทิลลีนไดออกซิแอมเฟตามีน
                         (ฉ)  เอ็น เอทิล เอ็มดิเอ หรือเอ็มดิอิ
                  (๒)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ มี ๒ ชนิด ได้แก่
                         (ก)  โคคาอีน
                         (ข)  ฝิ่น
                  (๓)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ มี ๑ ชนิด ได้แก่ กัญชา
                  (๔) * สารระเหยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย
                  ยาเสพติดให้โทษตาม (๑) และ (๒) ให้รวมถึงวัตถุที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น แต่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันกับยาเสพติดให้โทษดังกล่าว และเกล็ดใด ๆ ของยาเสพติดให้โทษดังกล่าวด้วย

              ข้อ ๒  ยาเสพติดตามข้อ ๑ สำหรับความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครอง ความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานเสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ต้องมีปริมาณดังต่อไปนี้
                  (๑)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑
                         (ก)  เฮโรอีนมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งร้อยมิลลิกรัม
                         (ข)  เมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม
                         (ค)  แอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าร้อยมิลลิกรัม
                         (ง)  ๓,๔-เมทิลลินไดออกซิเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบมิลลิกรัม
                         (จ)  เมทิลลินไดออกซีแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบมิลลิกรัม
                         (ฉ)  เอ็น เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี มีปริมาณไม่เกินห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบมิลลิกรัม
                  (๒)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒
                         (ก)  โคคาอีนมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินสองร้อยมิลลิกรัม
                         (ข)  ฝิ่นมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าพันมิลลิกรัม
                  (๓)  ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ได้แก่ กัญชามีน้ำหนักสุทธิไม่เกินห้าพันมิลลิกรัม ยาเสพติดให้โทษตาม (๑) และ (๒) ให้รวมถึงวัตถุที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น แต่มีสูตร โครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันกับยาเสพติดให้โทษดังกล่าว และเกล็ดใด ๆ ของยาเสพติดให้โทษดังกล่าวด้วย

                                             ให้ไว้  ณ  วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖

                                                                  (ลงชื่อ)     พงศ์เทพ เทพกาญจนา
                                                                              (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา)
                                                                            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

(หมายเหตุ.-  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๗ ก ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๖  *ส่วนข้อ ๑ (๔) เพิ่มเติมโดย กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด (ฉบับที่ ๒) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนที่ ๘๔ ก. ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑)