วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กรณีไม่ยอมให้ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
             "มาตรา ๕๘/๑  ในกรณีจำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจตรวจ หรือทดสอบ หรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวอยู่ในร่างกายหรือไม่
              พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ตำแหน่งใด ระดับใด หรือชั้นยศใด จะมีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดำเนินการ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยทำเอกสารมอบหมายให้ไว้ประจำตัวพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายนั้น
              วิธีการตรวจหรือการทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ในประกาศดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการเกี่ยวกับการแสดงความบริสุทธิ์ของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ และมาตรการเกี่ยวกับการห้ามเปิดเผยผลการตรวจหรือทดสอบแก่ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ปรากฏผลเบื้องต้นเป็นที่สงสัยว่ามียาเสพติดให้โทษอยู่ในร่างกาย จนกว่าจะได้มีการตรวจยืนยันผลเป็นที่แน่นอนแล้ว"
              (มาตรา ๕๘/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕)

            "มาตรา ๙๒/๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๘/๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
             (มาตรา ๙๒/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕)

            (ข้อพิจารณา.-  ตามมาตรา ๕๘/๑ วรรคสอง  รัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวอยู่ในร่างกายหรือไม่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๑๘๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ เรื่อง กําหนดอํานาจหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
            รัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ตำแหน่งใด ระดับใด มีอำนาจตรวจ หรือทดสอบ หรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวอยู่ในร่างกายหรือไม่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๑๘๓) พ.ศ. ๒๕๔๖ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และกําหนดอํานาจหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
            ตามมาตรา ๕๘/๑ วรรคสาม วิธีการตรวจหรือการทดสอบตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาไว้แล้ว ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมียาเสพติดให้โทษอยู่ในร่างกายหรือไม่ (ดูที่นี่)
            ดังนั้น บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวอยู่ในร่างกายหรือไม่นั้น ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๕๘/๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดมีน้ำหนักน้อย

คำชี้ขาดความเห็นแย้งความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 333/2554)
ป.วิ.อ. พยานบอกเล่า พยานซัดทอด (มาตรา 227/1)
               ร้อยตำรวจเอก ส. ผู้กล่าวหา กับพวกให้การว่าได้ร่วมกันล่อซื้อจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมเมทแอมเฟตามีน จำนวน 30 เม็ด ของกลางรายการที่ 1 , ยาไอซ์ จำนวน 4 ถุง ของกลางรายการที่ 2 – ที่ 5 และยาไอซ์ จำนวน 4 ถุง ของกลางรายการที่ 6 – ที่ 9
               โดยผู้ต้องหาที่ 1 รับว่าได้รับยาเสพติดของกลางดังกล่าวมาจากผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 เพื่อนำไปส่งให้แก่ลูกค้า ประกอบกับชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาที่ 1 ให้การรับว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนและยาไอซ์ของกลางรายการที่ 1 – ที่ 5 มาจากผู้ต้องหาที่ 3 และรับยาไอซ์ของกลางรายการที่ 6 – ที่ 9 มาจากผู้ต้องหาที่ 2 เพื่อนำไปส่งให้ลูกค้าบริเวณที่เกิดเหตุ โดยได้เงินค่าจ้างจากผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 คนละ 1,000 บาท โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงสนับสนุนการกระทำความผิดของผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 อีก
               คำให้การชั้นสอบสวนของผู้กล่าวหากับพวกและผู้ต้องหาที่ 1 ดังกล่าว เป็นเพียงพยานบอกเล่า โดยเฉพาะคำให้การของผู้ต้องหาที่ 1 เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน จึงมีน้ำหนักน้อย เมื่อคดีไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ จึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้
               ส่วนการที่ผู้ต้องหาที่ 1 ได้เขียนคำรับสารภาพพาดพิงว่าผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมกันในการกระทำความผิดและชี้ยืนยันภาพถ่ายของผู้ต้องหาที่ 2 และ ที่ 3 ยังไม่อาจถือเป็นพยานหลักฐานอื่นที่จะนำมารับฟัง ประกอบคำซัดทอดเพื่อยืนยันความผิดของผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 พยานหลักฐานที่ปรากฏตามทางสอบสวนยังไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังว่า ผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

คำชี้ขาดความเห็นแย้งฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 248/2554)
ป.วิ.อ. การรับฟังพยานซัดทอด (มาตรา 227/1)
             คำให้การซัดทอดของนาย ช. แม้ไม่มีกฎหมายห้ามรับฟัง แต่ก็เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง กรณีจะให้มีน้ำหนักรับฟังได้จะต้องมีพยานแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับการกระทำความผิด ที่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ประกอบคำให้การซัดทอด
             คดีนี้ตามบันทึกการจับกุม นาย ช. ให้การรับสารภาพ แต่ไม่ได้บันทึกว่านาย ช. ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากใคร โดยนาย ช. มาให้การในชั้นสอบสวน และให้การในคดีนี้เพื่อขอรับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 โดยอาศัยหลักฐานจากเครื่องโทรศัพท์ของนาย ช. ที่มีหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ต้องหาที่ 1 บันทึกไว้ เมื่อได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ติดต่อระหว่างนาย ช. กับผู้ต้องหาที่ 1 ช่วงวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์แจ้งว่าไม่สามารถทำการตรวจสอบได้
             ดังนั้น พยานหลักฐานโทรศัพท์ของนาย ช. และบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ต้องหาที่ 1 จึงไม่อาจแสดงได้ว่านาย ช.ได้มีการติดต่อกับผู้ต้องหาที่ 1 ในช่วงวันเวลาที่มีการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกัน จึงเป็นพยานแวดล้อมที่ห่างไกลกับการกระทำผิด
             ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ทำการตรวจสอบบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาทั้งสองและเครือญาติ ไม่ปรากฏหลักฐานการฝากถอนเงินในบัญชีธนาคารที่ผิดปกติ ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกจับกุมและถูกสอบสวนในวันเดียวกัน ซึ่งผู้ต้องหาที่ 2 ให้การปฏิเสธ ประกอบกับนาย ช. ได้ดูภาพถ่ายของผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว ให้การเพียงว่าคล้ายคลึงกับนาย ท. ที่ติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนอย่างมาก
             คดีนี้จึงไม่มีพยานแวดล้อมเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นการกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้งสองตามคำให้การของนาย ช. พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

พยานเดี่ยวมีน้ำหนักน้อย

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๙๔๗/๒๕๕๔
ป.วิ.อ. การรับฟังพยาน  พยานเบิกความขัดกันเอง (มาตรา ๒๒๗)
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๑๕ , ๖๖)
               เจ้าพนักงานตํารวจจับกุมจําเลยและยึดเมทแอมเฟตามีน จํานวน ๑๐๐ เม็ด โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๑ เครื่อง เป็นของกลาง ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยนําสืบต่อสู้ว่าถูกกลั่นแกล้งและไม่มีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยอย่างที่พยานโจทก์กล่าวอ้าง การที่จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพราะถูกทำร้าย
              ร้อยตํารวจเอก ก. กับดาบตํารวจ อ. เป็นประจักษ์พยานรู้เห็นการจับกุมจำเลยในคดีล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจําเลยด้วยกัน ร้อยตํารวจเอก ก. เบิกความว่า เมื่อจับกุมจำเลยได้แล้วผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานได้ขึ้นไปตรวจค้นห้องพักของจําเลยไม่พบเมทแอมเฟตามีน แต่ดาบตำรวจ อ. กลับเบิกความว่า พยานพร้อมกับจําเลยได้ขึ้นไปตรวจค้นห้องพักของจําเลยพบเศษเมทแอมเฟตามีนอยู่ในห้องมากพอสมควร พยานได้ยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวส่งให้แก่ร้อยตํารวจเอก ก.
              พยานทั้งสองปากเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจที่ทําหน้าที่สืบสวนจับกุมความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ น่าจะต้องรู้ดีว่าเมทแอมเฟตามีนที่พบเป็นพยานหลักฐานอันสําคัญที่จะพิสูจน์การกระทําความผิดของจำเลย ไม่น่าที่ร้อยตำรวจ ก. จะไม่ใส่ใจจนถึงกับจําไม่ได้ และเบิกความว่าไม่มีสิ่งของผิดกฎหมายในห้องพักของจำเลย คำเบิกความของพยานสองปากขัดกันในสาระสําคัญ
              การล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนคดีนี้ นัดส่งมอบกันบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งอยู่นอกเขตรับผิดชอบของสถานีตํารวจที่ร้อยตํารวจเอก ก. สังกัดอยู่ การออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตรับผิดชอบต้องกระทําด้วยความระมัดระวังและต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานตํารวจเจ้าของพื้นที่ทราบเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติการต้องบันทึกการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้เป็นหลักฐานเพื่อให้ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของตนไว้ในบันทึกประจําวันของส่วนราชการของตนด้วย แต่ร้อยตํารวจเอก ก. กลับกระทำโดยไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ไม่มีการแจ้งให้เจ้าพนักงานตํารวจเจ้าของพื้นที่ทราบเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและเกิดเหตุขัดแย้งกันขึ้นได้ โดยอ้างว่าเป็นสายลับให้ตํารวจเจ้าของพื้นที่เกรงว่าจะมีการช่วยเหลือกันทั้ง ๆ ที่ ร้อยตำรวจเอก ก. เบิกความว่า ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าจําเลยเคยเป็นสายลับ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงขัดแย้งกันเองและขัดต่อเหตุผลเป็นพิรุธมีเหตุอันควรสงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย และฟังไม่ได้ว่ามีการล่อซื้อได้เมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๔๒๘/๒๕๕๓
ป.วิ.อ. การรับฟังพยาน พยานเดี่ยว (มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง)
              เจ้าพนักงานตำรวจที่ไปร่วมจับกุมจำเลยตามบันทึกการจับกุม มีจำนวนถึง ๑๒ คน แต่มีสิบตำรวจตรี ส. ไปซุ่มดูการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเพียงคนเดียว โดยไม่มีเหตุผลว่า เหตุใดจึงมิให้เจ้าพนักงานตำรวจคนอื่น ได้รู้เห็นเหตุการณ์ในฐานะประจักษ์พยานด้วย เมื่อสายลับซึ่งเป็นประจักษ์พยานอีกหนึ่งปาก โจทก์ก็ไม่ได้อ้างและนำสืบ ดังนี้ ย่อมเป็นการนำสืบพยานเดี่ยวในกรณีที่สามารถนำสืบพยานคู่ได้ ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสตรวจสอบด้วยการถามค้าน คำเบิกความของสิบตำรวจตรี ส. จึงมีน้ำหนักน้อย
              ส่วนการตรวจค้นบ้าน และพบเมทแอมเฟตามีน จำนวน ๑๐ เม็ด กับธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อจำนวน ๒๐๐ บาท ปรากฏจากคำเบิกความว่ามีเพียงสิบตำรวจตรี ว. และสิบตำรวจตรี ช. เพียงสองคน แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสิบตำรวจตรี ช. มาเป็นพยาน ซึ่งเป็นการนำสืบพยานเดี่ยวในกรณีที่สามารถนำสืบพยานคู่ได้ ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสตรวจสอบด้วยการถามค้านเช่นกัน คำเบิกความของสิบตำรวจตรี ว. จึงมีน้ำหนักน้อย
              ก่อนทำการตรวจค้น จำเลยได้ขอให้นาย ย. ผู้ใหญ่บ้านมาเป็นพยาน แต่เจ้าพนักงานตำรวจกลับทำการตรวจค้นไปก่อน ขณะที่ภริยาของจำเลยไปตามนาย ย. จริง แม้ธนบัตรของกลาง ๒๐๐ บาท ที่ตรวจพบจะมีหมายเลขตรงกับสำเนาภาพถ่ายรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีก็ตาม แต่เนื่องจากเอกสารรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่อาจฟังได้สนิทใจว่า จะไม่มีการลงรายละเอียดในภายหลัง ดังนั้น การตรวจค้นและยึดเมทแอมเฟตามีนกับธนบัตร ๒๐๐ บาท ของกลาง ยังมีความน่าสงสัยอยู่ว่าจะเป็นของจำเลยหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์มีความน่าสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พยายามจำหน่ายยาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8646/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) , 212
ป.อ. มาตรา 80 , 91
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 , 67 , 100/1 , 102
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7
               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้จำหน่ายโดยการขายเมทแอมเฟตามีน จำนวน 20 เม็ด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 7,500 บาท จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด ยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวได้ก่อน
              ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายแล้วว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ แต่กระทำไปไม่ตลอดโดยยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับเพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ก่อน อันเป็นการบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
             จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 26 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.531 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วจำเลยแบ่งจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวรวม 3 ครั้ง คือจำหน่ายให้แก่สายลับ 3 เม็ด จำหน่ายให้แก่นาย ว. 3 เม็ด และจำหน่ายให้แก่สายลับ 20 เม็ด แต่ในครั้งหลังนี้ จำเลยยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ก่อน
            การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 26 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่แรกแล้ว 1 กรรม ต่อมาเมื่อจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวออกจำหน่ายรวม 3 ครั้ง ก็เป็นความผิดต่างกรรมอีก 3 กรรม แม้จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ 1 ครั้ง และพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ซึ่งอาจเป็นบุคคลคนเดียวกันดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวาระกันและมีเจตนาต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน
            โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง และความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีโทษทั้งจำคุกและปรับ การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยเพียงอย่างเดียวเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ทำนองขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว 5 ปี เป็นลงโทษจำคุก 6 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  847/2547
ป.อ. มาตรา 80
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15
             วันเกิดเหตุนาง บ. เป็นผู้ติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย และนัดให้จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่ทาวน์เฮ้าส์ที่เกิดเหตุ ต่อมา จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 900 เม็ด ของกลางไปยังสถานที่นัดหมายเพื่อส่งให้นาง บ. ตามที่ตกลงกันไว้ แต่ยังไม่ทันได้ส่งมอบ จำเลยก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ซึ่งจำเลยฎีกาทำนองว่า ไม่มีการซื้อขายเมทแอมเฟตามีน เพราะไม่มีการตกลงราคาและไม่มีการชำระเงิน ทั้งยังไม่มีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ซื้อ
             ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะถูกจับกุม จำเลยเพียงแต่นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปยังสถานที่นัดหมายเพื่อส่งให้นาง บ. ผู้ซื้อ โดยที่ยังมิได้ส่งมอบแต่อย่างใด การซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางระหว่างจำเลยกับนาง บ. จึงยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 900 เม็ด เท่านั้น
            เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เป็นภัยแก่ประชาชนและสังคมทั่วไป จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมากถึง 1,900 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 31.569 กรัม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ให้จำคุก 30 ปี ก่อนลดโทษนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
            อนึ่ง ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนความผิดฐานจำหน่ายแอมเฟตามีนนั้น ทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันและมิได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ส่วนกำหนดโทษนั้น เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยพยายามจำหน่ายไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด จึงเป็นความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง กรณีโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้าง และแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งกำหนดโทษในความผิดฐานนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คำสั่ง หน.คสช.ที่ 23/2558 (อำนาจทหาร)

               ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๕๘ เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙  ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นมา โดยมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกัน ระงับและปราบปรามการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นภัยอันร้ายแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศรวมถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมอบหมายอาจขอความร่วมมือจากข้าราชการทหาร โดยแจ้งความประสงค์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย เพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป ไปปฏิบัติการตามคำขอ โดยข้าราชการทหารที่ได้รับการแต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
              ๑.  ค้นสถานที่ โดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาล
                   -  มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้น เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่า มีบุคคลซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลบซ่อนอยู่ หรือ มีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
                   -  ประกอบกับกรณีดังกล่าวต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือ ทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
                   -  ในกรณีดังกล่าวถ้าเป็นการเข้าค้นในเวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตก ข้าราชการทหารผู้เป็นหัวหน้าในการเข้าค้น ต้องเป็นข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยเอก เรือเอก หรือเรืออากาศเอกขึ้นไป
             ๒.  ค้นบุคคล หรือยานพาหนะ
                   -  มีอำนาจค้นตัวบุคคล และยานพาหนะ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่า มียาเสพติด ซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
             ๓.  จับกุม    
                    -  ในกรณีที่พบบุคคลใด ๆ กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้เพื่อทำการสอบสวนเบื้องต้นได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน
                   -  เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าว หรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มิให้นับระยะเวลาควบคุมไม่เกิน ๓ วันนั้นรวมเข้าไปกับระยะเวลาการควบคุมของพนักงานสอบสวน)
             ๔.  ยึดหรืออายัด    
                  -  ยึดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                  -  ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
             ๕.  ค้น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                  -  ให้ข้าราชการทหารที่ได้รับการแต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการค้นดั่งที่กฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น
             ๖.  ทดสอบการเสพยาเสพติด  
                 -  ในกรณีที่จำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติด ให้ข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้งมีอำนาจสั่งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวรับการตรวจ หรือทดสอบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่
             ๗.  ขอให้บุคคลช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่
                   -  ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการทหารดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้ข้าราชการทหารดังกล่าวมีอำนาจขอให้บุคคลใดช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ และให้บุคคลนั้นมีอำนาจช่วยการปฏิบัติงานของข้าราชการทหารได้
             ๘.  เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
                   -  ในการปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ ให้ข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้ง เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และ เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             ๙.  ให้เจ้าพนักงานอื่นร่วมมือด้วย    
                   -  ให้เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมายดังกล่าวโดยเคร่งครัด และ
                 -  ให้เจ้าพนักงานดังกล่าว ดำเนินการร่วมกับข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้
                 -  ในกรณีที่เจ้าพนักงานดังกล่าว ขัดขืน หรือไม่ให้ความร่วมมือ จนก่อให้เกิดความเสียหายในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำความผิดวินัยร้ายแรง

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตัวการร่วม ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5068/2555
ป.อ. มาตรา 83, 84
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) , 66 วรรคสอง (เดิม)
            จำเลยกับพวก ว่าจ้างให้ ธ. นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่กรุงเทพฯ เห็นว่า การกระทำของจำเลยกับพวกที่มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก่อนที่จำเลยกับพวกจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ธ. นั้นเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยที่จำเลยกับพวกยังไม่ต้องส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ธ.  จำเลยกับพวกจึงเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง มิใช่เป็นผู้ก่อให้ ธ. กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด
             เนื่องจากความผิดฐานเป็นผู้ใช้ จะต้องยังไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยเพียงแต่โต้เถียงว่าจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีน จึงเห็นว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง (ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ในข้อสาระสำคัญ และทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6196/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225, 227/1
ป.อ. มาตรา 53, 78, 86
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม)
              แม้คำเบิกความของ อ. ที่กล่าวถึงการกระทำของจำเลย จะเป็นพยานซัดทอดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน
              จำเลยเป็นเพียงคนกลางติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์ในส่วนการกระทำของจำเลยไปแล้ว หลังจากนั้นเมทแอมเฟตามีนย่อมตกเป็นของ อ. เพียงลำพัง โดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าของและร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย จำเลยไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน หากแต่การที่จำเลยติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ อ. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86
              แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาฎีกาที่ 9929/2553
               จำเลยไปหา ช. ที่บ้าน ว่าจ้างให้ขนแมทแอมเฟตามีนจากจังหวัดเชียงใหม่ มาส่งยังจังหวัดพังงา  หลังจากนั้นจำเลยขับรถยนต์พา ช. เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และพักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งจำเลยติดต่อซื้อแมทแอมเฟตามีนได้แล้ว จึงให้ ช. ขนไปจังหวัดพังงา และมอบเงินธนบัตร 500 บาท 3 ฉบับ เป็นค่าโดยสารและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนจำเลยขับรถยนต์กลับไปตามลำพัง
               เมื่อ ช.  เดินทางมาถึงจุดตรวจของ สภ.สบปราบ จว.ลำปาง เจ้าพนักงานตรวจเรียกให้รถโดยสารที่ ช. นั่งมาหยุดเพื่อตรวจค้น และค้นพบเมทแอมเฟตามีน จำนวน 17 ถุง ในกระเป๋าเดินทางของ ช. และยังพบธนบัตร 500 บาท 2 ฉบับ และกระดาษจดหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยกับตั๋วโดยสารอยู่ด้วย อันเป็นการที่จำเลยว่าจ้าง ช. ให้ขนแมทแอมเฟตามีนไปยังที่นัดหมาย
              การกระทำของจำเลยเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด จึงเป็นผู้ใช้ในการกระทำความผิด มิใช่ตัวการร่วมกับ  ช. แต่ถือได้ว่าจำเลยให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ช. ก่อนหรือขณะกระทำความผิด อันฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เนื่องจากเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192  วรรคสอง  ศาลจึงลงโทษจำเลยในฐานะเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86  ได้

เจ้าพนักงานกระทำผิดต้องระวางโทษเป็นสามเท่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 212
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10
              จำเลยเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 27 และ 28 ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ของจำเลย จึงเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10
              เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยสามเท่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 นั้นไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงชอบที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ กรณีไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2549
ป.อ. มาตรา 86
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)
               ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดและลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปีนั้น ยังไม่ถูกต้อง  เพราะตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 และมาตรา 10 ระวางโทษหนักขึ้นเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งหมายความถึงการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พ.รบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
             "มาตรา 100  กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการหรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534
            "มาตรา 10  กรรมการหรืออนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาลหรือสภาท้องถิ่นอื่น ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ใด กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกระทำความผิดตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"
            "มาตรา 42  ผู้ใดยักย้าย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ หรือรับไว้โดยมิชอบด้วยประการใดซึ่งทรัพย์สินที่มีคำสั่งยึดหรืออายัดหรือที่ตนรู้ว่าจะถูกยึดหรืออายัดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๗

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗

               เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ  ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๗  แต่ระเบียบนี้ยังขาดสาระสำคัญหลายประการประกอบกับมีกฎหมายใหม่ และมียาเสพติดที่ถูกควบคุมเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการตรวจพิสูจน์และการเก็บรักษาของกลางยาเสพติด
               เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้การดำเนินการเกี่ยวกับยาเสพติดของกลาง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
                ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๗"
                ข้อ ๒  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                ข้อ ๓  ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจับ  ยึด และตรวจพิสูจน์ยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๒๗
                ข้อ ๔  ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
                ข้อ ๕  ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รักษาการตามระเบียบนี้
                ข้อ ๖  ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เสนอเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นผู้วินิจฉัย

หมวด ๑  บททั่วไป
                 ข้อ ๗  ในระเบียบนี้
                   "เจ้าพนักงาน"  หมายความว่า พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร กรรมการเลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
                   "พนักงานสอบสวน"  หมายความว่า พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                   "ยาเสพติด"  หมายความว่า ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เว้นแต่ยาเสพติดให้โทษประเภท ๓ และให้หมายความรวมถึงวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหยที่ถูกจับหรือยึดได้และสิ่งที่สงสัยว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์หรือสารระเหยดังกล่าวด้วย
                   "สถานตรวจพิสูจน์"  หมายความว่า สถานตรวจพิสูจน์ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                   "ผู้ตรวจพิสูจน์"  หมายความว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานตรวจพิสูจน์ที่มีความรู้ความสามารถทำการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดและสามารถรายงานผลการตรวจพิสูจน์ได้
                   "การตรวจพิสูจน์"  หมายความว่า การตรวจเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นยาเสพติดหรือไม่ ชนิดประเภทใด ตลอดจนการตรวจหาความบริสุทธิ์ และปริมาณของสารเสพติดด้วย

หมวด ๒  การส่งยาเสพติดให้พนักงานสอบสวน
                 ข้อ ๘  เมื่อเจ้าพนักงานจับหรือยึดยาเสพติดได้ ไม่ว่าจะมีตัวผู้ต้องหาหรือไม่ ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดทำการตรวจสอบจำนวน ปริมาณและน้ำหนัก และบรรจุยาเสพติดนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อยแข็งแรง ปลอดภัยเท่าที่จะกระทำได้ แล้วให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดจัดทำบันทึกการจับกุมหรือการยึดพร้อมทั้งรายละเอียดตามสมควรไว้เป็นหลักฐาน
                 ข้อ ๙  ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดรีบนำยาเสพติดพร้อมตัวผู้ต้องหา ถ้ามี ส่งพนักงานสอบสวนโดยเร็ว
                 ข้อ ๑๐  ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ตรวจสอบยาเสพติดของกลางต่อหน้าผู้ต้องหาและเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดแล้วแต่กรณี และให้ปฏิบัติดังนี้
                   (๑)  ยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ วัตถุออกฤทธิ์หรือสารระเหย ให้บรรจุยาเสพติดทั้งหมดนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อย แข็งแรง ปลอดภัย แล้วลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึด ผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวนในแบบฉลากที่ปิดภาชนะนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
                   (๒)  ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕
                          (ก)  ถ้ามีน้ำหนักไม่ถึงสิบกิโลกรัม ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับ (๑)
                          (ข)  ถ้ามีน้ำหนักตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป ให้บรรจุยาเสพติดทั้งหมดนั้นลงในภาชนะที่เรียบร้อย แข็งแรง ปลอดภัยเท่าที่จะกระทำได้ แล้วลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึด ผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวน ในแบบฉลากที่ปิดภาชนะนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐานแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยเพื่อปฏิบัติตามข้อ ๑๒
                   ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ยึดและพนักงานสอบสวนร่วมกันบันทึกและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
                   การปิดฉลากที่ภาชนะบรรจุยาเสพติด ให้ปิดทับภาชนะในลักษณะที่หากจะมีการเปิดภาชนะดังกล่าวแล้ว จะต้องทำให้ฉลากที่ปิดภาชนะฉีดขาดหรือไม่อยู่ในสภาพที่ปิดอยู่ตามปกติ และแบบฉลากที่ใช้ปิดภาชนะยาเสพติด ให้ทำตามแบบ ป.ป.ส. ๖-๓๑ ท้ายระเบียบนี้

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

แนวทางประสานงาน กรณีของกลางตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ

ส่วนที่ ๖
การดําเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิด
เกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔

               ข้อ ๑๙  ในกรณีที่พนักงานอัยการไม่ขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลางในคดียาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๓๐ และตามกฎหมายอื่น โดยเห็นสมควรให้พนักงานสอบสวนจัดการของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕
                หากพนักงานอัยการ เห็นว่า ทรัพย์สินของกลางอาจเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก ให้พนักงานอัยการมีหนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนประสานไปยังสํานักงาน ป.ป.ส. เพื่อเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของกลางดังกล่าวตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๙ ก่อนที่จะคืนของกลางให้แก่เจ้าของ โดยส่งสําเนาหนังสือให้สํานักงาน ป.ป.ส. ทราบด้วย
                เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการดังกล่าวแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งรายละเอียด เกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางไปยังเลขาธิการ ป.ป.ส. เพื่อดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน
                กรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. มีคําสั่งให้มีการตรวจสอบ และสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของกลาง ให้พนักงานสอบสวนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้มีอํานาจดําเนินการรับมอบและส่งมอบทรัพย์สินของกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคําสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของกลาง
                 หากพนักงานสอบสวนไม่ได้รับคําสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของกลางจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สํานักงาน ป.ป.ส. ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ วรรคท้าย

                 ข้อ ๒๐  เมื่อศาลรับคําร้องขอให้ริบทรัพย์สินของพนักงานอัยการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๗ แล้ว ให้พนักงานอัยการมีหนังสือแจ้งเลขาธิการ ป.ป.ส. เพื่อดําเนินการตามมาตรา ๒๘ โดยเร็ว พร้อมทั้งแจ้งกําหนดวันนัดไต่สวนด้วย
                 ให้สํานักงาน ป.ป.ส. ดําเนินการแจ้งสิทธิให้ผู้เป็นเจ้าของหรือมีหลักฐานเป็นเจ้าของให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และส่งหลักฐานการดําเนินการแจ้งสิทธิให้พนักงานอัยการภายในกําหนดเวลานัดไต่สวน
                 ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการแจ้งสิทธิได้ทันวันนัดไต่สวนของศาล ให้สํานักงาน ป.ป.ส. มีหนังสือแจ้งพนักงานอัยการทราบก่อนวันนัดไต่สวนของศาล เพื่อพนักงานอัยการจะได้แจ้งให้ศาล และพยานทราบเหตุดังกล่าว
                  ก่อนถึงวันนัดไต่สวน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล ประสานไปยังพนักงานอัยการเพื่อยืนยันการเป็นพยานศาล พร้อมทั้งตรวจสอบว่า ได้มีการดําเนินการแจ้งสิทธิ ตามมาตรา ๒๘ เรียบร้อยแล้วหรือไม่ หากยังไม่เสร็จเรียบร้อยให้รีบดําเนินการให้เรียบร้อยก่อนวันนัดไต่สวน

               ข้อ ๒๑  ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจผู้เป็นหัวหน้าในการสืบสวน หรือหัวหน้าพนักงานสอบสวน พิจารณาเห็นว่าจําเป็นต้องดําเนินคดีต่อผู้กระทําความผิดในฐาน สนับสนุน ช่วยเหลือหรือสมคบกันกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้รีบดําเนินการรวบรวม ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ดังกล่าว แล้วประสานงานกับสํานักงาน ป.ป.ส. เพื่อเสนอขออนุมัติจับกุมหรือแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทําความผิดจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ตามหลักเกณฑ์วิธีการและขั้นตอนที่กําหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔

(ข้อกฎหมาย.- พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔
               มาตรา ๑๙  ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหารายใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้น ฯลฯ
               มาตรา ๒๗  เมื่อพนักงานอัยการมีคําสั่งฟ้อง และทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคําสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา ๒๒ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น โดยจะยื่นคําร้องไปพร้อมกับคําฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ก่อนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาก็ได้ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าไม่สามารถยื่นคําร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา จะยื่นคําร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาก็ได้ เว้นแต่มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ฯลฯ
               มาตรา ๒๘  เมื่อศาลสั่งรับคําร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๒๗ แล้ว ให้ศาลสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจําหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกัน เพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคําร้องขอเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด ในกรณีที่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ใดอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ก็ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบเพื่อใช้สิทธิดังกล่าวด้วย โดยแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏหลักฐานในสํานวนการสอบสวน ฯลฯ
               มาตรา ๓๐  บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่ก็ตาม ฯลฯ)

(ข้อพิจารณา.- ถ้าหากพนักงานสอบสวนเห็นว่า คดีมีแนวโน้มว่าศาลจะพิพากษายกคำขอให้สั่งริบของกลาง ก็ให้พนักงานสอบสวนประสานไปยัง สํานักงาน ป.ป.ส. เพื่อเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของกลางนั้น ควบคู่กันไปได้ในทันที)

บทกฎหมายกรณีเสพและเป็นผู้ขับขี่

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒

             "มาตรา ๕๗  ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๕"

             "มาตรา ๙๑  ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒

             "มาตรา ๔๓ ทวิ  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
              ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการมีอํานาจจัดให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่รถบางประเภทตามที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าได้เสพยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามวรรคหนึ่งหรือไม่ และหากผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าผู้ขับขี่นั้นไม่ได้เสพก็ให้ผู้ขับขี่นั้นขับรถต่อไปได้
              ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ตรวจสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการมีอํานาจกักตัวผู้นั้นไว้เพื่อดําเนินการตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จําเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การตรวจสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็วและเมื่อผู้นั้นยอมรับการตรวจสอบแล้ว หากผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าไม่ได้เสพ ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
              การตรวจสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง"

              "มาตรา ๑๕๗/๑  ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการที่ให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา ๔๓ ทวิ หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ตรวจการที่ให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา ๔๓ ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท          
               ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อีกหนึ่งในสาม และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกําหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกําหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกําหนดไม่น้อยกว่าสองปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่"

(ข้อพิจารณา.-  ความผิดฐาน "เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ และเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ โดยผิดกฎหมาย" นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๗, ๙๑  พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗/๑ วรรคสอง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗/๑ วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๙๑  ซึ่งเป็นบทหนักสุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ (โดยทั่วไปถ้าหากไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาอื่นที่จะต้องเพิ่มโทษมาก่อนแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ๘ เดือน ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท ถ้ารับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘  คงจำคุก ๔ เดือน ปรับ ๑๐,๐๐๐  บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด ๒ ปี ให้คุมประพฤติ ๑ ปี และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกประเภท และพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด ๖ เดือน)

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การค้นตามลำพัง ไม่ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7354/2555
ป.วิ.อ. การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน (มาตรา 227 วรรคสอง)
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
              โจทก์ มี สิบตำรวจโท อ. สิบตำรวจโท ส. และ สิบตำรวจโท ป. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงรายงานผู้บังคับบัญชา วันเกิดเหตุ ผู้บังคับบัญชาไปขอหมายค้นจากศาลชั้นต้น แล้วร่วมกันวางแผนจับกุมโดยนำธนบัตรของกลางไปถ่ายสำเนาและลงรายงานประจำวันธุรการไว้ แล้วให้สายลับนำธนบัตรดังกล่าวไปติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด จากจำเลยในราคาเม็ดละ 60 บาท โดยพยานโจทก์ทั้งสามกับพวกซุ่มดูอยู่ห่างจากบ้านจำเลยประมาณ 30 เมตร เมื่อสายลับขับรถจักรยานยนต์เข้าไปพบจำเลยที่บ้านจำเลย แล้วสายลับส่งธนบัตรให้จำเลย ส่วนจำเลยเดินเข้าไปที่ห้องน้ำซึ่งอยู่ห่างจากตัวบ้านชั้นล่างประมาณ 1 ถึง 2 เมตร จากนั้นกลับออกมานำสิ่งของไปส่งมอบให้สายลับ สายลับขับรถจักรยานยนต์กลับออกมามอบเมทแอมเฟตามีน ๓ เม็ด ให้แก่พยานโจทก์ทั้งสามที่จุดซุ่มดังกล่าว พยานโจทก์ทั้งสามกับพวกจึงขับรถยนต์กระบะเข้าไปที่บ้านจำเลย โดยแสดงหมายค้นแล้วให้จำเลยล้วงสิ่งของออกจากตัวจำเลยพบธนบัตรของกลาง ส่วนสิบตำรวจโท ป. ไปตรวจค้นบริเวณหน้าห้องน้ำ พบเมทแอมเฟตามีนอีก 24 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสขนาดเล็กอยู่ในกองเสื้อผ้า
              เห็นว่า การค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 24 เม็ดนั้น โจทก์มีเพียงสิบตำรวจโท ป. ไปตรวจค้นที่บริเวณหน้าห้องน้ำซึ่งอยู่ด้านหลังบ้านจำเลยและพบของกลางดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่มีบุคคลอื่นรู้เห็นในขณะตรวจค้นด้วย อีกทั้ง ไม่มีการทำบันทึกการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเป็นหลักฐาน พยานโจทก์เช่น สิบตำรวจโท อ. และสิบตำรวจโท ป. ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า บ้านจำเลยไม่มีรั้ว ดังนั้น บุคคลทั่วไปย่อมสามารถผ่านเข้าออกได้โดยง่าย ขณะเกิดเหตุ ก็มีผู้อื่นนั่งอยู่ในบ้านจำนวนหลายคน แม้จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม แต่ก็ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน
             พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน ๒๔ เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

คดีสอบสวนขยายผลจากผู้เสพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3476/2555
ป.วิ.อ. คำซัดทอด (มาตรา 227/1)
                โจทก์มี จ. เป็นพยานเบิกความว่า พยานรู้จักจำเลยมาตั้งแต่จำความได้ จำเลยเป็นญาติห่าง ๆ ของพยาน บ้านจำเลยกับบ้านพยานอยู่ใกล้กัน เมื่อปี 2547 พยานถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด แจ้งข้อหาว่าเสพเมทแอมเฟตามีน พยานให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยในราคาเม็ดละ 100 บาท 
                พันตำรวจโท อ. พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2550 จ่าสิบตำรวจ ส. กับพวกจับกุมตัวจำเลยได้ตามหมายจับนำตัวมามอบให้พยานดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาดังกล่าว จำเลยให้การปฏิเสธ พยานได้จัดให้ จ. ชี้ตัวจำเลย จ. ชี้ตัวจำเลยยืนยันว่าเป็นคนขายเมทแอมเฟตามีนให้ตนเอง 
                 เห็นว่า หลังจากถูกจับกุม จ. ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนซัดทอดว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยในราคาเม็ดละ 100 บาท โดยบอกถึงวิธีการซื้อขายต้องทำอย่างไร จุดตำแหน่งที่ซื้อขายอยู่ตรงไหนทั้งได้พาพนักงานสอบสวนไปดูจุดตำแหน่งที่ซื้อขาย โดยแสดงท่าประกอบตรงที่โยนเงินและโยนเมทแอมเฟตามีนให้แก่กัน ทั้งยืนยันชี้รูปภาพจำเลย และสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งหากไม่รู้เห็นจริงยากที่จะบอกรายละเอียดและชี้จุดตำแหน่งแสดงท่าทางดังกล่าวได้ จ. ให้การและนำพนักงานสอบสวนไปชี้และแสดงวิธีการซื้อขายดังกล่าวหลังจากถูกจับกุมเพียงวันเดียวโอกาสคิดปั้นแต่งยังมีน้อย และที่สำคัญหลังจากนั้นมาประมาณ 3 ปี เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ จัดให้มีการชี้ตัว จ. ก็ยังยืนยันตัวจำเลยอยู่อีก แสดงถึงความมั่นคงในสิ่งที่ตนเองให้การไว้ก่อนนี้ เมื่อพิจารณาถึงเมทแอมเฟตามีนของกลางที่มีจำนวนเล็กน้อย ประกอบกับ จ. และจำเลยเองก็รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กเป็นญาติและบ้านอยู่ใกล้กัน หากไม่จริงเชื่อว่าคงไม่กล้าให้การใส่ร้ายจำเลยเป็นแน่ เชื่อว่า จ. ให้การต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าวตามความจริง แม้ในชั้นพิจารณา จ. จะมาเป็นพยานโจทก์โดยเบิกความต่างไปจากที่ให้การดังกล่าวไว้ก็เพียงเพื่อทำลายน้ำหนักคำซัดทอด ที่ต้องช่วยเหลือจำเลยไม่ให้ต้องรับโทษ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง คำให้การชั้นสอบสวนมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่า
                แม้คำให้การชั้นสอบสวนเป็นคำซัดทอด แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดเสียทีเดียว เพียงแต่ให้รับฟังด้วยความระมัดระวัง เมื่อพิจารณาแล้วรูปคดีมีพฤติการณ์พิเศษ ทั้งคำซัดทอดดังกล่าวไม่ได้ทำให้ตนเองพ้นผิด จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟัง นอกจากนี้ยังมีพยานประกอบอื่นที่มิใช่เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำซัดทอดสนับสนุนอีก กล่าวคือ มี ป. ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่จำเลยอยู่ในช่วงที่เกิดเหตุ กับดาบตำรวจ ร. เจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ใจ ท้องที่เกิดเหตุ เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า จำเลยมีพฤติการณ์ลักลอบขายเมทแอมเฟตามีนในพื้นที่ โดยเฉพาะดาบตำรวจ ร. ได้ติดตามพฤติกรรมจำเลยและทำรายงานไว้ จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านหรือถามค้านพยานทั้งสองปากนี้ให้เห็นชัดว่าไม่จริงอย่างไร ทั้งที่เบิกความให้ตนเองเสียหาย ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลย เชื่อว่าเบิกความตามจริง 
                เมื่อเกิดเหตุแล้วมีการออกหมายจับจำเลยวันที่ 23 มิถุนายน 2548 จนถึงวันจับกุมจำเลยได้ตามหมายจับ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550 จำเลยนำสืบว่าไปทำงานเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพิ่งกลับมาจังหวัดพะเยาเมื่อต้นปี 2549 แสดงว่าเมื่อเกิดเหตุคดีนี้จำเลยไม่ได้อยู่บ้านที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา น่าเชื่อว่าจำเลยหลบหนีหลังจาก จ. ถูกจับกุมเมื่อรับฟังประกอบกับคำให้การของ จ. ชั้นสอบสวนแล้วมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง 

(หมายเหตุ :- คดีนี้ผู้บันทึกเป็นพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนด้วยตนเองมาตั้งแต่ต้น) 

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๒

 
 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
พ.ศ. 2542
-------------------------------
                    โดยที่ปรากฏว่า ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น อันเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาลไม่บรรลุวัตถุประสงค์ จำเป็นต้องกำหนดมาตรการวางแนวทางการปฏิบัติตนขั้นต้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมิให้เข้าไปช่วยเหลือ หรือรับความช่วยเหลือ หรือคบค้าสมาคม กับบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อันจะเป็นวิธีการป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
                    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
                        ข้อ 1  ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ 2542"
                        ข้อ 2  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                        ข้อ 3  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
                        ข้อ 4  ในระเบียบนี้
                                  "ยาเสพติด" หมายความว่า ยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
                                  "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
                                  "กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
                                  "เกี่ยวข้องกับยาเสพติด" หมายความว่า พฤติการณ์ซึ่งพิจารณาจากข้อมูล หรือข่าวสารหรือพยานหลักฐานใด ๆ แล้วมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดอันเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
                                  "ป.ป.ส." หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
                                  "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลหรือข่าวสารการกระทำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดประจำกรุงเทพมหานครหรือประจำภาคต่าง ๆ แล้วแต่กรณี
                                  "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของราชการส่วนกลางราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น และให้หมายความความถึงเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐด้วย