วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๙/๒๕๕๔
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ (มาตรา ๓, ๒๙, ๓๑)
              เงิน ๑๖๖,๕๐๐ บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๒ เครื่อง และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ป-๙๔๙๑ สุพรรณบุรี เป็นทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตํารวจตรวจยึดได้จากการจับกุมผู้คัดค้านที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานตํารวจแจ้งข้อหาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ว่า มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด"
              ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา ๓ ให้บทนิยมคําว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทําความผิดดังกล่าวด้วย และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น...” มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคําร้องต่อศาลตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง ให้ศาลไต่สวนหากคดีมีมูลว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ศาลริบทรัพย์สินนั้น...”
               การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมิได้อยู่ในความหมายของคําว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ในอันที่จะขอให้ริบเงิน ๑๖๖,๕๐๐ บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๒ เครื่อง และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ สีแดง หมายเลขทะเบียน ป–๙๔๙๑ สุพรรณบุรี ตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคําร้องขอให้ริบทรัพย์สินทั้ง ๔ รายการดังกล่าว ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา ๒๙, ๓๑
               ส่วนทรัพย์สินอีก ๒ รายการ คือเงิน ๗๐๘,๓๒๐ บาท และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน(ป้ายแดง) ก-๐๑๕๘ สุพรรณบุรี ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ครั้งที่ ๒ โดยเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น คดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทรัพย์สินทั้ง ๒ รายการดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามบทนิยามของมาตรา ๓
               มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมีเหตุอันควรต้องริบตามมาตรา ๒๙ หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านทั้งสองประกอบอาชีพหลายอย่าง ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ต่อปีนับจำนวนหลายแสนบาท รถยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสิ่งเกินความจำเป็นของการใช้งาน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่ารถยนต์ดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๒ มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริต ทรัพย์สินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันจะพึงริบได้
               สำหรับเงินอีก ๗๐๘,๓๒๐ บาท นั้น ผู้คัดค้านที่ ๑ อ้างว่าเป็นเงินที่เบิกถอนจากธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) สาขาอู่ทอง แต่ตามสำเนาบัญชีเงินฝากดังกล่าวไม่มีรายการเบิกถอนจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวในยอดเงินที่ใกล้เคียงกับจำนวน ๗๐๘,๓๒๐ บาท แต่อย่างใด และเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงเมื่อไม่ปรากฏที่มาของเงินที่ชัดเจน จึงต้องถือว่าเงิน ๗๐๘,๓๒๐ บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริต ซึ่งต้องริบเสีย