วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เมื่อผู้ถูกจับประสงค์จะให้ข้อมูลที่สำคัญ

ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ว่าด้วย แนวทางการประสานงานคดียาเสพติด พ.ศ.2553
ส่วนที่ 8  การดำเนินการตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522)

           *  เมื่อผู้ถูกจับประสงค์จะให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ให้ผู้ถูกจับบันทึกรายละเอียดแห่งข้อมูลด้วยตนเองและลงลายมือชื่อไว้ หากผู้ถูกจับไม่อาจบันทึกข้อมูลเองได้ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้บันทึกข้อมูลแล้วลงลายมือชื่อของผู้ถูกจับ ผู้บันทึกและพยาน  (ถ้ามี)
              ให้ผู้จับกุมรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น ในการพิสูจน์หรือยืนยันว่า เป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ส่งบันทึกรายละเอียดการให้ข้อมูลของผู้ถูกจับและบันทึกการจับกุม พร้อมพยานหลักฐานจากการนำข้อมูลที่ให้หรือเปิดเผยไปใช้ขยายผล ให้พนักงานสอบสวน
          *  ให้พนักงานสอบสวนบันทึกคำให้การ เกี่ยวกับการให้หรือเปิดเผยข้อมูลสำคัญของผู้ต้องหา รวมถึงบันทึกผลการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ขยายผลการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ไว้ในสำนวนการสอบสวน โดยให้สอบสวนผู้ต้องหาในฐานะเป็นพยานในคดีที่สามารถขยายผลการจับกุมได้
              ในกรณีผู้ต้องหาได้ให้ข้อมูลไว้ ในชั้นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้ทำการจับกุม ให้ทำการสอบสวนหรือสอบปากคำพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดในการพิสูจน์ความผิดและพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ไว้ในสำนวนการสอบสวน และทำความเห็นเกี่ยวกับการให้หรือเปิดเผยข้อมูลของผู้ต้องหาไว้ในสำนวนการสอบสวน แล้วส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
          *  ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่า ผู้ต้องหาได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันนำไปสู่การขยายผลการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เช่น การจับกุมเครือข่ายยาเสพติดตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นอย่างไรหรือไม่
              ถ้าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ให้พนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนหรือรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันนำไปสู่การขยายผลปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวน อย่างไร หรือไม่
              กรณีที่พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและมีเหตุผลอันสมควร ให้พนักงานอัยการบรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
          *  กรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ได้รับข้อมูลจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของผู้ต้องหาอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขยายผลการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษได้ในภายหลังจากที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมหรือขยายผลหรือพนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการทราบเพื่อพนักงานอัยการพิจารณาแจ้งข้อเท็จจริงให้ศาลทราบต่อไป


ข้อกฎหมาย.-  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
          มาตรา 100/2  ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใด ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2565

                หลังจากจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด ที่ล่อซื้อจากจำเลยบริเวณข้างบ้านที่เกิดเหตุ มีการตรวจค้นบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ในระหว่างนั้น จำเลยให้ข้อมูลว่า ยังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนฝังดินไว้ พร้อมทั้งพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ และขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1,000 เม็ด บริเวณไร่อ้อยห่างจากหลังบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ทั้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ข้อมูลจากจำเลย ก็จะไม่สามารถตรวจค้นเจอยาเสพติดของกลางนั้น  
                  เห็นว่า หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยซุกซ่อนไว้ และพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,600 เม็ด เจ้าพนักงานคงไม่สามารถตรวจพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ ถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยหาจำต้องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น และมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษที่เกิดจากการรู้สึกความผิด หรือลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันควรได้รับการลดโทษตามความแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8358/2554
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 , ให้ข้อมูลเจ้าพนักงาน (มาตรา 102/2)

              หลังจากที่เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน จำนวน 1,750 เม็ดของกลางแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ว่า รับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 2 พร้อมกับนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด เป็นของกลางอีก เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 1,752 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 
               นับว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4143/2554
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2554)

              การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่
              คดีนี้ แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจับกุมจำเลยได้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ว่า ยังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่บ้านของจำเลยพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 700 เม็ด กับจำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลย และพนักงานสอบสวน ถึงเส้นทางในการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นต่อไปด้วยนั้นก็ตาม แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ส่วนที่จำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนนั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นมาดำเนินคดีโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด
             ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

(Update 16/03/2023)