วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

จำหน่ายยาเสพติดให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๓๔/๒๕๕๙
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔
             จำเลยฎีกาว่า นาย ธ. ฝากเงิน ๓๐๐ บาท ให้จำเลยไปซื้อเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด มาเสพด้วยกัน หลังจากจำเลยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาได้แล้ว จึงมอบเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่นาย ธ. ไปนั้น
             โจทก์มีนาย ธ. เป็นพยานเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยมาหาพยานที่ห้องพักเพื่อเสพเมทแอมเฟตามีนด้วยกัน จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่พยาน พยานจึงเสพเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจค้นห้องพัก และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนได้จากตัวจำเลย ๑๑ เม็ด พยานแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบว่าได้เมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด มาจากจำเลย และพยานให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่พยาน เห็นว่า นาย ธ. เบิกความสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งคำให้การดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ ทั้งให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังจากเกิดเหตุเพียง ๑ วัน ยังไม่ทันที่นาย ธ. มีเวลาคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้ผิดเพี้ยนไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่านาย ธ. ให้การในชั้นสอบสวนไปตามความเป็นจริง ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนอันจะเป็นเหตุจูงใจให้พนักงานสอบสวนต้องบันทึกคำให้การให้แตกต่างไปจากคำให้การของนาย ธ. เพื่อปรักปรำจำเลยให้ต้องโทษแต่อย่างใด เชื่อว่านาย ธ. เบิกความตอบคำซักถามของโจทก์แต่แรกไปตามความเป็นจริง
             ที่จำเลยอ้างว่านาย ธ. ฝากเงินจำเลยไปซื้อเมทแอมเฟตามีนนั้นเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด มาแบ่งให้นาย ธ. เสพ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ยาเสพติดแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นโดยวิธีการให้ อันเป็นการจำหน่ายตามบทนิยามคำว่า "จำหน่าย" ตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ แล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และที่จำเลยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๐๕/๒๕๕๕ มาเทียบเคียงกับคดีนี้ เพื่อสนับสนุนว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานนี้นั้น คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจเทียบเคียงกันได้
             ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วยแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๓๕/๒๕๕๙
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖
              พฤติการณ์ของจำเลยที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ๑ เม็ด ให้แก่ บ. หลังจากนั้นแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ บ. ส. ท. และ ร. คนละ ๑/๔ เม็ด เพื่อนำไปเสพอีก และจำเลยก็เสพในเวลาต่อเนื่องกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะเสพด้วย จึงแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าว เพื่อจะเสพพร้อมกับจำเลย
              กรณีไม่ใช่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าวเพื่อให้แต่ละคนไปเสพเพียงลำพังภายหลัง จึงเป็นการมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน มิใช่มีเจตนาแจกจ่ายให้แก่บุคคลดังกล่าว
              การกระทำของจำเลยหาได้อยู่ในความหมายของคำว่า "จำหน่าย" ตามความในมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๐๕/๒๕๕๕
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔
             แม้โจทก์มีนาย ว. และนาย ส. เป็นประจักษ์พยาน เบิกความยืนยันว่า พยานซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาเสพ แต่ก็ต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง เพราะนาย ว. และนาย ส. ต่างเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า พยานเคยเสพเมทแอมเฟตามีนกับจำเลย ทั้งนาย ส. เบิกความต่อไปว่า ในช่วงที่พยานเสพเมทแอมเฟตามีน พยานไม่เคยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ส่วนที่นาย ว. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในเดือนมกราคม ๒๕๔๖ พยานถามจำเลยว่า "มียาบ้าเสพหรือไม่" จำเลยบอกว่า ให้เอาเงินมา ๑๒๐ บาท แล้วจำเลยได้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาให้พยาน จึงเป็นกรณีที่จำเลยช่วยซื้อเมทแอมเฟตามีนให้นาย ว. เพื่อนำมาเสพด้วยกันเหมือนเช่นเคย หาใช่จำเลยมีเจตนาขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือให้ อันจะต้องด้วยบทนิยามศัพท์ของคำว่า "จำหน่าย" ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔ ไม่ คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่นาย ว. และนาย ส. เมื่อโจทก์ไม่มีพยานแวดล้อมอื่นประกอบ ลำพังคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนจะนำมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๘๗๕/๒๕๕๓
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๔)
              โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า  ข้อ ๑  เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๓ กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ร่วมกันกระทำความผิด กล่าวคือ
              (ก) จำเลยที่ ๓ มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำนวน ๑๐ เม็ด น้ำหนัก ๐.๙๑ กรัม คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๒๒๑ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
             (ข) จำเลยที่ ๓ จำหน่ายโดยการให้เมทแอมเฟตามีน จำนวน ๑๐ เม็ด ดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยไม่ได้รับอนุญาต และ
             (ค) จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีน จำนวน ๑๐ เม็ด น้ำหนัก ๐.๙๑ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
               ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยที่ ๑ ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ และที่่ ๒ นำไปส่งมอบต่อให้แก่ลูกค้า  โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ ๓ ที่ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ถือเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องข้อ ๑ (ข) ด้วย
               เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๓ ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ และที่่ ๒ นำไปส่งมอบต่อให้แก่ลูกค้านั้น เป็นการกระทำในระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำหน่าย เพราะการจำหน่ายหมายถึงการจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำผิดด้วยกัน จำเลยที่ ๓ จึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องข้อ ๑ (ข) แต่มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องข้อ ๑ (ก) เท่านั้น

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๙/๒๕๕๔
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ (มาตรา ๓, ๒๙, ๓๑)
              เงิน ๑๖๖,๕๐๐ บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๒ เครื่อง และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ป-๙๔๙๑ สุพรรณบุรี เป็นทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตํารวจตรวจยึดได้จากการจับกุมผู้คัดค้านที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานตํารวจแจ้งข้อหาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ว่า มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด"
              ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา ๓ ให้บทนิยมคําว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทําความผิดดังกล่าวด้วย และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น...” มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคําร้องต่อศาลตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง ให้ศาลไต่สวนหากคดีมีมูลว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ศาลริบทรัพย์สินนั้น...”
               การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมิได้อยู่ในความหมายของคําว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ในอันที่จะขอให้ริบเงิน ๑๖๖,๕๐๐ บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๒ เครื่อง และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ สีแดง หมายเลขทะเบียน ป–๙๔๙๑ สุพรรณบุรี ตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคําร้องขอให้ริบทรัพย์สินทั้ง ๔ รายการดังกล่าว ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา ๒๙, ๓๑
               ส่วนทรัพย์สินอีก ๒ รายการ คือเงิน ๗๐๘,๓๒๐ บาท และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน(ป้ายแดง) ก-๐๑๕๘ สุพรรณบุรี ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ครั้งที่ ๒ โดยเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น คดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทรัพย์สินทั้ง ๒ รายการดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามบทนิยามของมาตรา ๓
               มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมีเหตุอันควรต้องริบตามมาตรา ๒๙ หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านทั้งสองประกอบอาชีพหลายอย่าง ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ต่อปีนับจำนวนหลายแสนบาท รถยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสิ่งเกินความจำเป็นของการใช้งาน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่ารถยนต์ดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๒ มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริต ทรัพย์สินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันจะพึงริบได้
               สำหรับเงินอีก ๗๐๘,๓๒๐ บาท นั้น ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่าเป็นเงินที่เบิกถอนจากธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) สาขาอู่ทอง แต่ตามสำเนาบัญชีเงินฝากดังกล่าวไม่มีรายการเบิกถอนจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวในยอดเงินที่ใกล้เคียงกับจำนวน ๗๐๘,๓๒๐ บาท แต่อย่างใด และเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงเมื่อไม่ปรากฏที่มาของเงินที่ชัดเจน จึงต้องถือว่าเงิน ๗๐๘,๓๒๐ บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริต ซึ่งต้องริบเสีย

วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ระยะเวลาส่งของกลางตรวจพิสูจน์และวิธีพิจารณาคดียาเสพติด

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐

หมวด ๒   การสอบสวน
              "มาตรา ๑๑   ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดสิ่งของไว้ตามกฎหมายและอ้างว่าเป็นยาเสพติด  ให้พนักงานสอบสวนส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในสามวันทำการนับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางในคดี เพื่อให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์และทำความเห็นเป็นหนังสือรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เว้นแต่ มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ไม่อาจส่งสิ่งของที่ยึดนั้น ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ โดยให้บันทึกเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย"

หมวด ๓   วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น
              "มาตรา ๑๒  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งจำเลยมีทนายความ ถ้าปรากฏว่าจำเลยคนใดจงใจไม่มาศาลหรือหลบหนี และมีความจำเป็นเพื่อมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือยากแก่การนำมาสืบในภายหลัง เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร ก็ให้ศาลมีอำนาจสืบพยานหลักฐานลับหลังจำเลย แต่ต้องให้โอกาสทนายความของจำเลยที่จะถามค้านและนำสืบหักล้างพยานหลักฐานนั้นได้"

              "มาตรา ๑๓  ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หรือคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง"

กฎกระทรวง 
กำหนดคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่พนักงานสอบสวน
ต้องส่งสิ่งของที่อ้างว่าเป็นยาเสพติดและได้ยึดไว้ไปตรวจพิสูจน์ พ.ศ. ๒๕๕๕ 
           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
          ให้คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดดังต่อไปนี้ในฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าว เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา ๑๑
          (๑) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
                (ก) เฮโรอีน น้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมขึ้นไป
                (ข) เมทแอมเฟตามีน ตั้งแต่หนึ่งหมื่นเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมขึ้นไป
                (ค) เมทิลลีนไดออกซีแอมเฟตามีน ตั้งแต่หนึ่งพันเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่สองร้อยห้าสิบกรัมขึ้นไป
                (ง) ๓, ๔ - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ตั้งแต่หนึ่งพันเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่สองร้อยห้าสิบกรัมขึ้นไป
                (จ) เอ็น เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี ตั้งแต่หนึ่งพันเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่สองร้อยห้าสิบกรัมขึ้นไป
          (๒) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
                (ก) โคคาอีน น้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมขึ้นไป
                (ข) ฝิ่น น้ำหนักตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป
          (๓) วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
                (ก) มิดาโซแลม ตั้งแต่ห้าร้อยเม็ดขึ้นไปหรือน้ำหนักตั้งแต่หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป
                (ข) คีตามีน น้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกิโลกรัมขึ้นไปหรือปริมาตรตั้งแต่หนึ่งลิตรขึ้นไป

                                                                  ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
                                                                                   ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
                                                                                      นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ.- ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ก ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้พนักงานสอบสวนส่งสิ่งของที่ยึดไว้ตามกฎหมายและอ้างว่าเป็นยาเสพติดภายในสามวันทำการนับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางในคดี เพื่อให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์และทำความเห็นเป็นหนังสือรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การประสานงานคดียาเสพติดรายสำคัญ

ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ว่าด้วย แนวทางการประสานงานคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๓
สรุปโดยย่อมีดังนี้. 
             “คดียาเสพติดรายสำคัญ” หมายความว่า คดียาเสพติดที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
              (๑)  คดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดฐาน ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นของกลางและมีปริมาณ หรือน้ำหนักอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
                  ๑. เฮโรอีน  น้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๒. เมทแอมเฟตามีน  ตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๓. ไอซ์  น้ำหนักตั้งแต่ ๒๐๐ กรัมขึ้นไป
                  ๔. เอ็กซ์ตาซี่ (ยาอี)  ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เม็ดหรือน้ำหนักตั้งแต่ ๒๕๐ กรัมขึ้นไป
                  ๕. โคเคน  น้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๖. ฝิ่น   น้ำหนักตั้งแต่ ๑๐ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๗. กัญชา  น้ำหนักตั้งแต่ ๑๐๐ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๘. คีตามีน  น้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
                  ๙. มิดาโซแลม  ตั้งแต่ ๕๐๐ เม็ดขึ้นไป
            (๒)  คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐาน สมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔
            (๓)  คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีการดำเนินงานเป็นเครือข่าย หรือเป็นขบวนการ หรือเป็นองค์กรอาชญากรรม และเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ปราบปรามว่าเป็นรายสำคัญ
            (๔)  คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นนักการเมือง หรือเป็นผู้มีอิทธิพล หรือเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ
            (๕)  คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอื่น ๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเป็นรายสำคัญ และมอบให้ดำเนินการ
ส่วนที่ ๒  ชั้นจับกุม
                *  การจัดทําบันทึกการจับกุม ให้ผู้จับกุมหลีกเลี่ยงการนําแบบพิมพ์ที่มีช่องสําหรับกาเครื่องหมายหรือข้อความเกี่ยวกับพฤติการณ์การจับกุมมาใช้ในการจัดทําบันทึกการจับกุม
                    ให้ผู้จับกุมแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ผู้ต้องหาทราบ และนอกจากคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทําความผิดให้บันทึกถ้อยคําอื่นเกี่ยวกับการกระทําความผิดของผู้ต้องหาไว้โดยละเอียด เพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา
                    กรณีการจับกุมผู้กระทําความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ให้บันทึกว่าเป็นการจับกุมผู้ต้องหาตามกฎหมายข้างต้น
                    หากผู้จับกุมใช้อํานาจในฐานะเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ควบคุมผู้ถูกจับไว้เพื่อทําการสอบสวนตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ให้บันทึกการใช้อํานาจการควบคุมตัวในฐานะเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดังกล่าวให้ปรากฏในบันทึกการจับกุมด้วย   (ข้อ ๖)
               *  ให้ผู้จับกุมทุกคนตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทําบันทึกการจับกุมก่อนลงลายมือชื่อ โดยผู้ที่จะลงลายมือชื่อในฐานะที่เป็นผู้จับกุมจะต้องเป็นผู้ที่ร่วมทําการจับกุมผู้ต้องหาในขณะที่มีการจับกุมจริง ส่วนผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมทําการจับกุม เช่น ผู้อํานวยการหรือผู้ช่วยเหลือในการจับกุมให้ลงชื่อในฐานะนั้นได้   (ข้อ ๗)
               *  ผู้จับกุมที่จะให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะเป็นพยานผู้จับกุม จะต้องเป็นผู้ที่ร่วมทําการจับกุมผู้ต้องหาในขณะที่มีการจับกุมจริง รวมทั้งทราบรายละเอียดและพฤติการณ์ในการจับกุมเป็นอย่างดี   (ข้อ ๘)
               *  ในกรณีที่ผู้จับกุมถูกจําเลยอ้างเป็นพยานในศาล ให้ทําบันทึกรายงานข้อเท็จจริงเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบ พร้อมทั้งส่งสําเนาบันทึกการรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวให้พนักงานอัยการทราบล่วงหน้าก่อนวันสืบพยาน และไปพบพนักงานอัยการในกรณีที่ได้รับแจ้งให้ไปพบ  (ข้อ ๙)
               *  การจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสําคัญ ให้ผู้จับกุมจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะบันทึกการจับกุมและซักถามผู้ต้องหา รวมทั้งบันทึกภาพสถานที่จับกุมยาเสพติดและของกลางอื่น ๆ ซึ่งสามารถนําออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นหลักฐานเท่าที่สามารถกระทําได้  (ข้อ ๑๐)

เมื่อผู้ถูกจับประสงค์จะให้ข้อมูลที่สำคัญ

ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ว่าด้วย แนวทางการประสานงานคดียาเสพติด พ.ศ.2553
ส่วนที่ 8  การดำเนินการตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522)

           *  เมื่อผู้ถูกจับประสงค์จะให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ให้ผู้ถูกจับบันทึกรายละเอียดแห่งข้อมูลด้วยตนเองและลงลายมือชื่อไว้ หากผู้ถูกจับไม่อาจบันทึกข้อมูลเองได้ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้บันทึกข้อมูลแล้วลงลายมือชื่อของผู้ถูกจับ ผู้บันทึกและพยาน  (ถ้ามี)
              ให้ผู้จับกุมรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น ในการพิสูจน์หรือยืนยันว่า เป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ส่งบันทึกรายละเอียดการให้ข้อมูลของผู้ถูกจับและบันทึกการจับกุม พร้อมพยานหลักฐานจากการนำข้อมูลที่ให้หรือเปิดเผยไปใช้ขยายผล ให้พนักงานสอบสวน
          *  ให้พนักงานสอบสวนบันทึกคำให้การ เกี่ยวกับการให้หรือเปิดเผยข้อมูลสำคัญของผู้ต้องหา รวมถึงบันทึกผลการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ขยายผลการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ไว้ในสำนวนการสอบสวน โดยให้สอบสวนผู้ต้องหาในฐานะเป็นพยานในคดีที่สามารถขยายผลการจับกุมได้
              ในกรณีผู้ต้องหาได้ให้ข้อมูลไว้ ในชั้นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้ทำการจับกุม ให้ทำการสอบสวนหรือสอบปากคำพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดในการพิสูจน์ความผิดและพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ไว้ในสำนวนการสอบสวน และทำความเห็นเกี่ยวกับการให้หรือเปิดเผยข้อมูลของผู้ต้องหาไว้ในสำนวนการสอบสวน แล้วส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
          *  ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่า ผู้ต้องหาได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันนำไปสู่การขยายผลการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เช่น การจับกุมเครือข่ายยาเสพติดตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นอย่างไรหรือไม่
              ถ้าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ให้พนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนหรือรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันนำไปสู่การขยายผลปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวน อย่างไร หรือไม่
              กรณีที่พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและมีเหตุผลอันสมควร ให้พนักงานอัยการบรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
          *  กรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ได้รับข้อมูลจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของผู้ต้องหาอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขยายผลการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษได้ในภายหลังจากที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมหรือขยายผลหรือพนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการทราบเพื่อพนักงานอัยการพิจารณาแจ้งข้อเท็จจริงให้ศาลทราบต่อไป


ข้อกฎหมาย.-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
          มาตรา 100/2  ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใด ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2565

                หลังจากจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด ที่ล่อซื้อจากจำเลยบริเวณข้างบ้านที่เกิดเหตุ มีการตรวจค้นบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ในระหว่างนั้น จำเลยให้ข้อมูลว่า ยังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนฝังดินไว้ พร้อมทั้งพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ และขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1,000 เม็ด บริเวณไร่อ้อยห่างจากหลังบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ทั้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ข้อมูลจากจำเลย ก็จะไม่สามารถตรวจค้นเจอยาเสพติดของกลางนั้น  
                  เห็นว่า หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยซุกซ่อนไว้ และพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,600 เม็ด เจ้าพนักงานคงไม่สามารถตรวจพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ ถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยหาจำต้องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น และมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษที่เกิดจากการรู้สึกความผิด หรือลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันควรได้รับการลดโทษตามความแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8358/2554
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 , ให้ข้อมูลเจ้าพนักงาน (มาตรา 102/2)

              หลังจากที่เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน จำนวน 1,750 เม็ดของกลางแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ว่า รับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 2 พร้อมกับนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด เป็นของกลางอีก เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 1,752 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 
               นับว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4143/2554
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2554)

              การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่
              คดีนี้ แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจับกุมจำเลยได้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ว่า ยังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่บ้านของจำเลยพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 700 เม็ด กับจำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลย และพนักงานสอบสวน ถึงเส้นทางในการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นต่อไปด้วยนั้นก็ตาม แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ส่วนที่จำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนนั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นมาดำเนินคดีโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด
             ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

(Update 16/03/2023)

กฎกระทรวง ว่าด้วย การขออนุมัติจับกุม มาตรา ๖ , ๘

กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕)
ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปราม
ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔

            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
            ข้อ ๑  การขออนุมัติจับกุมผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้เป็นหัวหน้าในการสืบสวน ซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรี หรือเป็นข้าราชการพลเรือนตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป หรือหัวหน้าพนักงานสอบสวน ยื่นคำขออนุมัติจับกุมต่อเลขาธิการ
                  คำขอตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุชื่อผู้กระทำผิดซึ่งประสงค์จะขอจับกุม รวมทั้งระบุข้อหาให้ชัดแจ้ง และให้ยื่นคำขอพร้อมกับเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
                     (๑) บันทึกแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งความผิดและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
                     (๒) รายงานการสืบสวน เกี่ยวกับพฤติการณ์และสถานภาพส่วนบุคคลของผู้กระทำความผิดที่ขออนุมัติจับกุมนั้น เช่น ประวัติบุคคลหรือประวัติอาชญากร
                     (๓) พยานหลักฐานอื่น ที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดในข้อหาที่ขออนุมัติจับกุม
            ข้อ ๒  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ เป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกจับกุมในความผิดอื่น ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนดำเนินคดีในความผิดอื่นนั้น รายงานหัวหน้าพนักงานสอบสวน และให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนยื่นคำขออนุมัติแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ แก่ผู้นั้น ต่อเลขาธิการโดยเร็ว
                 ให้นำความในวรรคสองของข้อ ๑ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำขออนุมัติแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม
            ข้อ ๓  ในการพิจารณาคำขอ เลขาธิการอาจเรียกให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้ทำการ สืบสวน พนักงานสอบสวน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาได้
            ข้อ ๔  ให้เลขาธิการพิจารณาคำขออนุมัติตามข้อ ๑ หรือข้อ ๒ ให้แล้วเสร็จภายในห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจะขยายเวลาออกไปอีกได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินห้าวัน โดยต้อง บันทึกเหตุจำเป็นดังกล่าวไว้ด้วย
                 เมื่อเลขาธิการได้มีคำสั่งประการใดแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขออนุมัติทราบโดยไม่ชักช้า หรือจะให้ผู้ขออนุมัติลงลายมือชื่อรับทราบในคำสั่งนั้นก็ได้
           ข้อ ๕  ในกรณีที่ได้รับอนุมัติจากเลขาธิการ ให้ผู้ขอรับอนุมัติรีบดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติแล้ว รายงานให้เลขาธิการทราบโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติ นั้น
             ในกรณีไม่สามารถดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งอนุมัติ ก็ให้รายงานเลขาธิการทราบโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามวันนับแต่วันที่ครบกำหนดดังกล่าว
           ข้อ ๖  ในการรายงานตามข้อ ๕ ให้รายงานด้วยว่ามีหรือได้รับข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สิน ของผู้กระทำผิดตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ที่ถูกจับกุม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ของบุคคลดังกล่าวหรือไม่อย่างใด
                 การรายงานข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ทุกขณะที่ได้รับข้อมูลหรือหลักฐาน
           ข้อ ๗ ในกรณีที่มีการออกหมายจับ ให้ผู้ขออนุมัติส่งสำเนาหมายจับให้เลขาธิการทราบโดยเร็ว
           ข้อ ๘ คำขออนุมัติ หนังสือแจ้งคำสั่งอนุมัติ และรายงานต่าง ๆ ตามกฎกระทรวงนี้ให้เป็นไปตามแบบที่สำนักงานกำหนด

                                                         ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕
                                                                   (ลงชื่อ) อานันท์ ปันยารชุน
                                                                            (นายอานันท์ ปันยารชุน)
                                                                                   นายกรัฐมนตรี

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๕๕ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๓๕)

บรรยายฟ้อง ความผิดหลายกรรม

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  3379/2554
ป.อ. หลายกรรม (มาตรา 91)
ป.วิ.อ. บรรยายฟ้อง  (มาตรา 158 (5))
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา  ๑๕, ๖๖, ๖๗
              โจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จํานวน ๑,๔๐๓ เม็ด คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๓๔.๒๐๒ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย แต่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย จํานวน ๑,๔๐๐ เม็ด และจำเลยที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จํานวน เม็ด
              แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่า เมทแอมเฟตามีนทั้งสองจํานวน คํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด แต่เมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนก็เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนจํานวน ๑,๔๐๓ เม็ดของกลาง ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จึงลงโทษจําเลยทั้งสองตามมาตรา ๖๖ วรรคสาม และลงโทษจําเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๖๗ ได้
             ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จําเลยที่ ๒ ร่วมกับจําเลยที่ ๑ มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายจำนวน ๑,๔๐๓ เม็ด และจําเลยที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีน จํานวน ๓ เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้อนุญาต เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
             แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ มีเมทแอมเฟตามีน จํานวน ๑,๔๐๓ เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายเพียงกรรมเดียว โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการกระทําของจําเลยที่ ๒ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และมิได้มีคําขอให้เรียงกระทงลงโทษ จึงลงโทษจําเลยที่ ๒ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้