ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ว่าด้วย แนวทางการประสานงานคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๓
“คดียาเสพติดรายสำคัญ” หมายความว่า คดียาเสพติดที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
สรุปโดยย่อมีดังนี้.
(๑) คดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดฐาน ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นของกลางและมีปริมาณ หรือน้ำหนักอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. เฮโรอีน น้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
๒. เมทแอมเฟตามีน ตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
๓. ไอซ์ น้ำหนักตั้งแต่ ๒๐๐ กรัมขึ้นไป
๔. เอ็กซ์ตาซี่ (ยาอี) ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เม็ดหรือน้ำหนักตั้งแต่ ๒๕๐ กรัมขึ้นไป
๕. โคเคน น้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
๖. ฝิ่น น้ำหนักตั้งแต่ ๑๐ กิโลกรัมขึ้นไป
๗. กัญชา น้ำหนักตั้งแต่ ๑๐๐ กิโลกรัมขึ้นไป
๘. คีตามีน น้ำหนักตั้งแต่ ๑ กิโลกรัมขึ้นไป
๙. มิดาโซแลม ตั้งแต่ ๕๐๐ เม็ดขึ้นไป
(๒) คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐาน สมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔
(๓) คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีการดำเนินงานเป็นเครือข่าย หรือเป็นขบวนการ หรือเป็นองค์กรอาชญากรรม และเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ปราบปรามว่าเป็นรายสำคัญ
(๔) คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นนักการเมือง หรือเป็นผู้มีอิทธิพล หรือเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ
(๕) คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอื่น ๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเป็นรายสำคัญ และมอบให้ดำเนินการ
ส่วนที่ ๒ ชั้นจับกุม
* การจัดทําบันทึกการจับกุม ให้ผู้จับกุมหลีกเลี่ยงการนําแบบพิมพ์ที่มีช่องสําหรับกาเครื่องหมายหรือข้อความเกี่ยวกับพฤติการณ์การจับกุมมาใช้ในการจัดทําบันทึกการจับกุมให้ผู้จับกุมแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ผู้ต้องหาทราบ และนอกจากคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทําความผิดให้บันทึกถ้อยคําอื่นเกี่ยวกับการกระทําความผิดของผู้ต้องหาไว้โดยละเอียด เพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา
กรณีการจับกุมผู้กระทําความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ให้บันทึกว่าเป็นการจับกุมผู้ต้องหาตามกฎหมายข้างต้น
หากผู้จับกุมใช้อํานาจในฐานะเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ควบคุมผู้ถูกจับไว้เพื่อทําการสอบสวนตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ให้บันทึกการใช้อํานาจการควบคุมตัวในฐานะเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดังกล่าวให้ปรากฏในบันทึกการจับกุมด้วย (ข้อ ๖)
* ให้ผู้จับกุมทุกคนตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทําบันทึกการจับกุมก่อนลงลายมือชื่อ โดยผู้ที่จะลงลายมือชื่อในฐานะที่เป็นผู้จับกุมจะต้องเป็นผู้ที่ร่วมทําการจับกุมผู้ต้องหาในขณะที่มีการจับกุมจริง ส่วนผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมทําการจับกุม เช่น ผู้อํานวยการหรือผู้ช่วยเหลือในการจับกุมให้ลงชื่อในฐานะนั้นได้ (ข้อ ๗)
* ผู้จับกุมที่จะให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะเป็นพยานผู้จับกุม จะต้องเป็นผู้ที่ร่วมทําการจับกุมผู้ต้องหาในขณะที่มีการจับกุมจริง รวมทั้งทราบรายละเอียดและพฤติการณ์ในการจับกุมเป็นอย่างดี (ข้อ ๘)
* ในกรณีที่ผู้จับกุมถูกจําเลยอ้างเป็นพยานในศาล ให้ทําบันทึกรายงานข้อเท็จจริงเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบ พร้อมทั้งส่งสําเนาบันทึกการรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวให้พนักงานอัยการทราบล่วงหน้าก่อนวันสืบพยาน และไปพบพนักงานอัยการในกรณีที่ได้รับแจ้งให้ไปพบ (ข้อ ๙)
* การจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสําคัญ ให้ผู้จับกุมจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะบันทึกการจับกุมและซักถามผู้ต้องหา รวมทั้งบันทึกภาพสถานที่จับกุมยาเสพติดและของกลางอื่น ๆ ซึ่งสามารถนําออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นหลักฐานเท่าที่สามารถกระทําได้ (ข้อ ๑๐)
* การสอบคำให้การผู้ต้องหาหรือพยานในคดียาเสพติดรายสำคัญ หรือการสอบคำให้การผู้ต้องหาในฐานะพยาน ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียง ซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นหลักฐานเท่าที่สามารถทำได้ โดยแจ้งการบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือพยานทราบด้วย (ข้อ ๑๑)
* ในคดีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมหรือฝากขังในระหว่างสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนถือปฏิบัติในการประสานงานและส่งสำนวนการสอบสวนตามบันทึกกรมตำรวจที่ ๐๖๐๓.๒/๒๗๙๘ ลงวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๒ โดยระยะเวลาการส่งสำนวนสามวันนั้น ให้ถือระยะเวลาสามวันทำการ แต่ถ้ามิใช่เป็นการส่งสำนวนซึ่งครบกำหนดอำนาจควบคุมหรือฝากขังครั้งสุดท้าย หากพนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการโดยมีระยะเวลาน้อยกว่าสามวันทำการก็ให้พนักงานอัยการรับสำนวนไว้
กรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริงและไม่สามารถส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการก่อนครบกำหนดอำนาจฝากขังครั้งสุดท้ายสามวันทำการ เช่น พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลและศาลยกคำร้อง พนักงานอัยการอาจพิจารณารับสำนวนการสอบสวนไว้ก็ได้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดี แต่ถ้าเป็นการส่งสำนวนในวันครบกำหนดอำนาจควบคุมฝากขังครั้งสุดท้าย พนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการก่อนเวลาสิบสองนาฬิกาและในสำนวนคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อนหรืออาจมีปัญหา พนักงานสอบสวนต้องอยู่ประสานงานกับพนักงานอัยการผู้ตรวจสำนวนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้อง
กรณีที่มีการบันทึกภาพและเสียง ให้พนักงานสอบสวนส่งสิ่งบันทึกภาพและเสียงให้พนักงานอัยการพร้อมสำนวนการสอบสวน
สำนวนคดีที่มีหลายข้อหาซึ่งมีข้อเท็จจริงยุ่งยากซับซ้อน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการในวันครบกำหนดอำนาจควบคุมฝากขังครั้งสุดท้าย พนักงานสอบสวนอาจแยกสำนวนการสอบสวนคดีข้อหาอื่นออกจากสำนวนคดีข้อหายาเสพติดก่อนส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการก็ได้
การคืนสำนวนการสอบสวนที่รับไว้จากพนักงานสอบสวนแล้ว ให้พนักงานอัยการมีหนังสือโดยแจ้งเหตุผลในการคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนทราบ (ข้อ ๑๒)
* กรณีที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง และเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกัน หากพนักงานอัยการเห็นว่าควรปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ ข้อ ๓ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยในกรุงเทพมหานครให้เป็นหน้าที่ของพนักงานตำรวจที่จะจัดการแก่ผู้ต้องหาหรือเป็นคู่สัญญากับนายประกันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๑ และมาตรา ๑๑๒ แล้วแต่กรณีแทนพนักงานอัยการ ส่วนจังหวัดอื่นเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ (ข้อ ๑๓)
ส่วนที่ ๔ ชั้นการพิจารณาคดีของศาล
* ในระหว่างการสอบสวนหรือการสืบพยานคดียาเสพติดรายสําคัญ ให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบว่า มีเหตุอันควรที่จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้สืบพยานหลักฐานใดไว้ล่วงหน้าหรือไม่ หากปรากฏเหตุอันควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๓/๒ วรรค ๒ และมาตรา ๒๓๗ ทวิ ให้พนักงานสอบสวนประสานกับพนักงานอัยการ เพื่อยื่นคําร้องขอต่อศาลให้ทําการสืบพยานหลักฐานไว้ล่วงหน้าทันที (ข้อ ๑๖)
ส่วนที่ ๕ การปล่อยชั่วคราว
* เมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหารายใด ไม่สมควรได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้บันทึกข้อเท็จจริงและเหตุผลรวมทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์โดยละเอียดไว้ในคําร้องขอฝากขังทุกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาของพนักงานอัยการและศาล ดังนี้(๑) รายละเอียดของเหตุผลในการคัดค้านการปล่อยชั่วคราว ได้แก่
๑. พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
๒. พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
๓. เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
๔. ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนีหรือไม่
๕. ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราว มีเพียงใดหรือไม่
๖. ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่
๗. ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่นหรือไม่
๘. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน ของเจ้าพนักงานหรือการดําเนินคดีในศาลหรือไม่
(๒) ข้อมูลประวัติอาชญากรรมหรือพฤติกรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหาในอดีต และปัจจุบัน จากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เลขประจําตัวประชาชนสิบสามหลัก (ถ้ามี) หรือลายพิมพ์นิ้วมือเป็นหลักฐานในการสืบค้น
การคัดค้านการปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวนขอให้ศาลพิจารณากําหนดเงื่อนไข เกี่ยวกับผู้ต้องหาเพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น การกําหนดที่อยู่หรือการให้มารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนตามเงื่อนเวลาที่กําหนด เป็นต้น
การร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดรายสําคัญ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สํานักงาน ป.ป.ส. ทราบ เพื่อจะได้เสนอข้อมูลอันเป็นประโยชน์ประกอบการคัดค้านการปล่อยชั่วคราว
หากศาลมีคําสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดรายสําคัญ ให้พนักงานสอบสวนรายงานให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนและสํานักงาน ป.ป.ส. ทราบเป็นหนังสือเพื่อให้พิจารณาป้องกันการหลบหนีหรือป้องกันความเสียหาย (ข้อ ๑๗)
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- หนังสือ ปปส.ภ.๕ ที่ ยธ ๑๑๑๓(สบก.)/๕๔๓๒ ลง ๑๐ พ.ย.๒๕๕๒ เรื่อง แนวทางการประสานงานเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่มีพฤติการณ์ค้ายาเสพติด